รัฐ-เอกชนลุยลด 392 ขั้นตอน อุปสรรคทำธุรกิจ ช่วยประหยัด 7 พันล้านบาท/ปี
หอการค้าไทยมอบรางวัล "สำเภา-นาวาทอง" ปีที่ 3 เชิดชูหน่วยงานภาครัฐที่ลดอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ เผยรัฐ-เอกชนร่วมลดอุปสรรคการทำธุรกิจ นำร่องแล้ว 10 แห่งเชื่อมโยงข้อมูล ไม่เรียกเอกสาร ไม่เซ็นสำเนาลดขั้นตอน 392 กระบวนงาน ประหยัดกว่า 7,000 ล้านบาทต่อปี ทำให้ไทยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันปี 2567 อยู่ที่อันดับที่ 25
วันที่ 19 สิงหาคม 2567 ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวระหว่างการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ประสิทธิภาพของหน่วยงานภาครัฐ กับการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน ในงานพิธีมอบรางวัล “สำเภานาวาทอง” ประจำปี 2567 รางวัลเกียรติยศ ที่ภาคเอกชนมอบให้หน่วยงานภาครัฐ ว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา
ที่ผ่านมาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงบัญญัติไว้ว่า เรากำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งถ้าเราปรับตัวไม่ทันจะโดน Disruption
พร้อมทรงเน้นย้ำ 3 ประการ เพื่อเตรียมรับมือคือ 1) รู้เท่าทันโลกาภิวัตน์ 2) การเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน 3) การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วฉับพลันในทุกด้าน ดังนั้น ภาครัฐและเอกชนต้องเดินหน้าไปพร้อม ๆ กัน เพื่อให้ประเทศขับเคลื่อนได้อย่างมีทิศทางต่อไป
“เราปรับได้ทันการเปลี่ยนแปลงก็ก้าวไปข้างหน้า และถ้าเราไม่ปรับตัว แม้ข้าราชการก็มีโอกาสถูก Disruption ได้เช่นกัน และตอนนี้เอกชนนำและเดินหน้าไปไกล แข็งแรงแล้ว จำเป็นที่เราต้องเดินหน้าพร้อมกันเพื่อสร้างการแข็งขันธุรกิจไทย”
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการ กล่าวว่า หอการค้าไทยผลักดันประสิทธิภาพการให้บริการ ร่วมกับ ก.พ.ร. และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ผนึกกำลังหน่วยงานรัฐ นำร่อง 10 แห่งเชื่อมโยงข้อมูล ไม่เรียกเอกสาร ไม่เซ็นสำเนาลดขั้นตอน 392 กระบวนงาน ประหยัดกว่า 7,000 ล้านบาทต่อปี
ผลของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ส่วนหนึ่งสะท้อนได้จากดัชนีความสามารถในการแข่งขันโลก (IMD World Competitiveness Ranking) ประจำปี 2567 ระบุว่าประเทศไทยสามารถยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันขึ้นมา 5 อันดับ มาอยู่ที่อันดับที่ 25 จากทั้งหมด 67 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก
ซึ่งหน่วยงานที่ได้รับรางวัลในวันนี้ถือเป็นต้นแบบในการพัฒนา และปรับปรุงกระบวนการทำงาน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ภาคธุรกิจและประชาชนได้ดียิ่งขึ้น
ด้านนายสุรงค์ บูลกุล ประธานคณะกรรมการสนับสนุนการลงทุนและอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจกล่าวว่า รางวัลสำเภา-นาวาทอง ได้มีการคัดเลือกหน่วยงานที่มีความโดดเด่นในการปรับปรุงกระบวนงานและลดอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจอย่างเห็นผล เป็นการสร้างความร่วมมือและเป็นกระบวนการในการแก้ไขและปรับปรุงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเชิดชูเกียรติและประชาสัมพันธ์หน่วยงานที่ได้รับรางวัล โดยมี 39 หน่วยงานภาครัฐ ได้รับรางวัลสำเภา-นาวาทอง และ 18 หน่วยงานภาครัฐได้รับใบประกาศเกียรติคุณ
หน่วยงานที่ได้รับรางวัล :
ทั้งนี้ หน่วยงานที่ได้รับรางวัลมีการประเมินผ่าน 3 มิติสำคัญ ได้แก่ 1) ประสิทธิภาพของการบวนการ 2) การเปลี่ยนถ่ายการทำงานไปสู่ระบบดิจิทัล หรือ Digital Transformation และ 3) การวัดผลสัมฤทธิ์ โดยปี 2567 แบ่งรางวัลออกเป็น 4 ประเภท และมีหน่วยงานที่ได้รับการพิจารณา ได้แก่
1)รางวัลหน่วยงานระดับกระทรวง จำนวน 5 หน่วยงาน ได้แก่
-กระทรวงแรงงาน
-กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
-กระทรวงพาณิชย์
-กระทรวงมหาดไทย
-กระทรวงการคลัง
2)รางวัลหน่วยงานระดับกรม จำนวน 14 หน่วยงาน ได้แก่
-กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม
-กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย
-กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
-ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง
-สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
-สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักนายกรัฐมนตรี
-สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
-สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน
-กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
-กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์
-กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน
-กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง
-กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง
-สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
3)รางวัลหน่วยงานระดับกระบวนงานจำนวน 6 หน่วยงาน ได้แก่
-สำนักบริการการค้าต่างประเทศ กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์
-ศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs (FA center) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม กระทรวงการคลัง
-กองเครื่องหมายการค้า กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์
-กองตรวจสอบเรือประมง สินค้าสัตว์น้ำ และปัจจัยการผลิต กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
-ศูนย์ปฏิบัติการและมาตรฐาน สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กระทรวงอุตสาหกรรม
-สำนักส่งเสริมการค้าสินค้าไลฟ์สไตล์ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์
4)รางวัลหน่วยงานระดับภูมิภาค จำนวน 14 หน่วยงาน ได้แก่
-สำนักงานจังหวัดสงขลา กระทรวงมหาดไทย
-สำนักงานพาณิชย์จังหวัดกระบี่ กระทรวงพาณิชย์
-สำนักงานประกันสังคมจังหวัดลพบุรี กระทรวงแรงงาน
-สำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครปฐม กระทรวงพาณิชย์
-สำนักงานพาณิชย์จังหวัดปทุมธานี กระทรวงพาณิชย์
-สำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงราย กระทรวงพาณิชย์
-สำนักงานพาณิชย์จังหวัดตาก กระทรวงพาณิชย์
-สำนักงานพาณิชย์จังหวัดลำพูน กระทรวงพาณิชย์
-การประปาส่วนภูมิภาคสาขาอุดรธานี (ชั้นพิเศษ) กระทรวงมหาดไทย
-สำนักงานพาณิชย์จังหวัดกาฬสินธุ์ กระทรวงพาณิชย์
-สำนักงานพาณิชย์จังหวัดอุดรธานี กระทรวงพาณิชย์
-สำนักงานพาณิชย์จังหวัดบุรีรัมย์ กระทรวงพาณิชย์
-สำนักงานจังหวัดฉะเชิงเทรา กระทรวงมหาดไทย
-สำนักงานจังหวัดระยอง กระทรวงมหาดไทย
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 19 สิงหาคม 2567