ว่าด้วยเรื่องเศรษฐกิจนอกระบบไทย มันใหญ่มาก...เกินคาดคิด (1)
เมื่อพูดถึงเศรษฐกิจนอกระบบ (Shadow Economy) คำถามแรกที่เกิดขึ้นในใจทันทีก็คือ อะไรคือเศรษฐกิจนอกระบบ และเศรษฐกิจนอกระบบ มาเกี่ยวข้องอะไรกับระบบเศรษฐกิจของประเทศ
เมื่อมีการนำเอาเศรษฐกิจนอกระบบ มารวมไว้กับเศรษฐกิจที่เป็นทางการแล้วจะส่งผลดีหรือผลเสียอย่างไรต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ
จากข้อมูล Informal Economy Database ของธนาคารโลก ระบุว่าในปี 2021 ไทยมีเศรษฐกิจนอกระบบ สูงถึง 48.7% ของ GDP โดยสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่อยู่ที่ 32.7% และสูงกว่าเกือบทุกประเทศในเอเชีย (เป็นรองแค่ประเทศเมียนมา) และถ้าเทียบกับ GDP ของไทยในปี 2021 ที่อยู่ที่ 18 ล้านล้านบาท เท่ากับว่าเราจะมีขนาดเศรษฐกิจนอกระบบที่ใหญ่ถึง 8 ล้านล้านบาท
ซึ่งหากเทียบกับประเทศอื่นในโลกแล้ว เศรษฐกิจนอกระบบประเทศไทย อยู่ประมาณ อันดับที่ 15 ของโลกจาก 158 ประเทศที่มีฐานข้อมูลของ World Bank นั่นก็หมายความว่า
ถ้านับรวมเศรษฐกิจนอกระบบ ประเทศไทย จะมีขนาดเศรษฐกิจที่สูงถึง 26 ล้านล้านบาททีเดียว! ซึ่งหากจัดอันดับรายชื่อประเทศเรียงตามจีดีพีโดยประมาณการ ปี 2021 ประเทศไทยจะเลื่อนจากอันดับที่ 30 ไปอยู่อันดับที่ 20 ของโลกอย่างสบายๆ เมื่อนับรวมนับรวมเศรษฐกิจนอกระบบ
นิยาม เศรษฐกิจนอกระบบ Shadow Economy :
เศรษฐกิจนอกระบบ หรือ Informal Economy/Shadow economy ตามคำนิยามขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) คือ กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไม่มีการบันทึกไว้ในระบบบัญชีประชาชาติ ซึ่งถือเป็นภาคเศรษฐกิจที่ไม่ถูกเรียกเก็บภาษีจากรัฐ และไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายเหมือนภาคเศรษฐกิจที่อยู่ในระบบ เช่น หาบเร่ แผงลอย ซื้อขายของเก่า ฯลฯ
ปัญหาที่ตามมาจากเศรษฐกิจนอกระบบ คือ รัฐเก็บภาษีได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมกับธุรกิจที่อยู่ในระบบ เสียภาษีถูกต้อง และในกรณีเป็นธุรกิจผิดกฎหมายก็อาจนำไปสู่ปัญหาการฟอกเงินและอาชญากรรมได้
จากเอกสาร “กรอบแนวคิดและบทบาทของเศรษฐกิจนอกระบบ” (ผาสุก พงษ์ไพจิตร, สังศิต พิริยะรังสรรค์ และนวลน้อย ตรีรัตน์) ระบุไว้ว่า โดยทั่วไป เศรษฐกิจนอกระบบมักจะหมายถึง ธุรกิจกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือทั้งหมดใน 5 กลุ่ม สำคัญ ๆ ดังนี้
(1)ธุรกิจผิดกฎหมาย หรือ ธุรกิจสีเทา เช่น การค้าของเถื่อน การค้ายาเสพติด การค้าสัตว์และพืชสงวนพันธุ์ การค้าประเวณี การลักลอบตัดไม้ทำลายป่า การพนัน การค้ามนุษย์ (การค้าแรงงาน การค้าเด็ก และการค้าผู้หญิงเป็นโสเภณี) การลักลอบค้าสื่อลามก การประกอบธุรกิจผิดกฎหมายผ่านอินเทอร์เน็ต (การทายผลกีฬา และการพนันอื่นๆ การค้าประเวณี)
(2)การหลีกเลี่ยงภาษีในรูปแบบต่างๆ โดย 10 กลวิธีในการเลี่ยงภาษีที่นิยมกระทำกันตลอดมาทั้งในส่วนของการเสียภาษีบุคคลและในรูปนิติบุคคลที่กรมสรรพากรได้สรุปให้ ประกอบด้วย
1)การตั้งตัวแทนเชิด 2)การตั้งคณะบุคคล 3)การทำให้บริษัทขาดทุน 4)การหลบยอดขายและยอดซื้อ 5)การซื้อใบกำกับภาษี 6)การหลีกเลี่ยงโดยผ่านระบบบัญชี 7)การตั้งบริษัทเพื่อเจตนาออกใบกำกับภาษีซื้อปลอม 8)การซื้อบิลจริง แต่ไม่มีการกระทำจริง 9)ธุรกิจพัฒนาที่ดินที่นิยมเลี่ยงภาษีกันมากส่วนใหญ่จะเป็นรายเล็ก รายกลาง และอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด จะกระทำโดยการแบ่งขายและประกาศขายที่ดินเปล่าเท่านั้น 10)ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ประเภทคอนโดมิเนียม ของนักพัฒนาที่ดินขนาดใหญ่ ที่ดำเนินการในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวหลายจังหวัด จะมีการประกาศขายห้องชุดเพียงบางส่วน และมีการเก็บห้องชุดอีกส่วนหนึ่งไว้เพื่อใช้ประกอบกิจการโรงแรม
(3)การคอร์รัปชันทั้งในภาครัฐบาลและภาคเอกชน ดัชนีการรับรู้การทุจริต พ.ศ.2564 CPI : Corruption Perception Index 2021 จัดอันดับ ประเทศไทยได้คะแนน 35 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน อันดับโลก อยู่อันดับที่ 110 จากทั้งหมด 180 ประเทศ อันดับในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อันดับที่ 15 จากทั้งหมด 29 ประเทศ ที่เข้าร่วมการประเมิน อันดับในภูมิภาคอาเซียน อันดับที่ 5 จากการจัดอันดับทั้งหมด 9 ประเทศ ที่เข้าร่วมการประเมิน
(4)เศรษฐกิจจากธุรกิจอาชีพอิสระ เป็นกิจกรรมที่มิได้ถูกนับรวมเข้าไว้อยู่ในสถิติของบัญชีรายได้ประชาชาติอย่างครบถ้วน ได้แก่ การทำธุรกิจในครัวเรือน การประกอบอาชีพส่วนตัว มอเตอร์ไซค์รับจ้าง กวดวิชารับจ้างสอนพิเศษ การทำงานหลังเวลางานปกติ หาบเร่ แผงลอย และเครดิตนอกระบบธนาคารตลอดจนการทำธุรกิจขนาดย่อม รวมทั้งธุรกิจพระเครื่อง เป็นต้น ส่วนเงินหรือรายได้ที่ได้รับมาจากการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่ไม่ผิดกฎหมาย แต่ในขณะเดียวกันรายได้ที่เกิดจากกิจกรรมต่างๆ เหล่านั้น กลับมิได้ถูกนำมานับรวมเข้าไว้อยู่ในสถิติของบัญชีรายได้ประชาชาติ
ฉบับหน้า มาต่อกันด้วย “ปัญหาที่เกิดจากการมีเศรษฐกิจนอกระบบ”
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 23 สิงหาคม 2567