คิดเห็นแชร์ : จากครัวโลกสู่ผู้นำ Future Food ก้าวต่อไปของอาหารไทย
ในปี 2566 อุตสาหกรรมอาหารของไทย สร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) กว่า 1.14 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 9.1 จากปีก่อนหน้า มีสัดส่วนร้อยละ 6.3 ของ GDP ประเทศไทย และมีสัดส่วนถึงร้อยละ 24.6 ของ GDP ภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 14 ของโลก โดยมีมูลค่าการส่งออก 43,589.06 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.52 ล้านล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 3.91 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.44 ของการส่งออกอาหารของทั้งโลก แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมอาหารต่อเศรษฐกิจไทย และบทบาทของไทยในการเป็นผู้ส่งออกอาหารรายสำคัญของโลกด้วยขีดความสามารถที่โดดเด่นและการพัฒนาที่ไม่หยุดนิ่ง
ในขณะที่อุตสาหกรรมอาหารเติบโตอย่างต่อเนื่อง ความท้าทายใหม่ๆ ก็เกิดขึ้นเช่นกัน ทั้งด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความมั่นคงทางอาหาร กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการค้า และความขัดแย้งทางการเมืองที่ส่งผลต่อราคาวัตถุดิบสินค้าอาหาร ผู้ประกอบการจึงต้องปรับตัวอยู่เสมอเพื่อก้าวข้ามความท้าทาย และตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
หนึ่งในก้าวใหม่ของวงการอาหารคือ “อาหารแห่งอนาคต” หรือ “Future Food” ที่เกิดขึ้นจากความใส่ใจต่อเรื่องสุขภาพและความปลอดภัย ความเข้าใจในปัญหาสิ่งแวดล้อม การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ในกระบวนการผลิตอาหาร และความต้องการความสะดวกสบายของผู้บริโภค แนวคิดนี้ตอบโจทย์การค้าของประเทศ ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพสูงที่จะเติบโตในตลาดนี้ โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2562-2566) การส่งออกอาหารแห่งอนาคตของไทย มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 15.02 ต่อปี
สมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย แบ่งกลุ่มอาหารแห่งอนาคตออกเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย
1)อาหารเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพและสารประกอบเชิงฟังก์ชั่น
2)อาหารทางการแพทย์และอาหารเฉพาะบุคคล
3)ผลิตภัณฑ์อินทรีย์และอาหารไม่ปรุงแต่ง
4)โปรตีนทางเลือก และในปี 2566 การส่งออกอาหารแห่งอนาคตมีมูลค่า 4,107.72 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 142,958.80 ล้านบาท)
โดยการส่งออกอาหารเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพฯ มีมูลค่ากว่า 3,684.50 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 128,248.02 ล้านบาท) คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 89.7 ของมูลค่า การส่งออกอาหารแห่งอนาคตทั้งหมด รองลงมา ได้แก่ อาหารทางการแพทย์และอาหารเฉพาะบุคคล 183.73 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 6,391.96 ล้านบาท) สัดส่วนร้อยละ 4.5 โปรตีนทางเลือก 182.81 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 6,351.10 ล้านบาท) สัดส่วนร้อยละ 4.5 และผลิตภัณฑ์อินทรีย์และอาหารไม่ปรุงแต่ง 56.68 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1,967.72 ล้านบาท) สัดส่วนร้อยละ 1.4 สำหรับตลาดส่งออกหลัก 5 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐ (สัดส่วนร้อยละ 13.81) เวียดนาม (สัดส่วนร้อยละ 10.71) จีน (สัดส่วนร้อยละ 10.31) เมียนมา (สัดส่วนร้อยละ 7.81) และกัมพูชา (สัดส่วนร้อยละ 7.53) ตามลำดับ
สำหรับปี 2567 ช่วง 5 เดือนแรก (มกราคม-พฤษภาคม) ข้อมูลจาก (Global Trade Atlas) ระบุว่า
ไทยส่งออกสินค้าอาหารแห่งอนาคต เป็นมูลค่า 1,846.14 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 66,654.09 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 9.69 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยส่งออกอาหารเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพและสารประกอบเชิงฟังก์ชั่นมากที่สุด 1,674.62 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 60,463.46 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 90.71 รองลงมา ได้แก่ อาหารทางการแพทย์และอาหารเฉพาะบุคคล 81.04 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 2,925.49 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 4.39 โปรตีนทางเลือก 71.84 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 2,591.32 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 3.90 และผลิตภัณฑ์อินทรีย์และอาหารไม่ปรุงแต่ง 18.63 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 673.82 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 1.01 ตามลำดับ
อาหารเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพและสารประกอบเชิงฟังก์ชั่น เป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนของมูลค่าการส่งออกสูงสุดในกลุ่มสินค้าอาหารแห่งอนาคต เป็นสินค้าที่มีศักยภาพและขยายตัวตามทิศทางความต้องการของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพร่างกาย รวมทั้งให้ความสำคัญกับสุขภาพทางใจและความมั่นคงทางอารมณ์ จึงทำให้มีความต้องการผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่ช่วยด้านการนอนหลับ คลายความเครียด และการมีสุขภาวะทางจิตที่ดี (Mental Wellbeing) เพิ่มขึ้น ขณะที่การเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่ให้คุณประโยชน์ด้านความต้องการขั้นพื้นฐานทางร่างกาย (Physical Need States) จะเน้นที่การเสริมสร้างภูมิต้านทานและระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย และการเพิ่มพลังงานให้กับร่างกาย (Energy Boosting) นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังมีแนวโน้มที่จะบริโภคเพื่อเสริมความงามและปรับปรุงแก้ไขจุดด้อยด้านรูปลักษณ์มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม อาหารแห่งอนาคตของไทยยังเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน ทั้งด้านภาษีนำเข้าที่สูงจากประเทศคู่ค้า เช่น สหภาพยุโรป กฎระเบียบของประเทศคู่ค้าที่มีความแตกต่างกัน มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่จะทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น และมียังความท้าทายจากการพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ รวมทั้งการนำเข้าสารสำคัญเชิงหน้าที่ (Functional Ingredients)
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาด้านเงินทุนทั้งสำหรับการวิจัยและพัฒนา การตรวจสอบมาตรฐานสินค้า และการทำการตลาดของผู้ประกอบการสินค้าอาหารแห่งอนาคต เป็นสินค้าศักยภาพที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ซึ่งภาครัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนอย่างจริงจัง ทั้งการแก้ไขปัญหาต้นทุนการผลิต การปลดล็อกกฎระเบียบต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา ส่งเสริมการใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น สารสกัดจากพืช หรือสมุนไพร เป็นต้น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรภายในประเทศ รวมถึงส่งเสริมการลงทุนทั้งในประเทศและจากต่างประเทศให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคตที่ยั่งยืน และยกระดับความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ
นอกจากนี้ การมีข้อมูลที่ทันสมัยและสามารถนำมาวิเคราะห์ได้ทันท่วงที ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินธุรกิจ กระทรวงพาณิชย์ โดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์ (สนค.) เล็งเห็นถึงศักยภาพของสินค้าอาหารแห่งอนาคตที่จะสามารถยกระดับอุตสาหกรรมอาหารที่เป็นจุดแข็งของไทย รวมทั้งยังมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน การสร้างเกษตรมูลค่าสูง เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรซึ่งเป็นสินค้าพื้นฐานหล่อเลี้ยงชีวิตคนไทยจำนวนมาก
สนค. จึงมีแผนเปิดตัว “แดชบอร์ดอาหารแห่งอนาคต” แหล่งข้อมูลการค้าสินค้าอาหารแห่งอนาคต เครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการและภาคธุรกิจใช้ในการตัดสินใจ กำหนดทิศทางและกลยุทธ์ของธุรกิจ รวมถึงช่วยในการกำหนดนโยบายของหน่วยงานภาครัฐได้อย่างทันเหตุการณ์ อยู่ในรูปแบบ Data Storytelling ช่วยให้เข้าใจง่ายและใช้งานสะดวกบนเว็บไซต์ คิดค้า.com ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศไทยก้าวไปสู่การเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคตของโลกต่อไป
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 31 สิงหาคม 2567