"ดร.อนุสรณ์" ชี้ ไทยต้องปฏิรูปใหญ่ด้านศก.-การเมืองถึงระดับโครงสร้างส่วนลึก คาดปีงบ 68 ลงทุนรัฐ-สัมปทานชะลอตัว
ถอดบทเรียนรับมือเศรษฐกิจยุคสงคราม นิติสงครามจะกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและภาคการลงทุน เศรษฐกิจภาคส่งออกและท่องเที่ยวไม่ผูกเสถียรภาพการเมืองฟื้นตัวคาดตัวเลขส่งออกทั้งปีอาจทะลุเป้า 2% ได้ จัดตั้งรัฐบาลได้ เฉพาะหน้าเงินไหลระยะสั้นไหลเข้าลงทุนตลาดการเงินต่อเนื่อง ส่วนงบปี’68 การลงทุนภาครัฐ สัมปทานโครงการขนาดใหญ่ชะลอตัว ไทยต้องการปฏิรูปใหญ่ทางเศรษฐกิจการเมืองลงไปถึงระดับ “โครงสร้างส่วนลึก” (Deep Structure)
เมื่อวันที่ 1 กันยายน รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัลฯ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องถอดบทเรียนรับมือเศรษฐกิจยุคสงคราม เนื่องจากมีความเป็นไปได้มากขึ้นที่สงครามในยุโรปและตะวันออกกลางจะขยายวง รวมทั้ง สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา การทุ่มตลาดของจีนอาจเข้มข้นระหว่างและหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา สังคมไทยและรัฐบาลควรเตรียมการเรื่องความมั่นคงทางอาหารและพลังงานไว้โดยไม่ประมาท การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจต้องเน้นไปที่การรักษาเสถียรภาพและการกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและรายได้ให้เป็นธรรม
ส่วนในประเทศเราอาจเผชิญกับสงครามการเมืองที่รุนแรงขึ้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญและการทบทวนบทบาทขององค์กรอิสระเพื่อให้เป็นไปตามวิถีประชาธิปไตย เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการเพื่อให้การเมืองมีเสถียรภาพ นิติสงครามจะกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและภาคการลงทุนของไทย รวมทั้งสร้างความไม่แน่นอนทางด้านนโยบาย การชะลอตัวของการลงทุนโดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐและเอกชนจะเกิดขึ้นจากความไม่แน่นอนดังกล่าว นิติสงครามจะทำให้ระบบสถาบันยุติธรรมไทยอ่อนแอลงอีก และอาจสร้างความสั่นคลอนต่อเสถียรภาพของรัฐบาลได้
ดร.อนุสรณ์กล่าวว่า ระบบนิติรัฐนิติธรรมอันอ่อนแอ ความไม่ชัดเจนของระบอบการปกครองโดยกฎหมายและไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล ทำให้โอกาสความรุ่งเรืองรอบใหม่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ อัตราการใช้กำลังการผลิตขณะนี้ยังอยู่ในระดับต่ำ ไตรมาสสองอยู่ที่ 57.7% เท่านั้น หากกำลังซื้อภายในฟื้นตัวและส่งออกดีขึ้น จะไม่มีแรงกดดันเงินเฟ้อแต่อย่างใด และภาคลงทุนก็จะไม่เติบโตมากนักเพราะมีกำลังการผลิตส่วนเกินอยู่ การเร่งกระตุ้นอุปสงค์ภายในและการฟื้นฟูผลกระทบจากอุทกภัยเป็นปัจจัยสำคัญต่อการประคับประคองการเติบโตของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน
ดร.อนุสรณ์กล่าวต่อว่า เศรษฐกิจภาคส่งออกและท่องเที่ยวอาศัยตลาดภายนอก ไม่ผูกกับความผันผวนทางการเมืองและเสถียรภาพการเมืองมากนักสามารถฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง การทยอยแข็งค่าของเงินบาทยังไม่ส่งผลระยะสั้นต่อภาคท่องเที่ยวต่างชาติและภาคส่งออกในระยะสั้น การแข็งค่าของเงินบาทเป็นผลจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์จากการคาดการณ์ว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนกันยายน มีการไหลเข้าของเงินทุนระยะสั้นในตลาดการเงินเอเชียและไทย นอกจากค่าเงินบาทแข็งค่ายังเป็นผลจากดุลบัญชีเงินสะพัดเกินดุลและดุลการค้าขาดดุลเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เฉพาะไตรมาสสอง ไทยเกินดุลการค้า 5,539 ล้านดอลลาร์ ตัวเลขส่งออกเดือนกรกฎาคม ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งจากการปรับค่าจ้างและการจ้างงานที่ดีขึ้นของประเทศคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะตลาดสหรัฐอเมริการขยายตัวมากกว่า 26% เมื่อหักสินค้าเกี่ยวกับทองคำ น้ำมันและยุทธปัจจัยแล้ว อัตราการขยายตัวของการส่งออกเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 9.3% ทำให้ 7 เดือนแรกของปีนี้มูลค่าส่งออกแตะระดับ 171,010 ล้านดอลลาร์ เป็นขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.8% เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันเมื่อปีก่อน มูลค่าส่งออกเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 25,720 ล้านดอลลาร์ หากช่วงเวลาที่เหลืออยู่ของปีสามารถทำมูลค่าส่งออกได้เฉลี่ยมากกว่าเดือนละ 25,000 ล้านดอลลาร์ ย่อมทำให้ตัวเลขส่งออกทั้งปีทะลุเป้า 2% ได้
ดร.อนุสรณ์กล่าวอีกว่า คาดการณ์ว่าเมื่อจัดตั้งรัฐบาลได้แล้ว เฉพาะหน้าเงินทุนระยะสั้นเก็งกำไรจะไหลเข้าลงทุนตลาดการเงินต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดหุ้นไทยยังมีความน่าสนใจต่อการลงทุน เพราะอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิ (P/E) ต่ำ ผลกำไรบริษัทจดทะเบียนฟื้นตัวต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีการใช้มาตรการลดหย่อนภาษีผ่านกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (TESG) จะกระตุ้นการลงทุน พร้อมกับมีการจัดตั้งกองทุนวายุภักษ์ 1.5 แสนล้านจะช่วยฟื้นฟูและเสริมสร้างบรรยากาศการลงทุน
หากรัฐบาลใหม่สามารถเข้าทำหน้าที่ได้ภายในปลายเดือนกันยายนก็ตาม คาดว่างบปี 2568 การลงทุนภาครัฐจะมีความล่าช้าอยู่ดี สัมปทานโครงการขนาดใหญ่ของภาคเอกชนจะชะลอตัวเพื่อรอความชัดเจนทางนโยบายและการตัดสินใจของรัฐบาล ไทยนั้นต้องการปฏิรูปใหญ่ทางเศรษฐกิจผ่านการลงทุนในหลายภาคส่วน เราควรรักษาสมดุลระหว่าง แนวทางนโยบาย Industrial Champion กับนโยบายทุนนิยมที่เน้นความเสมอภาค (Equality State) พร้อมเสริมสร้างความเสมอภาคทางโอกาส (Equal Opportunity) เพื่อลดปัญหาอำนาจผูกขาดในระบบเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ พร้อมกันนี้ก็ต้องเดินหน้าปฏิรูปทางการเมืองเพื่อให้ “สถาบัน” ในระบอบประชาธิปไตยมีความเข้มแข็ง จำเป็นต้องปฏิรูปลงไปถึงระดับ “โครงสร้างส่วนลึก” (Deep Structure) ซึ่งกำหนด ความคิด ค่านิยม วัฒนธรรม ความสัมพันธ์เชิงอำนาจและเศรษฐกิจ อีกด้วย
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 1 กันยายน 2567