จีนกำลังใช้ทั้งโลกกระตุ้นเศรษฐกิจ?
สงครามการค้าระลอกใหม่ดูจะทวีความรุนแรงมากขึ้น หลังจากที่ “จีน” ทุุ่มผลิตสินค้าราคาถูกส่งออกไปขายยังทั่วโลก ทำให้หลายประเทศต้องตั้งกำแพงภาษีขึ้นมาสกัดสินค้าเหล่านี้ อย่างน้อยก็เพื่อปกป้องผู้ประกอบการในประเทศของตัวเอง
คำถามสำคัญคือ จีนรู้ทั้งรู้ว่า การผลิตสินค้าจำนวนมาก แถมยังมีราคาถูกส่งออกไปขายทั่วโลก ย่อมต้องเจอกับการกีดกันผ่านกำแพงภาษี อีกทั้งยังทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศย่ำแย่ลงด้วย แล้วทำไมจึงต้องทำเช่นกัน
คำตอบ คือ จีนมีทางเลือกไม่มากนัก โดยเฉพาะในภาวะที่กำลังเผชิญกับวิกฤติภาคอสังหาริมทรัพย์ หลังจากที่ปั๊มซัพพลายออกมาจนล้นตลาด อีกทั้งบาดแผลจากวิกฤติโควิดก็ยังอยู่ เศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้คนยังไม่กลับมาเต็มที่ สิ่งที่จีนทำได้เพื่อดูแลเศรษฐกิจจึงมีเพียงไม่กี่อย่าง หนึ่งในนั้นคือการผลิตสินค้าซึ่งมีต้นทุนต่ำ ส่งออกไปขายทั่วโลก นำเงินกลับมาฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศ เราจึงเห็นสินค้าจีนไหลทะลักออกไปในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งรวมทั้งประเทศไทยด้วย
เวลานี้ประธานาธิบดี “สี จิ้นผิง” ของจีน กำลังเผชิญกับปัญหาความนิยมที่ไหลลง สะท้อนผ่านการประท้วงที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดย “ฟรีดอม เฮาส์” องค์กรเคลื่อนไหวด้านการเมืองและสิทธิมนุษยชนของสหรัฐ ระบุว่า การประท้วงในจีนเพิ่มขึ้นถึง 18% ในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา เป็นผลจากความไม่พอใจต่อปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งรายงานของ “ฟรีดอม เฮาส์” ยังระบุด้วยว่า การประท้วง 44% เกี่ยวข้องกับแรงงาน และอีก 21% เกิดจากความไม่พอใจของบรรดาเจ้าของบ้าน แต่อย่างไรก็ตามการประท้วงที่เกิดขึ้นยังเป็นเพียงจุดเล็กๆ และไม่ได้มุ่งเป้าความโกรธเคืองไปที่ผู้นำอย่าง สี จิ้นผิง
นอกจากนี้ จีน กำลังเผชิญกับปัญหาการว่างงานครั้งใหญ่ โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานหนุ่มสาว ซึ่งตัวเลขล่าสุดที่ทางการจีนรายงานออกมา พบว่า ในเดือนก.ค.2567 มีแรงงานหนุ่มสาวที่ว่างงานถึง 17% ซึ่งหลายคนตัดสินใจเดินทางกลับบ้านกลายเป็น “ลูกฟูลไทม์” พึ่งพาเงินเกษียณและเงินออมของพ่อแม่ไปก่อน จนเกิดการเรียกขานแรงงานกลุ่มเหล่านี้ว่าเป็น "rotten-tail kids” หรือแปลตรงๆ คือ “เด็กหางเน่า” ...วลีดังกล่าวถูกพูดถึงอย่างมากในโซเชียลมีเดีย เป็นวลีที่สื่อถึงบ้านที่สร้างไม่เสร็จหลายสิบล้านหลังที่สั่นคลอนเศรษฐกิจจีนมาตั้งแต่ปี 2564
สถานการณ์ที่เล่ามาข้างต้นทำให้ “สี จิ้นผิง” ต้องเลือกที่จะผลักดันภาคการผลิตแม้รู้ว่าผลิตออกมาก็ไม่สามารถขายในประเทศได้เพราะกำลังซื้อไม่มี แต่อย่างน้อยก็สามารถส่งออกไปขายในหลายประเทศทั่วโลก ช่วยพยุงการจ้างงานไม่ให้ย่ำแย่ลงไปกว่านี้ และเงินที่ได้มายังนำมาใช้หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจภายในประเทศได้อีกด้วย
...แล้วเราละเมื่อรู้ว่า จีน กำลังใช้เราเป็นเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่เศรษฐกิจภายในประเทศเองก็ย่ำแย่อยู่แล้ว จะมีวิธีในการบริหารจัดการปัญหาเหล่านี้อย่างไร อย่าลืมว่าสินค้าราคาถูกจากจีนที่ไหลเข้ามาตามช่องทางต่างๆ กำลังทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอี หรือแม้แต่พ่อค้าแม่ค้าทยอยล้มตายลงไปเรื่อยๆ
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 4 กันยายน 2567