"แบตเตอรี่จีน" ใกล้ถึงจุดเปลี่ยน การผลิตล้น กลไกตลาดคัดสรรผู้รอด
KEY POINTS
* ยอดขายรถอีวีทั่วโลกเริ่มชะลอตัว หลังเคยเติบโตที่เลขสองหลัก แต่ในปัจจุบัน อัตราการเติบโตในยุโรปและอเมริกาเหนือคาดว่าจะลดลงเหลือ 6% และ 7% ตามลำดับ
* ใน เม.ย. มีบริษัทจีนกว่า 20 ราย เผยแผนก่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่แห่งใหม่ คาดมีกำลังการผลิตต่อปีรวม 152 กิกะวัตต์ชั่วโมง ซึ่ง “ลดลงถึง 55%” จากปีก่อนหน้า
* หยาง หงซิน ประธาน SVolt ผู้ผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่อันดับ 7 ของจีน เตือนว่า ผู้ผลิตแบตเตอรี่จีนอาจเหลือรอดไม่ถึง 40 รายภายในสิ้นปีนี้
ท่ามกลาง "กระแสรถยนต์ไฟฟ้า" (อีวี) ที่เคยบูมสุดขีดในฐานะพลังงานแห่งอนาคตที่ใครๆ ก็ไม่อยากตกรถ จนเกิดผู้ผลิตรถอีวีเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะในจีน แต่ในที่สุดเมื่อฟองสบู่แตก กว่า 80% ของผู้ผลิตรถอีวีจีนก็อยู่ไม่รอด
สถานการณ์นี้กำลังจะเกิดกับธุรกิจ “แบตเตอรี่รถอีวีจีน” เช่นกัน ที่กำลังเผชิญภาวะการผลิตล้นตลาด แต่ยอดขายร่วง ราคาทรุด และฉุดให้ธุรกิจต้องหาวิธีควบรวมกิจการกับรายใหญ่เพื่อความอยู่รอด หรือถูกบีบให้ออกจากตลาดไป
ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจคือ ยิ่งการแข่งขันทางอีวีรุนแรงมากขึ้นเท่าไร กลับเอื้อให้รายใหญ่ในอุตสาหกรรมอย่าง BYD และ CATL ค่อยๆ แข็งแกร่งขึ้น แต่รายเล็กกว่ากลับยิ่งถูกบีบให้ปิดกิจการ
ข้อมูลจากบริษัทวิจัย Benchmark Mineral Intelligence ในลอนดอนระบุว่า มีโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ขนาดยักษ์ถึง 19 โครงการในจีนถูกยกเลิก หรือเลื่อนออกไปในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ โดยโรงงานผลิตแบตฯ เหล่านี้หันมาควบรวมกิจการกัน
หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทม์สรายงานว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว เป็นเพราะยอดขายรถอีวีทั่วโลกเริ่มชะลอตัว หลังจากเคยเติบโตแบบก้าวกระโดดที่เลขสองหลัก แต่ในปัจจุบัน อัตราการเติบโตในยุโรปและอเมริกาเหนือคาดว่าจะลดลงเหลือ 6% และ 7% ตามลำดับ ตามข้อมูลของ Rho Motion บริษัทที่ปรึกษาด้านห่วงโซ่อุปทานรถยนต์ไฟฟ้า
ในตอนนี้ ตลาดจีนแบ่งออกเป็น “สองกลุ่ม” อย่างชัดเจน กลุ่มแรกคือผู้เล่นรายใหญ่ เช่น CATL และ BYD ซึ่งครองตลาดแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าโลก และอีกกลุ่มคือ ผู้เล่นรายเล็กจำนวนมากที่เหลืออยู่ ซึ่งมีกำลังเงินและความสามารถด้านต้นทุนที่น้อยกว่า
“อุตสาหกรรมจีนได้เข้าสู่การแข่งขันรอบใหม่แล้ว ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีและการอัปเกรดกำลังการผลิต โดยพื้นฐานแล้ว ผู้ที่ไม่สามารถตามทันเทรนด์ จะค่อยๆ ถูกขับออกจากตลาด” เควิน ชาง (Kevin Shang) นักวิเคราะห์ของบริษัทผู้ให้บริการข้อมูล Wood Mackenzie กล่าว
ระเบียบใหม่บีบรายย่อย :
ไม่นานมานี้ รัฐบาลจีนได้ออกกฎระเบียบใหม่เพื่อแก้ปัญหาการผลิตล้นเกิน จนทำให้ผู้ผลิตแบตเตอรี่รายย่อยต้องลดกำลังการผลิต พร้อมระงับโครงการจำนวนหนึ่งทั้งในจีนและต่างประเทศ
ยิ่งไปกว่านั้น กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศของจีนได้กำหนดมาตรฐานอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนให้สูงขึ้น ตั้งแต่ด้านความเข้มข้นพลังงาน ความหนาแน่นของพลังงาน อายุการใช้งาน และข้อกำหนดอื่นๆ โดยระเบียบนี้ทำให้บริษัทรายย่อยที่เน้นผลิตเป็นจำนวนมากแบบเดิม ไม่ง่ายอีกต่อไป พร้อมมีต้นทุนมาตรฐานการผลิตที่สูงขึ้น
นักวิเคราะห์จากธนาคาร Citi ให้ความเห็นว่า กฎระเบียบใหม่ดังกล่าวเป็นบวกต่อบริษัทผู้นำในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ เพราะทำให้คู่แข่งรายใหม่เข้าสู่ตลาดได้ยากขึ้นด้วยมาตรฐานทางเทคนิคที่สูงขึ้น
ถ้าเปรียบเทียบกับกีฬาวิ่ง ก็คล้ายการเพิ่มระดับความยากของการแข่งขัน ทำให้คนที่ฝึกซ้อมมาดีอยู่แล้ว และมีสายป่านยาวกว่า ยิ่งมีโอกาสชนะมากขึ้น
ผลที่ตามมาคือ ผู้เล่นรายใหม่สู้ไม่ได้ โดยในเดือนเม.ย. กลุ่มบริษัท Nanfang Black Sesame ผู้ผลิตอาหารบดรายใหญ่ที่สุดของจีนแจ้งนักลงทุนว่า ได้ระงับโครงการแบตเตอรี่มูลค่า 3,500 ล้านดอลลาร์ในมณฑลเจียงซี ทางตะวันออก โดยอ้างถึงการเปลี่ยนแปลงในภูมิทัศน์ตลาดพลังงานใหม่ ทั้งที่บริษัทเพิ่งประกาศเปลี่ยนมาทำธุรกิจเก็บพลังงานเมื่อปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ข้อมูลจากสมาคมการจัดเก็บพลังงานของจีนระบุว่า ในเดือนเม.ย. มีบริษัทจีนมากกว่า 20 ราย เปิดเผยแผนการก่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่แห่งใหม่ คาดว่าจะมีกำลังการผลิตต่อปีรวม 152 กิกะวัตต์ชั่วโมง ซึ่งเป็นจำนวนที่ “ลดลงถึง 55%” จากปีก่อนหน้า
บริษัทแบตฯ อาจเหลือรอดไม่ถึง 40 ราย :
ในสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ ผู้ผลิตแบตเตอรี่รายเล็กกว่าของจีนต้องหันมาทบทวนแผนการขยายธุรกิจไปต่างประเทศ ดังกรณีของบริษัท SVolt Energy Technology ซึ่งแยกตัวออกมาจากค่ายรถจีน Great Wall Motor และเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่อันดับ 7 ของจีน ได้ยกเลิกแผนการสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในภาคตะวันออกของเยอรมนีเมื่อเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา โดยอ้างถึงความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการวางแผน ภาษี และเงินอุดหนุน รวมถึงการสูญเสียลูกค้ารายใหญ่
หยาง หงซิน (Yang Hongxin) ประธานบริษัท SVolt เตือนว่า ผู้ผลิตแบตเตอรี่อาจเหลือรอดไม่ถึง 40 รายภายในสิ้นปีนี้จากกระแสการควบรวมกิจการ โดยก่อนหน้านี้ ผู้ผลิตแบตเตอรี่กลุ่มเทียร์สองและสามเข้าร่วมการแข่งขันด้านราคาเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด แต่ในปัจจุบัน แม้แต่ผู้เล่นรายใหญ่ก็ลดราคาลง
เคราะห์ซ้ำเข้าไปอีกเมื่อบริษัทต่างๆ ตั้งแต่ผู้ผลิตแบตเตอรี่ เหมืองลิเทียม ไปจนถึงผู้ผลิตขั้วไฟฟ้าแคโทดและแอโนด ต่างประสบปัญหาผลกำไรที่ลดลง เนื่องจากราคาแบตเตอรี่ตกต่ำ อันเกิดจากการขยายตัวมากเกินความจำเป็น เพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่พุ่งสูงขึ้นระหว่างปี 2564-2565
เห็นได้จาก “รายได้รวม” และ “กำไรสุทธิ” ของบริษัทจดทะเบียนในจีนแผ่นดินใหญ่ 107 รายในห่วงโซ่อุปทานแบตเตอรี่ลิเทียมของไตรมาสแรก อยู่ที่ 293,000 ล้านหยวน และ 17,000 ล้านหยวนตามลำดับ ซึ่งลดลง 18% และ 50% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
แต่ในอีกฝั่ง “ผู้ผลิตแบตเตอรี่ชั้นนำ” เป็นที่คาดว่าจะยิ่งแข็งแกร่งขึ้น และขยายการลงทุน เนื่องจากผู้เล่นรายเล็กสู้ไม่ไหว ยอมถูกควบรวมกิจการหรือล้มหายไป นี่คือสถานการณ์ตลาดแบตเตอรี่ในจีนขณะนี้ ซึ่งการขับเคี่ยวที่รุนแรง ได้ทำให้รายใหญ่ได้ผลประโยชน์ในที่สุด จากกำลังทุน เทคโนโลยี และทรัพยากรที่เหนือกว่า
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 5 กันยายน 2567