สกัดสินค้านำเข้า แค่ปลายเหตุ แก้กับดัก "ขาดดุลการค้าสะสม"
เอกชนและภาครัฐกำลังง่วนกับการจัดทำมาตรการเพื่อสร้างความสมดุลการค้าระหว่างประเทศ นัยสำคัญมาจากปัญหาการนำเข้าสินค้าจีนที่เพิ่มขึ้น กำลังทำให้สินค้าไทยเสียหายเพราะแข่งขันไม่ได้
เมื่อส่องเข้าไปดูภาพรวมการค้าผ่านแดนไทยไปจีนช่วง 7 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ค. 2567) เติบโตได้สวย 15.7% มูลค่า 2.87 แสนล้านบาท ไทยส่งออกเพิ่มขึ้น 9.77% มูลค่า 1.53 แสนล้านบาท นำเข้าเพิ่มขึ้น 23.44% มูลค่า 1.34 แสนล้านบาท และที่สำคัญ “ไทยได้ดุลการค้า” จากการขายผ่านแดนกับจีนอยู่ถึง 0.19 แสนล้านบาท
สวนทางกับตัวเลขการค้าระหว่างประเทศในช่วง 7 เดือน ระหว่างไทย-จีน ที่ไทยขาดดุลการค้าอยู่ถึง -878,556.25 ล้านบาท จากภาพรวมการค้าไทย-จีน 2,354,099.81 ล้านบาท ไทยส่งออก 737,771.78 ล้านบาท นำเข้า 1,616,328.03 ล้านบาท
เรื่องขาดดุลการค้าก็อย่าเพิ่งไปโทษ “จีน” ทั้งหมด :
เพราะหากดูภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทยติดกับดักการขาดดุลการค้าสะสม ล่าสุดในช่วง 7 เดือน ขาดดุลการค้ากับทั้งโลกถึง -307,935.01 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากกว่ายอดขาดดุลการค้าในปี 2566 ทั้งปี ที่ -240,418.71 ล้านบาท ย้อนไปในปี 2565 ไทยก็เริ่มขาดดุลการค้า -612,569.24 ล้านบาทเป็นปีแรก หลังจากปี 2564 ไทยได้ดุลการค้าอยู่ 28,177.26 ล้านบาท จากการส่งออกที่ได้รับอานิสงส์จากช่วงโควิดที่ทำให้ส่งออกดี แต่ไทยไม่ได้พัฒนาตัวเองสักเท่าไร
สินค้าส่งออกไทยเกิดปัญหามาก่อน แล้วพอมาเจอ “สินค้าจีน” ทุบซ้ำเข้าไป จากการที่จีนผลิตจนล้นตลาดเพื่อรักษาอีโคโนมีออฟสเกล ต้นทุนต่ำกว่า ประจวบเหมาะกับจังหวะเศรษฐกิจประเทศต่าง ๆ หดตัว เงินเฟ้อสูง กำลังซื้อหด คนอยากได้สินค้าราคาถูก ล่าสุดแพลตฟอร์มออนไลน์ “TEMU” น้องใหม่จากจีนที่พัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ ส่งตรงสินค้าจีนราคาถูกจากราคาโรงงานไหลบ่าไปทั่วโลก เรียกว่าทุกอย่างโบ๊ะบ๊ะกันไปหมด
แต่ไทยเจ็บตัวมากกว่าใคร เพราะภูมิคุ้มกันของไทยบกพร่องอยู่แล้ว
รัฐ-เอกชนหน้าดำคร่ำเคร่งหาทางแก้ไขอุดรอยรั่ว หวังสร้างสมดุลการค้าให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์
“พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์” ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ประชุมรับฟังความเห็นต่อร่างแผนปฏิบัติการด้านการค้าแห่งชาติ พ.ศ. 2568-2570/30 หน่วยงาน
หลักการสำคัญเน้น 4 ประเด็นหลักคือ 1) การยกระดับสินค้าอุตสาหกรรมให้สอดรับกับความต้องการตลาด โดยมุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าอุตสาหกรรมเดิม และส่งเสริมการเติบโตสินค้าอุตสาหกรรมใหม่ 2) การพัฒนาระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เหมาะสม เพื่อส่งเสริมการแข่งขัน 3) เร่งเสริมทักษะแรงงาน ทั้งการสนับสนุนการสร้างแรงงานใหม่ (New Skill) และการส่งเสริมทักษะแรงงานเดิม (Reskill & Upskill)
และ 4) สร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลก โดยการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และมุ่งสร้างความสามารถในการปรับตัว
แต่แน่นอนว่าการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างจะดำเนินการเพียงหน่วยงานใดหน่วยงานเดียวคงเป็นไปไม่ได้ ต้องอาศัยการร่วมแรงร่วมใจจากทีมงานที่นายกรัฐมนตรีคนรุ่นใหม่ “แพทองธาร ชินวัตร” การันตีว่าดีมากให้เป็นความหวังพลิกฟื้นความสามารถแข่งขันของประเทศi;[ยอดหน้าสุดท้าย
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 8 กันยายน 2567