สหรัฐมีสิทธิไหม ? ต้องรวยแค่ไหน ถึงควรตั้ง "กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ"
หัวข้อถกเถียงที่สำคัญล่าสุดในสังคมอเมริกัน คือสหรัฐควรตั้ง “กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ” หรือไม่ หลังจากที่ทั้งฝ่าย โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐสมัยถัดไป และทีมงานของประธานาธิบดีโจ ไบเดน (Joe Biden) ผู้อยู่ในตำแหน่งบริหาร ณ ปัจจุบัน ล้วนมีความทะเยอทะยานที่อยากจัดตั้ง “กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ” ขึ้นมา
“กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ” หรือ Sovereign Wealth Fund (SWF) คือกองทุนเพื่อการลงทุนของรัฐบาลที่ตั้งขึ้นมาเพื่อบริหารจัดการทุนสำรองระหว่างประเทศ โดยนำทุนสำรองเงินตราส่วนเกินไปลงทุนเพื่อแสวงหาผลกำไร ซึ่งนำผลกำไรที่ได้มานั้น รัฐจะนำไปให้บริการสาธารณะแก่ประชาชนในชาติ และใช้ลงทุนต่อยอดสะสมความมั่งคั่งของชาติให้เพิ่มพูนขึ้นไปเรื่อย ๆ
แน่นอนว่าการมีกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาตินั้นมีข้อดีมากมาย แต่ไม่ใช่ว่าทุกประเทศที่อยากมีแล้วจะมีได้ เพราะการจะมีกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติได้นั้น ประเทศต้องร่ำรวย มีเงินเหลือเฟือ
แม้แต่กรณีของสหรัฐอเมริกา ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นมหาอำนาจเบอร์ 1 ของโลกก็ยังมีเสียงคัดค้านว่าการตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติไม่เหมาะกับสถานะการเงินของสหรัฐ ต่อให้ก่อตั้งขึ้นได้ก็ไม่เวิร์ก
เหตุผลพื้นฐานที่นักวิจารณ์มักจะยกมาคัดค้าน คือโดยทั่วไปแล้วประเทศที่จะตั้งกองทุนได้ต้องเป็นประเทศที่มีเงินเหลือใช้ หรือรัฐมีรายรับมากกว่ารายจ่าย ต่างจากสหรัฐที่ต้องจัดทำงบประมาณขาดดุลปีละมหาศาล
อย่างไรก็ตาม เหตุผลคัดค้านดังกล่าวนี้ก็มีข้อโต้แย้งกลับจากผู้สนับสนุนการก่อตั้งกองทุนความมั่งคั่งเช่นกัน
เจมส์ บรอเกิล (James Broughel) นักวิจัยอาวุโสของสถาบันขีดความสามารถการแข่งขันทางธุรกิจ (Competitive Enterprise Institute) ซึ่งเป็นองค์กรศึกษานโยบายสาธารณะ เขียนในฟอร์บส (Forbes) เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า มุมมองที่ว่าสหรัฐไม่เหมาะจะมีกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ เพราะรัฐบาลไม่ได้มีเงินเหลือเฟือนั้น เป็นมุมมองที่ “มองข้าม” ทรัพย์สินจำนวนมากในการดูแลของรัฐบาลกลางที่ไม่ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่
บรอเกิลยกตัวเลขขึ้นมาชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบันรัฐบาลกลางควบคุมทรัพย์สินอยู่ประมาณ 5.4 ล้านล้านดอลลาร์ และอาจมากกว่า 100 ล้านล้านดอลลาร์ ถ้ารวมความมั่งคั่งจากทรัพยากรธรรมชาติด้วย
ดังนั้น เขาจึงมองว่ากองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติอาจเป็นเครื่องมือในการจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเหล่านี้ได้ดีขึ้น นอกเหนือจากกลไกเงินทุนอื่น ๆ ที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน
อีกข้อคัดค้านหนึ่งมองว่า กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติจะไม่เวิร์กสำหรับสหรัฐ เนื่องจากว่าสหรัฐอยู่ในสถานะที่ต้องกู้เงินสำหรับใช้จ่ายจัดทำงบประมาณของรัฐบาลกลาง ฝั่งคัดค้านมองว่ากองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติจะได้ผลดีก็ต่อเมื่อมันสามารถทำกำไรได้มากกว่าดอกเบี้ยเงินกู้ที่รัฐบาลสหรัฐต้องกู้มาใช้จ่าย ซึ่งเป็นเรื่องยาก อยู่เหนือการควบคุม และมีความเสี่ยง
ไทเลอร์ โคเวน (Tyler Cowen) ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยจอร์จเมสัน (George Mason University) เขียนบทความแสดงความคิดเห็นในบลูมเบิร์ก (Bloomberg) ว่า ประเทศที่มีกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติที่ได้ผลตอบแทนดีและทำให้ประชาชนมีฐานะดีขึ้น อย่างสิงคโปร์ นอร์เวย์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ล้วนแต่เป็นประเทศที่ร่ำรวยที่นำเงินส่วนเกินไปลงทุน แต่สหรัฐไม่มีเงินส่วนเกินเช่นนั้น ซ้ำยังมีหนี้สาธารณะสูงถึงประมาณ 123% ของจีดีพี และหนี้กำลังอยู่ในทิศทางเพิ่มขึ้น ดังนั้น กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติจะทำให้รัฐบาลกลางต้องกู้เงินมากขึ้น ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่น่าวิตกกังวล
สำหรับข้อคัดค้านนี้มีข้อโต้แย้งว่า ตลาดหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาวที่รัฐบาลต้องจ่าย ดังนั้น กองทุนยังสามารถทำกำไรให้รัฐบาลได้
ข้อโต้แย้งนี้เป็นข้อโต้แย้งเดียวกันกับที่รัฐบาลของประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช (Josh W. Bush) จากพรรครีพับลิกันเคยใช้ในปี 2005 เพื่อสนับสนุนให้นำเงินกองทุนประกันสังคมไปลงทุนในตลาดทุน อย่างไรก็ตาม ในตอนนั้นสมาชิกวุฒิสภาจากพรรคเดโมแครตไม่เห็นด้วย เนื่องจากมองว่าแนวทางนี้เป็นการ “แปรรูป” ประกันสังคม ซึ่งจะเป็นภัยคุกคามกองทุนเพื่อการเกษียณอายุของคนทั้งชาติ
บรอเกิลแย้งในข้อคัดค้านนี้ด้วยว่า แม้ว่าจะมีความท้าทายและความเสี่ยง แต่กองทุนความมั่งคั่งที่ถูกออกแบบมาอย่างดีอาจได้ผลตอบแทนสูง และเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาทางการเงินของรัฐในระยะยาว
ทั้งสองฝั่งต่างก็มีเหตุผลสนับสนุนจุดยืนของตน เรื่องนี้คงเป็นเรื่องที่ได้เห็นการถกเถียงกันอย่างเข้มข้นต่อไป
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 19 กันยายน 2567