สร้างภาพแก้โลกร้อน ปัญหา "ฟอกเขียว" ตามมา
ทั่วโลกรวมถึงไทยกำลังเผชิญปัญหาภัยธรรมชาติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) รุนแรงมากขึ้น เช่น ผลความเสียหายจากมหาอุทกภัยปี 2554 ที่ธนาคารโลกประเมินไว้ 1.44 ล้านล้านบาท ส่งผลให้ไทยติดอันดับ 9 ของโลกสำหรับประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งที่ไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศของโลกสัดส่วนไม่ถึง 1% ของทั้งโลก ถือว่าเป็นสัดส่วนน้อยมาก
และล่าสุดในปีนี้ ภัยธรรมชาติ “อุทกภัย” ก็ได้สร้างความเสียหายซ้ำเติมในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน คาดการณ์มูลค่าความเสียหายจากสถานการณ์ที่ยังไม่ยุติล่าสุด น่าจะไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท นำมาสู่คำถามว่าถึงเวลาหรือยังที่ประเทศไทยต้องจริงจังกับการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
พัฒนาการการลด GHG :
“วิวัฒน์ โฆษิตสกุล” ที่ปรึกษาด้านคาร์บอน มูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน กล่าวในการบรรยายหลักสูตร การบริหารจัดการการเปลี่ยนผ่านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รุ่น 6 (ETC6) ฉายภาพถึงพัฒนาการการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศว่า ขณะนี้ทั่วโลกกำลังเข้าสู่เฟส 3 หลังจากที่เริ่มดำเนินการเฟส 1 ในช่วงที่มีการบังคับใช้ “พิธีสารเกียวโต” ซึ่งกำหนดให้ประเทศพัฒนาแล้วต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) 5% จากปีฐาน 1995 เพราะประเทศพัฒนาแล้วเป็นต้นเหตุในการปล่อยมากที่สุด ทั้งยังกำหนดให้มีกลไกที่ให้ประเทศที่พัฒนาแล้วที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาก สามารถนำคาร์บอนเครดิตของประเทศกำลังพัฒนาปล่อย GHG ต่ำกว่าเป้า มาหักล้างได้ จึงทำให้ช่วงปี 2008-2012 เป็นปีทองของการขายคาร์บอนเครดิต สำหรับประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะอย่างจีน
มาสู่เฟส 2 ปี 2013-2020 ประเทศกำลังพัฒนาถูกกำหนดให้ต้องลดการปล่อย GHG 7-20% ทำให้ตลาดคาร์บอนเครดิตช่วงนี้เกิดความซบเซาอย่างมาก กระทั่งมาถึงเฟส 3 ล่าสุดที่กำหนดให้ทุกประเทศต้องช่วยการป้องกันให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส ตามความตกลงปารีส (Paris Agreement)
“บิ๊กตู่” เพิ่มเป้าลดคาร์บอน :
ไทยทำหนังสือยืนยันการเข้าร่วม Paris Agreement เมื่อเดือนตุลาคม 2011 ว่า ไทยตั้งเป้าหมายจะลดปล่อย GHG สูงสุด 20% ในปี 2030 โดยจะมุ่งไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Nuatral) 2050 และขยับเป็น Net Zero Emission ในปี 2065
แต่ผ่านมาไม่ถึง 1 เดือน อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เดินทางไปร่วมการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP26 ประกาศเป้าที่มีความท้าทายอย่างมาก โดยจะลดการปล่อยคาร์บอนเพิ่มขึ้นเท่าตัว จากเดิมจะ 20% เป็น 40% ปี 2030 และจะเป็นกลางทางคาร์บอนปี 2050 และ Net Zero Emission ปี 2065 “ขยับเป้าเร็ว ท้าทายและยากมาก” ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวไทยแซง “อินเดีย” แต่ยัง “ช้าไป” และยังเป็นรองจีน อินโดนีเซีย ซาอุดีอาระเบีย และรัสเซีย
แน่นอนว่าหากบริษัทเอกชนมีสเตกโฮลเดอร์อยู่ในประเทศที่มีเป้าหมายเข้าสู่ Net Zeroเร็วกว่าเรา ก็จะถูกกดดันให้ต้องปรับเข้าหาเป้าหมายของสเตกโฮลเดอร์ให้ได้
เปิดร่างกฎหมายลดโลกร้อน :
ไทยจึงได้เร่งเครื่องมาตรการภาคบังคับในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วย “กฎหมาย” โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีการเปลี่ยนชื่อ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็น กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกสั้น ๆ กรมลดโลกร้อน
และร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. …. ขึ้นมาครั้งแรกเมื่อปี 2560 เพื่อบังคับให้ภาคเอกชนต้องรายงานการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เพื่อให้ไทยสามารถลดคาร์บอนได้ 20% ในปี 2030
“สิ่งแรกประเทศไทยต้องมีฐานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคส่วนต่าง ๆ เสียก่อน ซึ่งกระทรวงต่าง ๆ ต้องทำ เอกชน อาคารมาตรฐานบังคับ ธุรกิจโรงไฟฟ้า จะมีหน้าที่สนับสนุนข้อมูลในการทำฐานข้อมูลก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ซึ่งหลังจากถกเถียงกันนาน แต่สุดท้ายร่างกฎหมายฉบับแรกไม่สามารถออกมาได้”
แต่ด้วยเป้าหมายการลดการปล่อย GHG ตามไทม์ไลน์ที่ผูกพันไว้ใน COP26 เข้มขึ้นมาก และเนื้อหาของร่างกฎหมายฉบับแรกที่ร่างไว้ยังมีความเข้มข้นไม่เพียงพอจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ นำมาสู่การแก้ไขร่างกฎหมายฉบับใหม่ พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. … ฉบับล่าสุดที่เพิ่งคลอดออกมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567
บังคับรายงานการปล่อย GHG :
สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ กำหนดให้มี 14 หมวด และมีบทเฉพาะกาล เนื้อหา 40 หน้า (ตามกราฟิก)
ไฮไลต์สำคัญที่แตกต่างจากร่างกฎหมายฉบับแรก คือ ต่อไปนี้นิยามของผู้ที่จะต้องรายงานการปล่อย GHG จากเดิมที่กำหนดไว้เป็นโรงไฟฟ้า อาคาร เปลี่ยนเป็น “นิติบุคคล” ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้มีการกำหนดประเภทของนิติบุคคลออกมาว่ามีประเภทใดบ้าง ที่มีหน้าที่ต้องเปิดเผยข้อมูลการปล่อย GHG
โดยคาดว่าจะมีการนำเสนอกฎหมายผ่านคณะรัฐมนตรี ในเดือนตุลาคม 2567 จะเสนอผ่านร่างในสภาและประกาศบังคับใช้ในปี 2568 จึงจะมีประกาศกฎหมายลูกตามว่ามีนิติบุคคลประเภทใดบ้าง
ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมีจำนวนนิติบุคคลที่จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเกือบ 2 ล้านราย ซึ่งต้องจับตามองว่า กรมจะออกประกาศกฎกระทรวงเกี่ยวกับประเภทนิติบุคคลที่ต้องรายงานการปล่อย GHG ออกมาอย่างไรบ้าง และมีความเป็นไปได้ว่าอาจใช้เกณฑ์รายได้ พื้นที่ หรือการจ้างงาน เป็นตัวกำหนดก็เป็นได้
สิทธิในการปล่อย GHG :
สเต็ปต่อไป หลังจากได้รายงานการปล่อย GHG แล้ว ปี 2031จะมีการกำหนด “สิทธิในการปล่อย GHG” หมายถึง ค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมควรอยู่เท่าไร เช่น โรงงานพลาสติกรายงานคาร์บอนฟุตพรินต์ 120 ล้านตันคาร์บอน แต่รัฐกำหนดให้สิทธิการปล่อย GHG ที่ 100 ล้านตันคาร์บอน เท่ากับโรงงานนั้นปล่อย GHG เกินสิทธิการปล่อย 20 ล้านตันคาร์บอน
ดังนั้นจะต้องหาทางลดส่วนเกิน โดยการเพิ่มการผลิตพลังงานหมุนเวียน (RE) และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน (Energy Efficiency : EE) เช่น หากมีโรงงานประเภทเดียวกันของคู่แข่งสามารถปล่อยต่ำกว่าสิทธิในการปล่อย GHG เช่น 80 ล้านตันคาร์บอน โรงงานของเราต้องไปซื้อสิทธิจาก 20 ล้านตันคาร์บอน มาเติมให้ตัวเรา แต่ที่สำคัญคือกฎหมายนี้ จะมีทางเลือกที่ 3 คือ การเก็บภาษีคาร์บอน หรือทางเลือกที่ 4 คือ คาร์บอนเครดิต ซึ่งจะถือเป็น ทรัพย์สินที่มีมูลค่า สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือไปได้
ทั้งนี้ คาร์บอนเครดิตเปรียบเสมือนเป็นรางวัลให้ผู้ประกอบการที่ทำความดีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ซึ่งความดีนี้มีสองแบบ คือ ความดีอะไรก็ตามที่ทำแล้วช่วยให้ลดการปล่อย GHG หรือช่วยให้เกิดการกำจัด หรือกักเก็บ GHG ถ้าทำความดีสองแบบนี้สามารถนำไปขอคาร์บอนเครดิต คือ ไปขาย ซื้อต่อเปลี่ยนมือได้ ซึ่งความดีแต่ละประเภทก็มีราคา มีการคำนวณระดับที่ต่างกัน
แต่ถ้าหากโรงงานไม่ยอมปฏิบัติตามมาตรการเรื่องการรายงานการปล่อย GHG จะได้รับบทลงโทษ ตามหมวด 14
บริษัท SET ส่งครบแค่ 10% :
อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันดีว่า ขณะนี้ “บริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย” ได้ดำเนินการเรื่องนี้แล้ว โดยจะต้องเพิ่มรายงานคาร์บอนฟุตพรินต์ เรื่องความยั่งยืน คือ สิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล (56-1) เข้าไปในรายงานประจำปี โดยต้องระบุว่า บริษัทมีนโยบายเรื่อง GHG มาจากบอร์ด การปล่อยต้องทำตามมาตรฐานสากลหรือเทียบเท่า มาตรฐานของไทยมี อบก. กับ ISO และต้องระบุชื่อผู้ทวนสอบ (ออดิต) คล้ายคลึงกับการตรวจสอบบัญชี และจะมีการตัดรอบตามปีงบดุล
“เป็นที่น่าสังเกตว่ามีสถิติว่าบริษัทในตลาดทรัพย์ฯ ซึ่งมีอยู่เกือบ 900 บริษัท ได้ตื่นตัวและมีการรายงานมากขึ้น จากปี 2022 มีการรายงาน 342 บริษัท และล่าสุด ปี 2023 มีการรายงานเพิ่มขึ้นเป็น 445 บริษัท คือ คิดเป็นสัดส่วน 50% แต่ในจำนวนนี้มีบริษัทเพียง 10% หรือประมาณ 40-50 รายเท่านั้นดำเนินการครบทุกสเต็ปมีการรายงานชื่อผู้ออดิตด้วย”
สาเหตุที่ยังมีจำนวนน้อยเพราะการรายงานทั้งขอบเขตตามงบฯการเงินถือว่าใหญ่มาก และการจ้างออดิตหรือผู้ตรวจสอบมีอัตราค่าตรวจสอบที่สูงมาก โดยเฉพาะชื่อเสียงออดิเตอร์มีผลต่อความน่าเชื่อถือในรายงานของบริษัทนั่นเอง
จับตา “ฟอกเขียว” :
ในอนาคตหลายฝ่ายเริ่มมีความกังวลว่า แรงกดดันจากการที่ต้องลดการปล่อย GHG ทำให้บริษัทต่าง ๆ ต้องเร่งดำเนินการจัดทำรายงานคาร์บอนฟุตพรินต์ โดยเฉพาะรายงานในระดับองค์กร (CFO) ไปจนถึงรายการปลดปล่อย GHG ในระดับผลิตภัณฑ์ (CFP) เพราะผู้ซื้อจะเริ่มบีบโดยการกำหนดทีโออาร์ในการรับซื้อสินค้า บริการ ที่รักษ์โลก
การประกาศเป้าหมาย Carbon Nuatral และ Net Zero Emission โดยยังไม่ได้เตรียมความพร้อมว่าจะต้องปรับตัวอย่างไร เพราะขาดความรู้ความเข้าใจที่แท้จริง และต้องเร่งทำงานท่ามกลางการบีบคั้นของคู่ค้านำไปสู่ปัญหาใหม่ที่เรียกว่า “การฟอกเขียว” หรือ Greenwashing หรือการประกาศเน็ตซีโร่เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้องค์กร โดยที่ไม่ได้แก้ปัญหาการลดโลกร้อนตามเป้าหมายที่แท้จริง
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 20 กันยายน 2567