เศรษฐกิจไทย ปี 2568 ไปต่อ อานิสงส์ "จีน-สหรัฐ" ฟื้นตัว
การที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ หลายสำนักคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกนับจากนี้ไปจะพลิกโฉม โดยเฉพาะนโยบาย "อเมริกาต้องมาก่อน หรือ America First" ที่ ทรัมป์ ประกาศขณะหาเสียงว่า จะดำเนินนโยบายเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศจีนสูงถึง 60% การนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นๆ 10-20% โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐอเมริกา และหนึ่งในประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐ คือ ประเทศไทย ซึ่งไทยได้เปรียบดุลการค้ากับประเทศสหรัฐต่อเนื่องกว่า 10 ปี โดยปี 2566 ประเทศไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐ 29,045.69 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 8 เดือนแรก 2567 ไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐถึง 22,295.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ไทยมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับมาตรการกีดกันทางการค้าจากสหรัฐ อาจส่งผลกระทบกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทย
เรื่องนี้ “อภิชาติ เกษมกุลศิริ” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นว่า ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ถึงแม้สหรัฐจะดำเนินนโยบายด้านภาษีเพื่อกีดกันการค้ากับประเทศจีน และ ประเทศอื่นๆ แต่ถ้าเศรษฐกิจสหรัฐ ฟื้นตัวจากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล ทรัมป์ รวมทั้งเศรษฐกิจจีนที่จะฟื้นตัวหลังจากที่เผชิญกับภาวะล้มละลายของภาคอสังหาริมทรัพย์ในปี 2567 มีแนวโน้มที่เศรษฐกิจไทยในปี 2568 สามารถเติบโตได้ดีกว่าปี 2567 “ยิ่งเศรษฐกิจจีน และ สหรัฐ ฟื้นตัว เศรษฐกิจไทย ก็จะเติบโตตามไปด้วย”
ปี2567ฟื้นตัวครึ่งหลัง :
อภิชาติกล่าวว่า เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณการฟื้นตัวในช่วงไตรมาส 3/2567 เริ่มมีเงินทุนไหลเข้าประเทศในภูมิภาคอาเซียนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งไทย พิจารณาจากการปรับตัวสูงขึ้นของดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่มีเงินทุนต่างประเทศไหลกลับเข้ามา ส่งผลให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ปรับตัวจาก 1,300.96 จุด ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2567 สูงขึ้นมาอยู่ที่ 1,460-1,470 จุดในปัจจุบัน หรือ ดัชนีปรับขึ้น 150 กว่าจุด ในระยะเวลา 3 เดือน โดยมีเงินทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น
ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการลงทุนจากภาครัฐ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งหลังปี 2567 มีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อดอกเบี้ยมีทิศทางลดลง ส่งผลให้ต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงต้นทุนทางการเงินในการก่อหนี้ของภาคประชาชนลดลงตามไปด้วย ทำให้ปี 2567 ที่ผ่านมรสุมหลายระลอกช่วงครึ่งแรกของปี ค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น คาดจะเติบโตได้ตามเป้าหมายปี 2567 ที่ 2.6% หลังจากที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส3 เติบโต 3% ส่งผลให้ เศรษฐกิจไทย 9 เดือนแรกปีนี้ เติบโต 2.3%
ขณะที่เศรษฐกิจจีนช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา เติบโต 4.8% และมีสัญญาณการฟื้นตัวต่อเนื่อง ทำให้คาดว่าทั้งปีเศรษฐกิจจีนปี 2567 เติบโต 5% เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ เช่นเดียวกับเศรษฐกิจสหรัฐ ที่มีสัญญาณการฟื้นตัวโดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 2.8% โดยธนาคารโลกคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2567 เติบโต 2.6% ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศคาดว่าเศรษฐกิจโลกเติบโต 3.1%
“โดยทั่วไปแล้วเศรษฐกิจไทยจะเติบโตล้อไปกับเศรษฐกิจจีนและสหรัฐ เพราะทั้งสองประเทศเป็นประเทศคู่ค้าหลักที่สำคัญของไทย เมื่อเศรษฐกิจของสองประเทศเติบโต ไทยจะเติบโตไปด้วย ในปี 2567 เศรษฐกิจจีนและสหรัฐเติบโตดีช่วงครึ่งหลัง 2567 กระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยเติบโตตามไปด้วยถึงแม้ช่วงครึ่งแรกของปีเผชิญกับมรสุมหลายลูกก็ตาม” อภิชาติกล่าว
อสังหาฯชะลอตัวแต่ยังแข็งแกร่ง :
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ส่งผลให้ภาพรวมของภาคอสังหาริมทรัพย์ปี 2567 มีแนวโน้มฟื้นตัวช่วงครึ่งหลังของปี ขณะที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์มีความยืดหยุ่น การปรับตัวรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งการปรับลดการเปิดตัวโครงการใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการโดยรวมของตลาด บริหารจัดการสภาพคล่องทางการเงิน บริหารสัดส่วนหนี้ต่อทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์
จากการปรับตัวดังกล่าว ทำให้ผลการดำเนินงานของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ช่วง 9 เดือนแรกปี 2567 จากการรวบรวมของบริษัท แอล ดับเบิลยู เอส วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด บริษัทวิจัยและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือของแอล.พี.เอ็นฯ พบว่า ผลประกอบการของ 40 บริษัทอสังหาฯ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีรายได้รวม 234,206.34 ล้านบาท ลดลง 0.22% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปี 2566 ที่มีรายได้รวม 234,743.77 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิ 9 เดือนแรกของทั้ง 40 บริษัท ในปี 2567 อยู่ที่ 20,987.91 ล้านบาท ลดลง 24.90% จากระยะเดียวกันของปี 2566 ที่มีกำไรสุทธิรวมทั้ง 40 บริษัทที่ 27,948.14 ล้านบาท จะเห็นได้ว่า รายได้รวมลดลงไม่มาก แต่กำไรลดลงมาก เพราะผู้บริหารอสังหาฯ แต่ละค่ายให้ความสำคัญกับการลดสินค้าคงเหลือในมือ ยอมลดกำไร เพื่อที่จะเพิ่มสภาพคล่อง ถึงแม้ปีนี้สถาบันการเงินจะเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ ทำให้มีอัตราการปฏิเสธสินเชื่อที่สูงถึง 60-70% ก็ตาม
“ผมมองว่า ภาคอสังหาฯ ของเรามีบทเรียนมาตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 ทุกคนให้ความสำคัญกับข้อมูล และใช้ข้อมูลให้เป็นประโยชน์ ผมมองว่าอสังหาฯ ในปีนี้ไม่ได้แย่มาก เมื่อเทียบกับปัจจัยลบต่างๆ ที่เรากำลังเผชิญอยู่” อภิชาติกล่าว
คาดเศรษฐกิจไทยปี68โตแตะ 3% :
ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2568 “อภิชาติ” ให้ความเห็นว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2568 มีปัจจัยบวกที่มากกว่า ปี 2567 อย่างแรกคือ ภาคการท่องเที่ยว การลงทุนของภาครัฐ รวมไปถึงการลงทุนของภาคเอกชนทั้งของไทยและต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย มีแนวโน้มที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2567 ส่วนของการลงทุนภาครัฐ งบประมาณปี 2568 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา เทียบกับปี 2567 ที่งบประมาณกว่าจะออกมาใช้ได้ก็เข้าไตรมาสสามของปีแล้ว ดังนั้น ในปี 2568 เครื่องยนต์อย่างการลงทุนภาครัฐดีกว่าปี 2567 แน่นอน เช่นเดียวกับการลงทุนของภาคเอกชนโดยเฉพาะการลงทุนจากต่างประเทศ ที่ปัจจุบันกลุ่มทุนจีน ได้ขยายการลงทุนเข้ามาในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง จากรายงานการลงทุนของชาวต่างชาติในประเทศไทยโดย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า 8 เดือนแรกของปี 2567 มีการลงทุนของต่างชาติในไทยแล้วทั้งสิ้น 100,062 ล้านบาท การลงทุนของต่างชาติที่เพิ่มขึ้น เป็นอีกเครื่องยนต์หนึ่งที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 2568
“ทิศทางดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มลดลงทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย เป็นปัจจัยบวกที่ช่วยลดต้นทุนทางการเงินให้กับผู้ประกอบการ รวมไปถึงผู้บริโภค ที่จะมีกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น ถึงแม้หลายคนจะกังวลเรื่องของเงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกา ที่อาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ ชะลอการลดดอกเบี้ยก็ตาม แต่ผมเชื่อว่า ดอกเบี้ยจะไม่ปรับตัวสูงขึ้นแน่นอน ขณะที่ภาคส่งออกในปี 2568 อาจจะได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐ บางส่วน แต่โดยภาพรวม สินค้าไทยในหลายกลุ่มยังคงสามารถแข่งขันได้ และโดยสัญญาณการฟื้นตัวของภาคการส่งออกไทยเห็นชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 และยังคงมีแนวโน้มที่ดีในปีหน้า จากแนวโน้มและสัญญาณต่างๆ มั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยปี 2568 โตแตะ 3% หลังไทยเติบโต 2-2.7% ต่อเนื่อง 2-3 ปี ถึงเวลาที่เราต้องไปต่อ และต้องทะลุกำแพงจากอัตราการเติบโต 2% เศษ ไปถึง 3% ได้แล้ว” อภิชาติกล่าว
ผลักดันอสังหาฯไทยปีหน้ายังโต :
จากแนวโน้มเศรษฐกิจดังกล่าว อภิชาติ มั่นใจว่า ในส่วนของภาคอสังหาฯ ในปี 2568 จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นทั้งด้านของอุปสงค์ หรือความต้องการซื้อที่อยู่อาศัย และในด้านของอุปทาน หรือ การเปิดตัวโครงการใหม่ๆ ของภาคอสังหาฯ เพื่อตอบโจทย์กับความต้องการที่อยู่อาศัยในคนทุกกลุ่ม
“ช่วงปลายปีนี้ เราเริ่มเห็นผู้ประกอบการอสังหาฯ เปิดตัวโครงการขนาดใหญ่มากขึ้น หลังจากที่ชะลอการเปิดตัวโครงการไปในปีก่อนหน้า ในขณะที่ระดับราคาก็จะมีการปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับกำลังซื้อที่มีอยู่ในตลาดมากขึ้น ผมเชื่อว่าปี 2568 ภาคอสังหาฯ จะเติบโตดีกว่าปี 2567 การที่จะให้ทุกคนมีบ้านท่ามกลางความไม่มั่นใจของสถาบันการเงินที่กลัวหนี้เสียนั่น อภิชาติ ให้ความเห็นว่า ถ้าภาครัฐสามารถที่จะรับประกันความเสี่ยงให้กับสถาบันการเงิน กรณีที่ปล่อยกู้สินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยแล้ว เผชิญกับปัญหาหนี้เสีย หรือ หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ แล้วต้องนำบ้านมาขายทอดตลาด รัฐบาลจะชดเชยส่วนต่างของความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ จะทำให้สถาบันการเงินมีความมั่นใจในการปล่อยกู้มากขึ้น ถ้ามีระบบแบบนี้ ผมเชื่อว่า สถานการณ์การปล่อยกู้ จะเพิ่มขึ้น อัตราการปฏิเสธสินเชื่อจะลดลง คนไทยทุกคนก็จะมีบ้านง่ายขึ้น” อภิชาติกล่าว
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 27 พฤศจิกายน 2567