ออสเตรเลียผ่านร่างกฎหมาย ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปีใช้โซเชียลมีเดีย
มติชนรายงานเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน ออสเตรเลียผ่านร่างกฎหมายห้ามเยาวชนอายุต่ำกว่า 16 ปีใช้โซเชียลมีเดีย โดยจะบังคับให้บริษัทโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่อย่างอินสตาแกรม เฟซบุ๊กหรือติ๊กต๊อก ไม่อนุญาตให้เยาวชนเข้าถึงโซเชียลดังกล่าวได้ ไม่เช่นนั้นจะโดนปรับมูลค่าถึง 32 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งกระบวนการบังคับใช้กฎหมายจะเริ่มในเดือนมกราคมและกำหนดให้มีผลบังคับใช้ภายใน 1 ปี
ร่างกฎหมายจำกัดอายุขั้นต่ำของการใช้โซเชียลมีเดียของออสเตรเลียเป็นกรณีศึกษาแก่รัฐบาลจำนวนมากที่ได้ออกกฎหมายหรือประกาศว่ามีแผนที่จะออกกฎหมายเดียวกัน อันเป็นผลมาจากความกังวลในเรื่องสุขภาพจิตของเยาวชนหลังจากใช้โซเชียลมีเดีย โดยฝรั่งเศสและบางรัฐในสหรัฐผ่านกฎหมายห้ามให้เยาวชนเข้าถึงโซเชียลมีเดียได้ หากไม่ได้รับการอนุญาตโดยผู้ปกครอง
การผ่านร่างกฎหมายในครั้งนี้ถือเป็นชัยชนะทางการเมืองของนายแอนโทนี อัลบาเนซี นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียก่อนการเลือกตั้งปี 2025 ขณะที่ความนิยมของเขาลดลง และแม้ว่ากฎหมายนี้จะได้รับการต่อต้านจากกลุ่มที่สนับสนุนสิทธิความเป็นส่วนตัวและสิทธิเด็ก กว่า 77% ของประชาชนชาวออสเตรเลียสนับสนุนการออกมาตรการห้ามไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 16 ปีใช้โซเชียลมีเดีย
ที่รัฐสภาตลอดทั้งปี 2024 มีการกล่าวถึงหลักฐานที่เปิดเผยโดยผู้ปกครองของเยาวชนที่ระบุว่าลูกของพวกเขามีพฤติกรรมทำร้ายตนเอง เนื่องจากถูกรังแกทางโซเชียลมีเดีย ในขณะเดียวกัน สื่อท้องถิ่นของออสเตรเลียก็สนับสนุนมาตรการควบคุมนี้ด้วย โดยหนังสือพิมพ์เจ้าใหญ่อย่าง นิวส์คอร์ป มีแคมเปญที่ชื่อว่า “ให้พวกเขาได้เป็นเด็ก”
อย่างไรก็ดี กฎหมายจำกัดอายุเยาวชนไม่ให้ใช้โซเชียลมีเดียอาจจะสั่นคลอนความสัมพันธ์ระหว่างออสเตรเลียกับสหรัฐ ซึ่งเป็นชาติพันธมิตรสำคัญ นายอีลอน มัสก์ เจ้าของแพลตฟอร์มเอ็กซ์กล่าวไม่นานมานี้ว่า กฎหมายนี้เป็นวิธีควบคุมไม่ให้ชาวออสเตรเลียทั้งหมดเข้าถึงอินเทอร์เน็ต อีกทั้ง ออสเตรเลียยังเป็นประเทศแรกที่บังคับบริษัทโซเชียลมีเดียต้องจ่ายเงินค่าลิขสิทธิ์แก่สื่อสำหรับการลงเนื้อหาบนโซเชียลมีเดียนั้น ๆ อีกด้วย
ทางด้านเมต้า บริษัทแม่ของเฟซบุ๊ก กล่าวว่า ทางบริษัทเคารพกฎหมายของออสเตรเลียและก็รู้สึกกังวลเกี่ยวกับกระบวนการบังคับใช้กฎหมายที่ปราศจากการพิจารณาหลักฐานอย่างเหมาะสม ขณะที่ในด้านสแนปแชทระบุว่า สแนปแชทจะปฏิบัติตามข้อกฎหมายของออสเตรเลีย และแสดงความกังวลในเรื่องหลักนิติบัญญัติเช่นกัน
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 29 พฤศจิกายน 2567