นับหนึ่งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMRs ค่าไฟจะถูกลงครึ่งหนึ่งจริงหรือไม่
โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ได้ถูก “ปัดฝุ่น” ขึ้นมาอีกครั้ง หลังการทำประชาพิจารณ์ ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan : PDP 2024) ฉบับใหม่ของประเทศถูกเผยแพร่ออกมา โดยระบุในช่วงปลายแผนจะมี โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก หรือ Small Modular Reactors (SMRs) จำนวน 2 โรง ขนาดกำลังการผลิตโรงละ 300 เมกะวัตต์ (MW) รวมกัน 600 MW มีกำหนดการเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในปี 2580 หรืออีก 13 ปีข้างหน้า หากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMRs สามารถเกิดขึ้นได้จริงในประเทศไทย
โดย “ประชาชาติธุรกิจ” ได้รับโอกาสสนทนากับ นายทิเดช เอี่ยมสาย รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
ตำนานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ :
จะแบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงแรกในปี 2510 หลังจากที่ประเทศไทยมีแนวคิดที่จะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยให้ กฟผ.ศึกษาถึงความเหมาะสมและเสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบโครงการ กำหนดให้ใช้เตาปฏิกรณ์แบบน้ำเดือด (BWR) ขนาด 600 MW ในปี 2513 สถานที่ตั้งอยู่ที่ อ่าวไผ่ จ.ชลบุรี และ กฟผ.เสนอให้เปิดประมูลในปี 2519 แต่ก็ไม่สำเร็จเพราะ เกิดการต่อต้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จากชุมชนในพื้นที่ ในประเด็นความเป็นห่วงเรื่องการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีและการขจัดกากนิวเคลียร์ จนไม่สามารถหาข้อยุติได้
ต่อมามีการค้นพบแหล่งเชื้อเพลิงที่จะใช้ในโรงไฟฟ้าถ่านหินแหล่งใหญ่ คือ แหล่งแม่เมาะ จ.ลำปาง ประกอบกับค้นพบก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ทำให้ กฟผ.หันไปก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์กับโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนที่ใช้ก๊าซขึ้นแทน จนมาถึงปี 2550 ถือเป็นช่วงที่ 2 ประเทศไทยมีการนำก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยขึ้นมาใช้อย่างมาก
มีผลทำให้โรงไฟฟ้าในประเทศต้องพึ่งพา “ก๊าซธรรมชาติ” เป็นเชื้อเพลิงสูงถึง 70% ประกอบกับราคาก๊าซในช่วงนั้นปรับสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน นับเป็นความเสี่ยงทางด้านพลังงานที่การผลิตไฟฟ้าต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติสูงเกินกว่าครึ่งหนึ่ง ทำให้เกิดแนวคิดที่จะนำโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กลับขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง โดย ครม.ได้บรรจุ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์จำนวน 2 โรง ไว้ในแผน PDP 2007 กำหนดไว้ว่า ในปี 2563 จะมีโรงไฟ้านิวเคลียร์ขนาด 2,000 MW 1 โรง และปี 2564 จำนวน 2,000 MW อีก 1 โรง รวมกำลังผลิตถึง 4,000 MW ที่ต้องเป็นขนาดใหญ่เพราะ จะทำให้ต้นทุนโรงไฟฟ้าต่ำลง
นั่นหมายความว่า ถ้าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 2 โรงนั้นเกิดขึ้นจริง ปัจจุบันประเทศไทยจะใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากปฏิกรณ์นิวเคลียร์ BWR ไปแล้ว แต่ก็มาเกิดเรื่องการระเบิดของโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะไดอิจิ ที่ญี่ปุ่น เสียก่อนในช่วงต้นปี 2554 มีผลทำให้รัฐบาลตัดสินใจ “ถอด” โครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่ออกจากแผน PDP 2018 ทั้ง ๆ ที่ช่วงนั้นมีความเห็นชอบให้จัดตั้ง สำนักพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ขึ้นมาในกระทรวงพลังงานแล้ว
มาถึงช่วงที่ 3 กระทรวงพลังงาน ได้มีการพิจารณาที่จะให้มี โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMRs) เข้ามาในแผน PDP 2024 เพื่อตอบสนองนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน Carbon Neutrality ในภาคการผลิตไฟฟ้าของประเทศที่จะต้องลดการปล่อยก๊าซ CO2 ลง จึงมีข้อเสนอที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบ SMRs ขึ้นในช่วงปลายแผน PDP 2024 หรือประมาณปี 2580 เหตุที่เป็นช่วงปลายแผน PDP ก็เพราะข้อเท็จจริงที่ว่า จะต้องลดหรือเลิกโรงไฟฟ้าก๊าซเพื่อลดการปล่อยก๊าซ CO2 ทำให้ช่วงปลายแผนมี Gap กำลังผลิตไฟฟ้าขาดอยู่ 200-300 MW ก็จะเอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMRs เข้ามาในระบบได้
ทำไมต้องเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMRs :
มีเหตุผล 3 ข้อ แม้ว่าโรงไฟฟ้า SMRs จะเป็นเทคโนโลยีใหม่ ก็คือ
1)การมีโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy หรือ RE) เพิ่มมากขึ้นในแผน PDP ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชม. ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าความมั่นคงประกบคู่กันไป ยิ่งเพิ่มโรงไฟฟ้า RE ก็ต้องเพิ่มโรงไฟฟ้ามั่นคงจากพลังงานฟอสซิลตามไปด้วย แต่เนื่องจากนโยบายจำเป็นต้องลดโรงไฟฟ้าฟอสซิลลง (Carbon Neutrality)
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบ SMRs จึงตอบโจทย์ ประกอบกับโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน RE ส่วนใหญ่มีขนาดกำลังผลิต 100-300 MW จึงเกิดการกระจุกตัวของไฟฟ้าในพื้นที่ ดังนั้นการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่ 2,000 MW จึงสู้โรงไฟฟ้า SMRs ขนาดเล็ก 300 MW ไม่ได้ ถือเป็นการตอบโจทย์เรื่องการเดินเครื่องโรงไฟฟ้า
2)การก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ต้องขนอุปกรณ์มาไว้หน้างานและนำมาเชื่อมต่อโดยคน ซึ่งงานจะสู้ระบบ Automatic ไม่ได้ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMRs จะตอบโจทย์กว่า ลดความผิดพลาดของงานเพราะ SMRs จะถูกติดตั้งมาจากโรงงาน แล้วยกมาเป็นตู้คอนเทนเนอร์เข้ามาติดตั้งในพื้นที่เลย ถือเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็กแบบสำเร็จรูป ก็ว่าได้
3)ความปลอดภัย เนื่องจากเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็กสามารถติดตั้งไว้ใต้ดิน หากเกิดอุบัติเหตุหรือเหตุฉุกเฉินก็จะมีระบบน้ำทิ้งตัวมาปิดเตาปฏิกรณ์ได้ทั้งหมด การอพยพคนจากพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าจะกระทบไม่ถึง 1 กม. หรือจากเดิมที่ต้องอพยพคนในรัศมีเกือบ 20 กม. หากเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาด 2,000 MW
มั่นใจในความปลอดภัย :
เนื่องจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMRs เป็นเทคโนโลยีใหม่ ขนาดนี้มีการก่อสร้างอยู่ใน 2 ประเทศคือ จีน กับ รัสเซีย โดยเฉพาะรัสเซียจะเป็นระบบเคลื่อนที่ติดตั้งอยู่บนเรือ ซึ่งพัฒนามาจากเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ หรือพัฒนาจาก MW น้อย ๆ 1-2 MW มาเป็น 100 MW ขนาดที่ SMRs ของจีนพัฒนาจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่มาเป็นขนาดเล็ก แต่ตอนนี้มีมากกว่า 18 ประเทศที่พัฒนาโรงไฟฟ้า SMRs ถึง 80 โมดูล เฉพาะของจีนกับรัสเซียจะเริ่มโหลดเชื้อเพลิงในปีหน้าแล้ว
ดังนั้นทุกโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์จะต้องผ่านมาตรฐานของ ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ซึ่งเป็นผู้กำหนด Guidline มีถึง 19 ขั้นตอนเพื่อรับรองความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยขั้นตอนสำคัญที่สุดก็คือ นโยบายของประเทศ (National Position) จะต้องถูกประกาศโดยรัฐบาลว่า ประเทศไทยจะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เสียก่อน รองลงมาก็เป็นเรื่องของบุคลากร กฎหมาย ความปลอดภัย การกำจัดกากกัมมันตรังสี
ในอดีตตอนที่ประเทศไทยมีโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาด 2,000 MW กฟผ.ได้ดำเนินการตาม Guidline เพื่อเสนอ IAEA ได้แล้วถึง 18 ข้อ ขาดเพียงข้อเดียวคือ นโยบายของรัฐบาล โครงการก็มาสะดุดลงเสียก่อน ส่วนคำถามที่ว่า ขั้นตอนไหนยากที่สุดนั้น ก็เห็นจะเป็นการ “ยอมรับ” ของชุมชนในสถานที่ตั้งของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ อันนี้จะเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของการมีหรือไม่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศ
ใครจะเป็นคนทำโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ :
ในประเด็นนี้ นายทิเดช รองผู้ว่าการ กฟผ.กล่าวว่า จะมี 3 ประเด็นที่จะต้องพิจารณา คือ 1) เงินลงทุนที่สูงมาก ข้อนี้ทั้ง กฟผ. หรือเอกชน มีความสามารถที่จะจัดหาเงินลงทุนได้ 2) บุคลากรในการบริหารจัดการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก ซึ่ง กฟผ.มีการจัดตั้งหน่วยงานในระดับ “กอง” ชื่อว่า กองประกันคุณภาพและพลังงานนิวเคลียร์ ขึ้นมารองรับไว้กว่า 10 ปีแล้ว โดยมีบุคลากรสำคัญถึง 20 คน ในการพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มาโดยตลอด
และ 3) รัฐบาลจะต้องควบคุมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้ ทั้งการเปิด-ปิดการเดินเครื่อง การขนส่งเชื้อเพลิง การจัดเก็บ เนื่องจากเป็นมิติของความมั่นคง หากสร้างขึ้นมาแล้ว แต่ควบคุมไม่ได้ IAEA สามารถสั่งปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้
ทั้ง 3 เกณฑ์จะเห็นได้ว่า กฟผ.มีความพร้อมในฐานะหน่วยงานที่ดูแลความมั่นคงด้านไฟฟ้าของประเทศ หากก่อสร้างโรงไฟฟ้า SMRs โรงแรกถือว่า มีความพร้อมที่สุด ส่วนโรงที่ 2-3 ต่อมาก็จะเปิดกว้างมากขึ้น เมื่อ IAEA เห็นความพร้อมของประเทศไทยแล้ว
ค่าไฟฟ้าจะถูกลงจริงหรือไม่ :
จากที่มีการกล่าวกันว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMRs จะทำให้ค่าไฟฟ้า “ถูกลงครึ่งหนึ่ง” หรือจาก 4 บาทกว่าในปัจจุบันเหลือ 2 บาทกว่า ๆ นั้น ในประเด็นนี้ นายทิเดชตั้งคำถามกลับมาว่า ถูกกว่าครึ่งหนึ่งนั้นเป็น “ครึ่งหนึ่งของอะไร” ของค่าไฟฟ้าวันนี้ หรือค่าไฟฟ้าในอีก 13 ปีข้างหน้า พร้อมกับอธิบายง่าย ๆ ว่า โครงสร้างค่าไฟฟ้าในปัจจุบันจะขึ้นอยู่กับ ราคาของเชื้อเพลิงโรงไฟฟ้าชีวมวล (RE) ประกบคู่กับราคาเชื้อเพลิงโรงไฟฟ้าก๊าซหรือฟอสซิลจับหารกัน
ข้อเท็จจริงในร่างแผน PDP ก็คือ การเพิ่มขึ้นของโรงไฟฟ้า RE ดังนั้นโรงไฟฟ้าความมั่นคงเชื้อเพลิงฟอสซิลก็จะต้องเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ประกอบกับต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าจากค่าเชื้อเพลิงจากโรงไฟฟ้า RE อยู่ที่ 4.94 บาท/หน่วย โรงไฟฟ้าก๊าซประมาณ 3.69 บาท/หน่วย ราคา Pool Gas อยู่ที่ 2.99 บาท/หน่วย “ค่าไฟฟ้าก็จะต้องสูงขึ้นเรื่อย ๆ” ประกอบกับราคาก๊าซมีความผันแปรสูง ค่าไฟฟ้าจึงมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี
แต่ถ้าเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMRs ค่าเชื้อเพลิงจากนิวเคลียร์จะไม่ผันผวน ถ้าประเมินราคาค่าเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่ X บาท ราคาเชื้อเพลิงก็จะถูก Fix ไว้ 60 ปีตลอดอายุของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ “ถือเป็นข้อดี” แต่เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีใหม่ “ราคา” ต้นทุนโรงไฟฟ้าจะสูงมาก “ค่าไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMRs จะถูกลงหรือแพงขึ้นขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่จะใช้
แต่ถ้าเทียบกัน ณ ปลายแผน PDP 2024 ระหว่างโรงไฟฟ้าก๊าซ กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMRs เชื่อว่า ราคาค่าไฟฟ้าจะใกล้เคียงกัน ค่าไฟฟ้า ณ ตอนนั้นจะไม่สูงไปกว่าโรงไฟฟ้าก๊าซ (ปัจจุบันต้นทุนการผลิตไฟฟ้าหน้าโรงไฟฟ้าก๊าซอยู่ที่ประมาณ 3.69 บาท/หน่วย) นั่นหมายความว่า ราคาค่าไฟฟ้าของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMRs อาจจะไม่ถูกลง ขึ้นอยู่กับการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งต่อไปจะมีความเป็น Commercial มากขึ้นจาก Scale โรงไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้านี้
ถามว่า ถ้าเทียบราคาค่าไฟโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงก๊าซกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMRs ณ ปัจจุบัน จะเป็นอย่างไร นายทิเดชกล่าวว่า ณ ปัจจุบันถ้ามีโรงไฟฟ้า SMRs เกิดขึ้นมาในประเทศไทยแล้ว ค่าไฟฟ้า SMRs จะ “แพงกว่า” โรงไฟฟ้าก๊าซแน่นอน เพราะหากลงทุนสร้างโรงไฟฟ้า SMRs ณ ตอนนี้เทียบกับการลงทุนโรงไฟฟ้า Combined ก๊าซที่กำลังการผลิตเท่ากัน ค่าลงทุนโรงไฟฟ้า SMRs จะ “แพงกว่าถึง 4 เท่า” ดังนั้น ต้นทุนค่าไฟฟ้าในการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าจะสูงกว่า แต่ถ้าพูดถึงค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าแล้ว โรงไฟฟ้า SMRs ก็จะนิ่งกว่า
สุดท้ายแล้ว หากจะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMRs อนาคตในอีก 13 ปี “ค่าไฟฟ้า” จะเป็นเท่าไหร่จึงขึ้นอยู่กับเงินลงทุน ค่าก่อสร้าง เชื้อเพลิง การเดินเครื่อง และการบำรุงรักษา ดังนั้น ค่าไฟฟ้าจะถูกลงหรือแพงขึ้น ณ ตอนนี้ “ผมก็ยังตอบไม่ได้” เพราะต้องเทียบ ณ วันที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) เป็นสำคัญ
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 30 พฤศจิกายน 2567