กิลเลียด จ่อไฟเขียว ขายวัคซีนต้าน HIV ใน 120 ประเทศยากจน
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า บริษัท กิลเลียด (Gilead) ผู้พัฒนายารักษาโรคติดเชื้อเอชไอวี (HIV) เตรียมที่จะอนุญาตให้จำหน่ายวัคซีน Lenacapavir ในรูปแบบที่มีราคาถูกลงและวางจำหน่ายแบบยาสามัญในประเทศยากจน 120 ประเทศซึ่งมีอัตราการติดเชื้อเอชไอวีสูง ที่ส่วนใหญ่อยู่ในทวีปแอฟริกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแคริบเบียน แต่ไม่ได้วางจำหน่ายในประเทศแถบลาตินอเมริกาเกือบทั้งหมด แม้ว่าประเทศดังกล่าวจะมีอัตราการติดเชื้อเอชไอวีที่ต่ำแต่จำนวนผู้ป่วยกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดความกังวลว่าโลกกำลังพลาดโอกาสสำคัญในการยุติการแพร่ระบาดของโรคนี้หรือไม่
การศึกษาพบว่าวัคซีนดังกล่าวมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มผู้หญิงได้ถึง 100% และสำหรับกลุ่มผู้ชายก็มีประสิทธิภาพดีรองลงมาเช่นกัน โดยวัคซีนดังกล่าวต้องมีการเข้ารับการฉีดปีละ 2 ครั้ง
วัคซีน Lenacapavir ถูกวางจำหน่ายในประเทศสหรัฐ แคนาดา และประเทศอื่นๆ แล้วในชื่อแบรนด์ Sunlenca เพื่อรักษาอาการติดเชื้อเอชไอวี แต่กิลเลียดมุ่งหวังที่จะได้รับการอนุญาตจากทางการให้มีการใช้วัคซีนดังกล่าวเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ถึงแม้ว่าจะมีวิธีการป้องกันการติดเชื้ออยู่หลายวิธี แต่บรรดาผู้เชี่ยวชาญมองว่ายาตัวนี้จะมีประโยชน์แก่กลุ่มคนชายขอบที่กลัวการเข้ารับการรักษาเอชไอวี อาทิ ชายรักร่วมเพศ คนขายบริการทางเพศ และผู้หญิงวัยสาว
กิลเลียดมุ่งมั่นที่จะช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงทางเลือกในการป้องกันและรักษาเอชไอวีได้ในพื้นที่ที่มีความต้องการยามากที่สุด โดยในบรรดา 120 ประเทศที่จะมีสิทธิ์ซื้อตัวยาดังกล่าวในเวอร์ชั่นที่เป็นยาสามัญ ยังรวมถึง 18 ประเทศที่ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในทวีปแอฟริกาที่มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีคิดเป็น 70% ของผู้ติดเชื้อทั้งหมดของโลก กิลเกลียดบอกอีกว่ากำลังหาหนทางที่ยา Lenacapavir จะเข้าถึงผู้ที่ต้องการวัคซีนได้อย่างเร็วที่สุดและมีประสิทธิภาพมากที่สุด
อย่างไรก็ตามก็มีกลุ่มรณรงค์ 15 กลุ่มในเปรู อาร์เจนตินา เอกวาดอร์ ชิลี กัวเตมาลา และโคลอมเบียได้เขียนจดหมายถึงบริษัทเมื่อวัน 28 พฤศจิกายน เพื่อขอให้มีการนำยาสามัญ Sunlenca มาใช้ในแถบลาตินอเมริกา โดยอ้างถึงความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงเครื่องมือป้องกันเอชไอวีใหม่ๆ ทั้งที่อัตราการติดเชื้อในแถบนี้เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ
ดร. คริส เบย์เรอร์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพโลกแห่งมหาวิทยาลัยดุ๊ก กล่าวว่าการมี Sunlenca จะเป็นประโยชน์อย่างมากในประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดในแอฟริกาและเอเชีย แต่อัตราการติดเชื้อเอชไอวีที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มต่างๆ รวมถึงกลุ่มชายรักร่วมเพศและกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ถือเป็น “ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข” ในลาตินอเมริกาเช่นเดียวกัน
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 3 ธันวาคา 2567