เชื้อเพลิงฟอสซิล vs พลังงานสะอาด อะไรคือความสมดุลด้านพลังงาน
ในช่วงที่โลกกำลังหันมาให้ความสำคัญกับการนำพลังงานสะอาดมาใช้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ระบบกักเก็บพลังงาน และพลังงานที่มาจากไฮโดรเจน เพื่อจะช่วยลดผลกระทบจากปัญหาโลกร้อนให้ได้มากที่สุด หลายคนอาจจะคิดว่าการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลอย่างน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจะมีความสำคัญลดลง แต่จากสถิติการใช้พลังงานแล้ว น้ำมันและก๊าซฯ ยังเป็นแหล่งพลังงานหลักของโลก โดยยังครองสัดส่วนกว่า 80% ของการใช้พลังงานทั่วโลก1
นั่นก็เพราะการผลิตน้ำมันและก๊าซฯ ในโลก มีมายาวนานกว่า 2 ศตวรรษ จนมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการขนส่งไปถึงผู้ใช้ สามารถผลิตและใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง จึงมีเสถียรภาพมากกว่าพลังงานสะอาด ซึ่งส่วนใหญ่มาจากพลังงานหมุนเวียน อย่าง ลม แสงอาทิตย์ และน้ำ แม้จะเป็นแหล่งพลังงานที่มีการปล่อยคาร์บอนน้อย ไปจนถึงไม่มีเลย
แต่ก็มีข้อจำกัดเรื่องความไม่สม่ำเสมอในการผลิต เพราะต้องขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและเวลา ข้อจำกัดด้านพื้นที่และภูมิประเทศ เพราะการติดตั้งโครงสร้างพื้นฐาน เช่น แผงโซลาร์เซลล์หรือกังหันลม ต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ และภูมิประเทศที่เอื้ออำนวยทั้งแดดและลมที่ต้องแรงมากเพียงพอ ยังไม่นับรวมข้อจำกัดในการจัดเก็บพลังงานไว้ใช้ในช่วงที่ไม่สามารถผลิตพลังงานได้
ด้วยเหตุผลข้างต้น นอกจากน้ำมันและก๊าซฯ จะยังเป็นแหล่งพลังงานที่มีเสถียรภาพมากกว่าพลังงานสะอาดแล้ว ยังเป็นเชื้อเพลิงที่คนส่วนใหญ่เข้าถึงการใช้งานได้ โดยไม่ต้องแบกภาระค่าครองชีพมากเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพลังงานนั้นเป็นเชื้อเพลิงตั้งต้นของการผลิตไฟฟ้า เราจึงยังไม่สามารถเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดได้ทั้งหมดในทันที และยังจำเป็นต้องพึ่งพาน้ำมันและก๊าซฯ เป็นพลังงานหลักต่อไปอีกระยะหนึ่ง
สิ่งที่กระทรวงพลังงานให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก คือ ความมั่นคงทางพลังงาน เพราะถ้าต้องการใช้พลังงานแต่เปิดไฟแล้วไฟไม่มา จะเป็นปัญหาใหญ่มากสำหรับภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม ซึ่งสถานการณ์ของประเทศไทยวันนี้ถือว่าเรายังมีเสถียรภาพทางพลังงาน
ถึงจะไม่ต้องลุ้นว่าเปิดไฟแล้วไฟจะติดไหม แต่ปัจจุบัน ไทยยังเป็นประเทศนำเข้าพลังงานมากกว่าส่งออก โดยนำเข้าถึง 74% ของพลังงานที่ใช้ทั้งหมด ดังนั้นสิ่งที่จะตามมาคือเราจะคุมราคาพลังงานได้ยากมาก ถ้าจะคุมราคาได้ เราจะต้องมีแหล่งพลังงานในประเทศมากขึ้น
ค่าไฟฟ้าเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งค่าไฟฟ้าจะถูกหรือแพง ปัจจัยที่มีส่วนสำคัญคือเชื้อเพลิงที่นำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งเชื้อเพลิงที่นำมาผลิตไฟฟ้าในไทยส่วนใหญ่มาจากก๊าซธรรมชาติ คิดเป็นประมาณ 60% ของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด รองลงมาคือ พลังงานสะอาด เช่นพลังงานหมุนเวียนจากแสงแดดและลม ประมาณ 26% ที่เหลือมาจากถ่านหินและลิกไนต์2
กระทรวงพลังงานตั้งเป้าที่จะเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดมาผลิตไฟฟ้าให้เพิ่มขึ้นเป็น 51% ภายในปี 2580 ขณะที่สัดส่วนการใช้ก๊าซฯ เพื่อผลิตไฟฟ้าจะอยู่ที่ 40% เท่ากับว่าเราต้องใช้เวลาอีกประมาณ 10 กว่าปี พลังงานสะอาดถึงจะกลายมาเป็นแหล่งเชื้อเพลิงหลักสำหรับผลิตไฟฟ้า แทนที่เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างก๊าซธรรมชาติ
แม้ว่าเรายังต้องใช้ก๊าซธรรมชาติมาผลิตไฟฟ้า แต่ก๊าซฯ นับเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สะอาดกว่าน้ำมันและถ่านหิน เพราะปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่า และยังเป็นแหล่งพลังงานหลักในกระบวนการผลิตพลังงานสะอาดบางประเภท เช่น เชื้อเพลิงไฮโดรเจน ก๊าซฯ จึงเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ยังมีความสำคัญในช่วงที่โลกกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด
ประเทศไทยเริ่มมีการสำรวจปิโตรเลียมในเชิงพาณิชย์มาตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 2510 ค้นพบทรัพยากรปิโตรเลียม ทั้งก๊าซฯ และน้ำมัน และนำขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ในประเทศเราเอง ซึ่งบริษัทไทยที่มีหน้าที่สำรวจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของประเทศ คือ ปตท.สผ. และยังมีบริษัทน้ำมันต่างชาติที่เข้ามาลงทุนและได้รับสัมปทานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมอีกหลายบริษัท
แม้จะสำรวจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในประเทศได้เอง แต่ก๊าซธรรมชาติที่ถูกนำมาใช้เป็นพลังงานในการผลิตไฟฟ้า ไม่ได้มีมากเพียงพอที่จะใช้ในการผลิตไฟฟ้าได้ทั้งหมด และนับวันก็ยิ่งลดน้อยลงไปจากการผลิตก๊าซฯ ที่มีมานานหลายสิบปี ทุกวันนี้เราพึ่งพิงก๊าซฯ จากแหล่งต่าง ๆ ในประเทศประมาณ 56% ที่เหลือจะต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ แบ่งเป็นการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ประมาณกว่า 30% และการนำเข้าก๊าซฯ จากประเทศเมียนมาอีกประมาณ 10%2 ประเด็นค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นในช่วงที่ผ่านเกิดจากการที่เราต้องนำเข้าแอลเอ็นจีมาเป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เนื่องจากการผลิตก๊าซฯ จากอ่าวไทยลดลง และจังหวะเวลานั้น ราคาแอลเอ็นจีในตลาดโลกก็ปรับตัวสูงขึ้นด้วย
จากสถานการณ์ข้างต้น หากประเทศไทยจะควบคุมราคาค่าไฟให้ได้มากขึ้น เราจะต้องมีแหล่งก๊าซธรรมชาติในประเทศมากขึ้น เพื่อผลิตก๊าซฯ เองให้ได้มากขึ้น และลดการนำเข้าก๊าซฯ จากต่างประเทศลง
นอกจากเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าแล้ว ก๊าซธรรมชาติยังถูกนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มจากการเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีกมากมาย ซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยตลอดระยะเวลาเกือบหกทศวรรษที่ผ่านมา การที่เราสามารถผลิตน้ำมันและก๊าซฯ ได้เองในประเทศ ได้สร้างรายได้จำนวนมากให้กับรัฐ ในรูปของค่าภาคหลวง ภาษีปิโตรเลียม และหากปีนั้น ๆ ราคาปิโตรเลียมสูงขึ้น หรือว่าแหล่งปิโตรเลียมที่ผลิตอยู่มีผลตอบแทนสูงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ รัฐยังสามารถเก็บเงินรายได้เพิ่มเติมที่เรียกว่าผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษได้อีกด้วย การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจึงเป็นแหล่งรายได้สำคัญที่ภาครัฐนำไปเป็นงบประมาณในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศ
ปี 2566 กระทรวงพลังงาน รายงานตัวเลขรายได้จากค่าภาคหลวงปิโตรเลียม ส่วนแบ่งกำไรของรัฐ เงินผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษจากผู้ประกอบการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทย รวมถึงรายได้อื่น ๆ ในปี 2566 รวมมูลค่าสูงถึง 76,270 ล้านบาท ส่วนภาษีเงินได้ปิโตรเลียมที่จัดเก็บโดยกระทรวงการคลังนั้นมีมูลค่า 44,165 ล้านบาท รวมทั้งหมดแล้ว ในปี 2566 รัฐมีรายได้จากธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมกว่า 120,000 ล้านบาท ลองคิดดูคร่าว ๆ ว่าเรามีการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมานานกว่า 50 ปี รายได้ที่นำส่งรัฐรวมกันตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาจะมากขนาดไหน
ที่ผ่านมาภาครัฐส่งเสริมให้มีการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ใหม่ ๆ ทั้งในอ่าวไทยและพื้นที่บนบก ส่วนพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา (Overlapping Claims Area – OCA) ซึ่งมีขนาด 26,000 ตารางกิโลเมตร ก็เชื่อว่ามีศักยภาพปิโตรเลียมปริมาณมากนั้น อาจจะต้องใช้ระยะเวลาอีกพอควรในการเจรจา แต่ถ้าได้ข้อยุติ บริเวณนี้จะเป็นแหล่งปิโตรเลียมที่สำคัญของประเทศที่จะรองรับการใช้พลังงานได้อีกยาวนาน
แม้ว่าเรายังต้องใช้น้ำมันและก๊าซฯ เป็นพลังงานหลัก แต่นโยบายของรัฐบาลเองก็พยายามส่งเสริมการลดการปล่อยคาร์บอน รวมทั้ง เพิ่มการใช้พลังงานสะอาด เพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อน ด้านผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมก็ต้องพยายามลดการปล่อยคาร์บอนด้วยวิธีการและเทคโนโลยีต่าง ๆ ซึ่งที่เห็นในขณะนี้ คือ หลายประเทศมีการนำ CCS ซึ่งเป็นการกักเก็บคาร์บอนในชั้นหินใต้ดินมาใช้ ในไทยก็เองก็เริ่มศึกษาเรื่องนี้ที่โครงการอาทิตย์ในอ่าวไทย โดย ปตท.สผ.
สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญและจำเป็นของการที่ยังต้องใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล รวมทั้ง ความพยายามเพื่อสร้างความสมดุลในการใช้พลังงานในช่วงที่เราต้องทยอยเปลี่ยนจากเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาด โดยที่ยังคงรักษาเสถียรภาพทางพลังงาน ไม่ให้เกิดการสะดุด ดูแลราคาให้เหมาะสม รวมทั้ง ดูแลภูมิอากาศของโลกที่เราอาศัยอยู่ไปพร้อม ๆ กัน
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 29 พฤศจิกายน 2567