คนเข้าเรียนน้อย วิทยาลัยในสหรัฐเสี่ยงปิดตัวมากขึ้น หวั่นนโยบายทรัมป์ซ้ำเติม
สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาในสหรัฐปิดตัวลงไปจำนวนมากในช่วงปีหลัง ๆ มานี้ เนื่องจากจำนวนคนเข้าเรียนน้อย ส่งผลต่อฐานะการเงินของสถาบันการศึกษา จนไปต่อไม่ไหวในที่สุด
ปัญหาคนเข้าเรียนน้อยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากจำนวนเด็กเกิดใหม่น้อยลงในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา และปัญหานี้มีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้น ทั้งจากปัจจัยเรื่องจำนวนประชากรในสหรัฐเอง หรือปัจจัยเรื่องค่านิยมที่เปลี่ยนไป ปัจจัยเรื่องค่าเล่าเรียนที่สูงขึ้น และจำนวนนักศึกษาต่างชาติที่อาจจะลดลงจากนโยบายเกี่ยวกับผู้อพยพของ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ที่กำลังจะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐในเร็วๆ นี้
27 ปี ปิดแล้ว 1,660 แห่ง :
มีข้อมูลตามการรายงานของบลูมเบิร์ก (Bloomberg) เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2024 ซึ่งยกมาจากรายงานผลการศึกษาวิจัยของธนาคารกลางสหรัฐสาขาฟิลาเดลเฟีย (Federal Reserve Bank of Philadelphia) ว่า ในช่วงปี 1996 ถึง 2023 มีวิทยาลัยปิดตัวลงทั้งหมด 1,660 แห่ง โดยส่วนใหญ่เป็นวิทยาลัยเอกชนที่แสวงหาผลกำไร ขณะที่วิทยาลัยรัฐบาลที่สอนหลักสูตร 4 ปีแทบจะไม่มีการปิดตัวลงเลย ส่วนวิทยาลัยเอกชนที่ไม่แสวงผลกำไรคิดเป็นสัดส่วน 7% ของจำนวนวิทยาลัยที่ปิดตัวลงในช่วงระยะเวลาดังกล่าว
การการณ์คาดที่ว่าจำนวนนักศึกษาจะลดลง ซึ่งเป็นผลจากอัตราการเกิดที่ลดลงในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ (วิกฤตการณ์การเงินโลกช่วงปี 2007-2009) ทำให้สถานศึกษาระดับวิทยาลัยตกอยู่ภายใต้ความกดดันในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
แนวโน้มดังกล่าวสะท้อนให้เห็นผ่านจำนวนนักศึกษาที่ลงทะเบียนในวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยในปี 2021 ที่ลดลงไป 15% เมื่อเทียบกับปี 2010
นอกเหนือไปจากปัจจัยเรื่องเด็กเกิดน้อยลงแล้ว ยังมีคนวัยเล่าเรียนจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่กำลังชั่งน้ำหนักคุณค่าของวุฒิปริญญาแบบเก่า ๆ เนื่องจากค่าเล่าเรียนสูงขึ้น และคนที่มีความจำเป็นที่ต้องกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาจากรัฐบาลเพื่อจ่ายค่าธรรมเนียมการศึกษาในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปีนี้ ก็ต้องเผชิญกับดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่สูงที่สุดในรอบ 15 ปีอีกด้วย
คณะนักวิจัยกล่าวว่า ผลกระทบจากการที่ประชากรลดลงอย่างรวดเร็วนั้น ถูกซ้ำเติมให้รุนแรงขึ้นโดยการที่อัตราการจบการศึกษาในสหรัฐต่ำลง และจำนวนคนที่ลงทะเบียนเรียนในระดับวิทยาลัยทันทีหลังเรียนจบมัธยมก็ลดลงด้วย
คาดแนวโน้มปิดตัวเพิ่มสูงอย่างมีนัยสำคัญ :
ผลการศึกษาวิจัยดังกล่าวของธนาคารกลางสหรัฐสาขาฟิลาเดลเฟียพบว่า จำนวนวิทยาลัยหรือสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาในสหรัฐที่ปิดตัวลงในแต่ละปีมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากปัญหาจำนวนนักศึกษาที่คาดว่าจะลดลง
ข้อค้นพบนี้มาจากงานวิจัยฉบับใหม่ที่นักวิจัยได้สร้างแบบจำลองเชิงคาดการณ์ถึงภาวะความเครียดทางการเงินของสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา โดยใช้หลายตัวชี้วัด อย่างเช่น รูปแบบการลงทะเบียนและการจัดหาบุคลากร แหล่งที่มาของรายได้ และข้อมูลสภาพคล่องทางการเงิน จากนั้น นักวิจัยจึงนำข้อมูลเหล่านั้นมาเปรียบเทียบกับแบบจำลองที่สร้างขึ้น เพื่อคาดการณ์ถึงจำนวนวิทยาลัยที่จะปิดตัวลงในอนาคต
ผลการศึกษาวิจัยกรณีเลวร้ายที่สุด (worst-case scenario) คาดว่า หากจำนวนนักศึกษาลดลงรวดเดียว 15% หรือเรียกว่า “ภาวะหน้าผาประชากร” (Demographic Cliff) จะมีวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาปิดตัวลงอีก 80 แห่ง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อนักเรียนมากกว่า 100,000 คน และพนักงานของสถาบันการศึกษากว่า 20,800 คน
แต่เป็นถ้ากรณีที่จำนวนนักศึกษาลดลง 15% โดยกระจายหรือค่อย ๆ ลดลงในเวลา 5 ปี จะมีวิทยาลัยปิดตัวลงเฉลี่ยปีละ 4.6 แห่ง รวมเป็น 23 แห่งในเวลา 5 ปี
ผลกระทบไม่น้อย :
รายงานการศึกษาดังกล่าวระบุว่า การสร้างแบบจำลองสถานการณ์เหล่านี้ขึ้นมา แสดงให้เห็นถึงสถานการณ์ล่อแหลมที่อาจเกิดขึ้นกับการศึกษาในระดับหลังมัธยมศึกษาหรือระดับวิทยาลัยในปีถัด ๆ ไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากภาวะ “หน้าผาประชากร” เกิดขึ้นในระดับปานกลางถึงระดับรุนแรง
รายงานระบุอีกว่า แม้ว่าตัวเลขคาดการณ์จำนวนสถาบันการศึกษาที่อาจปิดตัวลงนี้จะเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นไม่มาก เมื่อพิจารณาในภาพรวมทั้งประเทศ แต่ตัวเลขคาดการณ์ดังกล่าวกลับมีนัยสำคัญสำหรับบางพื้นที่ที่คาดว่าจะมีการปิดวิทยาลัย
แม้ว่าการคาดการณ์ถึงการปิดตัวลงของวิทยาลัยเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก เนื่องจากมีความซับซ้อนของโครงสร้างทางการเงินและมีข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูล แต่คณะนักวิจัยกล่าวว่า การคาดการณ์เรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญยิ่งขึ้น เพราะจะทำให้ทราบถึงอุปสรรคต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการศึกษาระดับสูง และทราบถึงขนาดของผลกระทบต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น ทั้งจำนวนนักศึกษาที่อาจได้รับผลกระทบ และผลกระทบต่อเนื่องที่อาจเกิดกับเศรษฐกิจในท้องถิ่นที่สถาบันการศึกษานั้น ๆ ตั้งอยู่ ซึ่งวิทยาลัยถือเป็นผู้จ้างงานรายใหญ่ในแต่ละพื้นที่
ทั้งนี้ โดยภาพรวมทั้งประเทศสหรัฐ การศึกษาในระดับวิทยาลัยหรืออุดมศึกษาสร้างรายได้สะพัดราว 700,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 24.03 ล้านล้านบาท) ต่อปี มีนักศึกษาลงทะเบียนราว ๆ 25 ล้านคน และมีการจ้างงานประมาณ 3 ล้านคน
หวั่นนโยบายทรัมป์ซ้ำเติมวิกฤต :
นอกจากปัจจัยเรื่องประชากรแล้ว นโยบายต่อต้านผู้อพยพของ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ผู้นำคนต่อไปของสหรัฐ ก็กำลังสร้างความหวาดหวั่นให้แก่บรรดาสถานศึกษาเพิ่มเติมอีก เพราะเมื่อครั้งที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรกก็เคยประกาศห้ามพลเมืองบางประเทศเข้าสหรัฐ รวมถึงระงับวีซ่านักเรียนและนักวิชาการด้วย
ดังที่มีการรายงานข่าวโดยนิกเคเอิ เอเชีย (Nikkei Asia) เมื่อวันที่ 5 ธันวาคมว่า มหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ในสหรัฐได้ออกคำเตือนถึงนักศึกษาต่างชาติให้ระมัดระวังในการเดินทางออกนอกสหรัฐและให้เดินทางกลับเข้าสหรัฐ ก่อนที่ทรัมป์จะเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม 2025
แม้แต่สถาบันการศึกษามีชื่อเสียงอันดับต้น ๆ ของประเทศหลายแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน และมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ก็ได้ออกคำแนะนำสำหรับนักเรียนและเจ้าหน้าที่ชาวต่างชาติในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเตือนว่ามีความเป็นไปได้ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงข้อบังคับการตรวจคนเข้าเมืองและสถานะวีซ่า รวมถึงการห้ามเดินทางเข้าประเทศ
แม้ว่าจนถึงขณะนี้ทรัมป์ยังไม่ได้เสนอการเปลี่ยนแปลงนโยบายใด ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อนักเรียนนักศึกษาต่างชาติที่ถือวีซ่านักเรียน แต่จุดยืนต่อต้านผู้อพยพของเขาและการให้คำมั่นว่าจะเนรเทศผู้อพยพจำนวนมากที่อยู่ในสหรัฐอย่างผิดกฎหมายกลับประเทศตั้งแต่วันแรกที่เข้ารับตำแหน่ง ทำให้สถาบันการศึกษาและนักเรียนนักศึกษาต่างชาติเกิดความไม่สบายใจ
ทั้งนี้ ข้อมูลจากการสำรวจวิทยาลัยเกือบ 3,000 แห่ง โดยสถาบันการศึกษานานาชาติ (Institute of International Education : IIE) เมื่อไม่นานนี้พบว่า มีนักศึกษาต่างชาติจำนวนกว่า 1.1 ล้านคนที่ศึกษาอยู่ในสหรัฐอเมริกาในปีการศึกษา 2023 โดยนักศึกษาชาวอินเดียมีจำนวนมากที่สุด รองลงมาคือชาวจีน และชาวเกาหลีใต้ ตามลำดับ
หากจำนวนนักศึกษาต่างชาติต้องลดน้อยลง ก็ยิ่งจะซ้ำเติมสถานการณ์ความยากลำบากที่สถานศึกษาสหรัฐกำลังเผชิญอยู่
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 8 ธันวาคม 2567