จีนผลิตแผงโซลาร์ล้นโลก จนบริษัทต้องเข้าโครงการวินัย ยึดโมเดล OPEC
ความอยู่รอดเป็นวาระสำคัญในปี 2025 สำหรับอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ของจีนที่ประสบปัญหาการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ล้นเกินความต้องการของตลาดโลกจนบริษัทโซลาร์เซลล์ต้องเข้าโครงการวินัยในตนเอง กำหนดโควตาการผลิตตามแนวทางของโอเปก
บลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานว่า อุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ของจีนหันพิจารณาบทเรียนของโอเปกเพื่อเป็นแนวทางในการอยู่รอด หลายบริษัทถูกจำกัดโควตาการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ในปี 2025 หลังจากประสบความยากลำบากจากการป้อนตลาดมากเกินความต้องการจนราคาตกต่ำ
บริษัทจีนระดับแนวหน้ากว่า 30 บริษัทลงทะเบียนในโครงการวินัยในตนเองในการประชุมประจำปีของสมาคมอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์แห่งประเทศจีน (China Photovoltaic Industry Association) เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ข้อตกลงที่จัดทำขึ้นตามแนวทางที่องค์กรของประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน หรือ Organization of Petroleum Exporting Countries (OPEC) ใช้บริหารจัดการอุปทานน้ำมัน บริษัทจะได้รับโควตาที่สามารถผลิตได้ในปีหน้า โดยคิดจากส่วนแบ่งตลาดและกำลังการผลิตตลอดจนดีมานด์ที่คาดการณ์ไว้
ข้อตกลงดังกล่าว เกิดขึ้นในช่วงที่อุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์จีนดิ้นรนต่อสู้กับการผลิตส่วนเกิน ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่สูงขึ้นและดีมานด์ที่ชะลอตัวลง หลายบริษัทเน้นมุ่งมั่นที่จะฝ่าฟันวิกฤตนี้ไปให้ได้ โดยเชื่อว่าอาจต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อยหนึ่งปีขึ้นไปกว่าที่กำไรจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นมา
ข้อตกลงนี้ถือเป็นการพลิกกลับอย่างรวดเร็วจากการแข่งขันที่ดุเดือดมาหลายปีแล้ว ซึ่งทำให้ภาคอุตสาหกรรมนี้ต้องทรุดตัวลง ขณะเดียวกันก็ลดราคาและยกระดับคุณภาพจนทำให้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานที่ถูกที่สุดและเติบโตเร็วที่สุด
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว งานใหญ่ 2 งานจัดขึ้นที่ประเทศจีน ได้แก่ BloombergNEF Summit ในนครเซี่ยงไฮ้ และ China Photovoltaic Industry Association’s ในเมืองอี๋ปิน มณฑลเสฉวน สองงานต่างเน้นย้ำว่าการหมดสิ้นหนทางจากปัญหากำลังการผลิตล้นเกินอยู่เบื้องหลังการลงนามข้อตกลงกำหนดโควตาดังกล่าว
“คำสำคัญสำหรับปีหน้าคือการอยู่รอด” ซิง กัวเฉียง หัวหน้าเจ้าหน้าที่ด้านเทคโนโลยีของบริษัททงเวย คัมปะนี (Tongwei Co.) กล่าวในงาน BloombergNEF Summit ในนครเซี่ยงไฮ้
สาเหตุของปัญหามาจากการสร้างโรงงานแผงโซลาร์ที่เริ่มในปี 2021 เร็วกว่าที่อุตสาหกรรมต้องการใช้นั้นนำไปสู่การผลิตล้นเกินจำนวนมหาศาล ซึ่งการผลิตกว่า 80% ของโลกเกิดขึ้นในจีน
ปัจจุบันมีกำลังการผลิตที่จะสร้างไฟฟ้ามากกว่า 1,100 จิกะวัตต์ต่อปีจากแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งไม่เพียงแต่เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าของปริมาณที่คาดว่าทั่วโลกจะสามารถติดตั้งได้ในปี 2024 เท่านั้น แต่ยังมากกว่าที่โลกต้องการใช้ไปจนถึงปี 2035
ในจีน พลังงานแสงอาทิตย์ไม่ได้เป็นเพียงอุตสาหกรรมเดียวที่ต้องต่อสู้กับปัญหากำลังการผลิตเกิน ซึ่งการเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมานำไปสู่การลงทุนมากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นโรงหลอมทองแดง ผู้ผลิตเหล็ก เป็นต้น
ความต้องการผลิตสินค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ช่วยกอบกู้สถานการณ์ได้ แต่ความต้องการนั้นก็ค่อย ๆ ลดลงไป
ตามการคาดการณ์ของ BloombergNEF ระบุว่า การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ทั่วโลกเพิ่มขึ้น 76% ในปี 2023 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 34% ในปีนี้ แต่การเติบโตจะชะลอตัวลงเหลือเพียง 8% ในปี 2025 อีกทั้งความตึงเครียดด้านการค้ายังเป็นปัจจัยหนึ่งที่ผลักดันให้บริษัทจีนตั้งโรงงานในประเทศต่าง ๆ อาทิ เช่น สหรัฐอเมริกา อินเดีย และอินโดนีเซีย เพื่อพยายามหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรที่เพิ่มขึ้น
กำลังการผลิตส่วนเกินทำให้บริษัทต่าง ๆ ต้องลดราคาสินค้าลง โดยในหลาย ๆ กรณีจะต่ำกว่าต้นทุนการผลิต บริษัทหลงจี กรีน เอเนอร์ยี เทคโนโลยี คัมปะนี ( Longi Green Energy Technology Co.) ซึ่งเป็นผู้ผลิตพลังงานแสงอาทิตย์รายใหญ่ที่สุดคาดว่าจะขาดทุนสุทธิเกือบ 1 พันล้านดอลลาร์ (ราว 33,000 ล้านบาท) ในปีนี้ หลังจากมีกำไรมากกว่า 1.7 พันล้านดอลลาร์ (ราว 57,000 ล้านบาท) ในปี 2023
ผู้บริหารส่วนใหญ่กล่าวว่าพวกเขาหวังว่าสถานการณ์จะดีขึ้นจนกว่าจะถึงครึ่งปีหลังของปี 2025 และกระทั่งบางคนมองในแง่ร้ายกว่านั้น
บริษัทซันเทค พาวเวอร์ โฮลดิ้งส (Suntech Power Holdings) และหยิงหลี่ กรีน เอเนอร์ยี โฮลดิ้ง คัมปะนี (Yingli Green Energy Holding Co.) เป็นผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์รายใหญ่ที่สุดของโลกในช่วงต้นทศวรรษปี 2010 แต่ทั้งสองบริษัทไม่รอดทั้งคู่
อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงนี้น่าจะช่วยหยุดการขาดทุนในภาคส่วนนี้และช่วยกระตุ้นราคาได้ แต่ตอนนี้เหลือเพียงคำถามว่าบริษัทต่าง ๆ จะดำเนินการตามแผนได้ดีเพียงใด
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 9 ธันวาคม 2567