จีนสร้าง "กำแพงสีเขียว" ปลูกต้นไม้ล้อมทะเลทราย ป้องกันเมืองกลายเป็นทราย
KEY POINTS :
* "กำแพงเขียวขนาดใหญ่" (Great Green Wall) เป็นโครงการที่รัฐบาลจีนใช้แก้ปัญหาผ่นดินกลายเป็นทะเลทราย และป้องกันพายุทรายพัดถล่มเมือง ด้วยการปลูกต้นไม้เป็นแนวป่าต้านลม (windbreaks)
* พื้นที่ป่าไม้ปกคลุมพื้นที่แห้งแล้งทางตอนเหนือของจีนเพิ่มขึ้นจาก 5% เป็น 14% ช่วยให้พื้นที่ทะเลทรายลดลงไป 0.4%
* ทางการจีนยังใช้มาตรการควบคุมทรายด้วยระบบพลังงานแสงอาทิตย์ ช่วยปกป้องระบบนิเวศน์ไป พร้อมกับปกป้องทางรถไฟและถนน อีกทั้งยังพยายามใช้ประโยชน์จากทะเลทรายให้มากขึ้น
“ทะเลทรายทากลามากัน” ในภูมิภาคซินเจียงตะวันตกเฉียงเหนือของจีน สร้างปัญหากลืนกินทั้งเมืองมาตั้งแต่อดีต และในปัจจุบันทรายเหล่านี้ก็ยังคงสร้างปัญหาให้แก่ชาวเมือง พายุทรายกลืนกินบ้านเรือน ปกคลุมพืชผลทางการเกษตร และปิดถนนจนไม่สามารถสัญจรได้
ประมาณ 85% ของทะเลทรายที่ขึ้นชื่อว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในจีนและใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกแห่งนี้ ถูกปกคลุมด้วยเนินทรายเคลื่อนตัว (shifting sand dunes) ทำให้ได้รับฉายาว่า “ทะเลแห่งความตาย” ยิ่งวันไหนที่มีลมแรง ทรายสามารถพัดไปไกลได้หลายพันไมล์ จนถึงกรุงปักกิ่งและเมืองอื่น ๆ ในภาคตะวันออก สร้างปัญหาโรคทางเดินหายใจ
“ลมและทรายที่ขอบทะเลทรายมีความรุนแรงมาก ส่วนเนินทรายก็ขยายออกไปด้านนอก” เล่ย เชียง นักวิจัยจากสถาบันนิเวศวิทยาและภูมิศาสตร์ซินเจียง ของสถาบันวิทยาศาสตร์จีน กล่าวกับเว็บไซต์ข่าวของรัฐ The Paper
รัฐบาลพยายามแก้ปัญหานี้ด้วยการปลูกต้นไม้เป็นแนวป่าต้านลม (windbreaks) โดยใช้เวลาปลูกต้นไม้รอบทะเลทรายที่ยาว 3,050 กม. ด้วยกว้างกว่า 1 กม. มานานหลายสิบปีแล้ว และเมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2567 ที่ผ่านมา ต้นไม้ล็อตสุดท้ายก็ถูกปลูกในเขตยูเทียนทางใต้ของทะเลทราย เจ้าหน้าที่กล่าวว่าในขณะที่ทะเลทรายได้ถูกต้นไม้ล้อมรอบโดยสมบูรณ์แล้ว เขตป่าความยาว 2,761 กม. ได้เชื่อมต่อโอเอซิสที่กระจัดกระจายทั่วซินเจียง
เหลือพื้นที่อีกประมาณ 285 กม. ทอดผ่านพื้นที่ตามแนวขอบด้านใต้ของทะเลทรายที่ต้องปลูกป่าให้เสร็จ แต่จุดนี้ถือเป็นจุดอันตรายจากลมและทรายที่รุนแรงที่สุด โครงการกำแพงเขียวขนาดใหญ่มีกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2593
โครงการนี้เป็นหนึ่งในโครงการ “กำแพงเขียวขนาดใหญ่” (Great Green Wall) หรือ 3 แนวป่าต้นลมแห่งภาคเหนือ (North Shelterbelt Three) ที่รัฐบาลจีนใช้แก้ปัญหาการสูญเสียที่ดินกว่า 1,500 ตร.กม.ในช่วงปี 1970 จากการกลายเป็นทะเลทราย ซึ่งมีสาเหตุมาจากการตัดไม้ทำลายป่าและการปล่อยให้สัตว์แทะเล็มหญ้าในทุ่งหญ้ามากเกินไป (overgrazing)
ทางการจีนระบุว่าโครงการนี้ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งมาก นับตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการ พื้นที่ป่าไม้ปกคลุมพื้นที่แห้งแล้งทางตอนเหนือของจีนเพิ่มขึ้นจาก 5% เป็น 14% ต้นไม้ใหม่ที่ปลูกเพิ่มสามารถปกป้องพื้นที่เกษตรกรรมมากกว่า 143 ล้านไร่ จากทรายทะเลทราย
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จีนมีพื้นที่ทะเลทรายลดลงไป 0.4% จาก 27.2% เป็น 26.8% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากโครงการนี้ และมาจากฝนที่ตกมากขึ้นทางตอนเหนือของจีน (การศึกษาหลายชิ้นระบุว่าการปลูกป่ามีผลน้อยกว่าด้วยซ้ำ)
ขณะที่ นักวิจารณ์ตั้งคำถามว่ากำแพงสีเขียวยั่งยืนแค่ไหน เพราะเจ้าหน้าที่ต้องเร่งปลูกต้นไม้ตามเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้ ทั้งที่ต้นไม้หลายชนิดที่นำมาปลูกไม่เหมาะกับสภาพอากาศแห้งแล้งทางตอนเหนือของจีน จึงทำให้ต้นไม้ไม่โตหรือตายอย่างรวดเร็ว บางส่วนก็ปลูกใกล้กันเกินไป จนแหล่งน้ำใต้ดินแห้งเหือดและมีแนวโน้มว่าจะกลายเป็นทะเลทราย
ส่วนเกษตรกรไม่ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้อย่างเต็มที่ โดยพวกเขาไม่สามารถปลูกพืชบนที่ดินที่จัดไว้สำหรับโครงการได้ เมื่อปี 2560 เกษตรกรในมณฑลกานซู่ถูกกล่าวหาว่าตัดต้นไม้ของโครงการ เพื่อนำพื้นที่มาปลูกองุ่น
เจ้าหน้าที่จีนก็ดูเหมือนจะเรียนรู้จากความผิดพลาดของตนเอง ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา พวกเขาพยายามสร้างกำแพงเขียวด้วยวิธีที่ซับซ้อนมากขึ้น โดยปลูกต้นไม้ ผสมกับพุ่มไม้และหญ้าชนิดต่าง ๆ เช่น ต้นพอปลาร์ทะเลทราย ต้นวิลโลว์แดง ต้นแซกซอล และไฮอะซินท์ทะเลทราย อีกทั้งปล่อยให้เกษตรกรปลูกต้นไม้ที่ให้ผลกำไรมากกว่า เช่น ต้นไม้ที่ออกผลอินทผลัมและวอลนัทเสริมอีกด้วย
เพื่อสร้างความหลากหลายให้กับพื้นที่ป่าและเข้ากับระบบนิเวศน์มากขึ้น เมืองเหอเถียนส่งเสริมให้ปลูกพันธุ์พืชมากกว่า 20 พันธุ์ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจและเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในท้องถิ่น รวมถึงสมุนไพรจีนและอาหารสัตว์ ความคิดริเริ่มนี้ช่วยให้เกษตรกรเพิ่มรายได้ผ่านการควบคุมทะเลทราย ปัจจุบันมีการทดสอบพันธุ์พืชมากกว่า 30 พันธุ์สำหรับการเพาะปลูกในท้องที่
เมื่อไม่นานนี้ สีจิ้นผิง ผู้นำจีน ได้ประชุมกับเจ้าหน้าที่ในเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน เพื่อหาหารือถึงความท้าทายที่โครงการกำแพงสีเขียวต้องเผชิญ หลังจากพายุทรายพัดถล่มกรุงปักกิ่งเพิ่มขึ้น กระตุ้นให้เกิดการถกเถียงเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการปลูกป่า
โดยเขาบอกกับเจ้าหน้าที่ว่า การเอาชนะทะเลทรายจะเป็นเรื่อง “ยากลำบากและไม่แน่นอน” เหมือนกับเข็นครกขึ้นภูเขา
มาตรการกำแพงสีเขียวถูกนำไปใช้ทั่วโลก เพื่อต่อสู้กับการกลายเป็นทะเลทราย และการขยายตัวของทะเลทราย เช่น โครงการกำแพงสีเขียวขนาดใหญ่ ซึ่งทอดยาว 8,000 กม. ข้ามทะเลทรายซาฮาราในแอฟริกา
นอกจากการปลูกป่าแล้ว ทางการจีนยังใช้มาตรการควบคุมทรายด้วยระบบพลังงานแสงอาทิตย์ เช่น แผงโซลาร์เซลล์ จะช่วยปกป้องระบบนิเวศน์ไปพร้อมกับปกป้องทางรถไฟและถนน อีกทั้งยังพยายามใช้ประโยชน์จากทะเลทรายให้มากขึ้น
ในปี 2565 เปิดบริการทางรถไฟเหอเถียน-รั่วเชียง เส้นทางรถไฟใหม่ที่วิ่งผ่าทะเลทรายความยาว 2,712 กม. ถือเป็นเส้นทางเดินเรือรอบทะเลทรายแห่งแรกของโลก และปัจจุบันเชื่อมโยงเมืองต่าง ๆ รอบทากลามากัน ใช้ขนส่งแร่ธาตุและสินค้าพิเศษ เช่น วอลนัทและอินทผลัมแดงไปยังส่วนอื่น ๆ ของจีน
ขณะที่ บริษัท China Three Gorges Corporation ประกาศแผนการสร้างโครงการพลังงานใหม่ในทากลามากัน เพื่อผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ 8.5 กิกะวัตต์ และพลังงานลม 4 กิกะวัตต์ คาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จภายใน 4 ปี และจะเสริมโครงการกักเก็บพลังงานและโรงไฟฟ้าถ่านหิน
ซินเจียงมีแหล่งพลังงานสะอาดมากมาย รวมถึงพลังงานแสงอาทิตย์และลม และในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ โดยเป็นเมืองอันดับ 1 ในจีน ที่มีกำลังการผลิตพลังงานสะอาด
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 10 ธันวาคม 2567