แผ่นดินไหวสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เบื้องต้นเหตุการณ์แผ่นดินไหวมีความสูญเสียอาจคิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 แผ่นดินไหว 8.2 ริกเตอร์ ศูนย์กลางที่เมืองสะกาย เมียนมา ทำให้ประเทศไทยประสบเหตุการณ์แผ่นดินไหวและแรงสั่นสะเทือนรุนแรงในหลายเมือง โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งส่งผลให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิต ทรัพย์สิน อันประเมินค่าไม่ได้ สำหรับผลกระทบทางเศรษฐกิจนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในเบื้องต้นความสูญเสียที่เกิดขึ้นอาจคิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท
หลักๆ มาจากการหยุดชะงักหรือเลื่อนออกไปของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาคการบริการในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล หัวเมืองหลักอย่างเช่นเชียงใหม่ เป็นต้น ทั้งงานอีเวนท์ ร้านอาหาร ค้าปลีก การคมนาคมขนส่ง ฯลฯ รวมถึงกำลังซื้อที่อาจลดลง เนื่องจากธุรกิจและครัวเรือนจะต้องโยกกระแสเงินสด/รายได้ ไปใช้เพื่อการตรวจสอบความเสียหายและซ่อมแซมอาคาร ทั้งนี้ หากรวมความเสียหายต่ออาคาร ทรัพย์สิน การทรุดตัว/การสั่นสะเทือนของอาคารบางแห่งเพิ่มเติม รวมถึงการซ่อมแซมและการเคลมประกันหลังจากนี้ ผลกระทบจะมากกว่านี้

ส่วนผลต่อภาคธุรกิจ เรามองว่า แม้การซ่อมแซมฟื้นฟูความเสียหาย และความต้องการในการหาที่พักสำรอง จะทำให้การก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง ที่พักแนวราบ ได้รับอานิสงส์ แต่ผลกระทบด้านลบคงจะมีต่อยอดขายและการโอนกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียมในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่อาจช้าลงในบางโครงการ อีกทั้งความต้องการเช่า (ไม่ต้องการเป็นเจ้าของ) คงจะมีมากขึ้น
ขณะที่ จากข้อมูล REIC พบว่า จำนวนอาคารชุดสะสมรอขายในกรุงเทพฯ อยู่ที่กว่า 6.5 หมื่นหน่วย มูลค่า 3.75 แสนล้านบาท ด้านตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทย เป็นอีกกลุ่มที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในระยะสั้นตามความเชื่อมั่นต่อการเดินทางและการหาที่พักในพื้นที่ที่เกิดความเสียหาย ขณะที่โรงแรมในกรุงเทพฯส่วนใหญ่เป็นอาคารสูง
ทั้งนี้ ผลกระทบต่อ GDP จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวประเมินเบื้องต้นอยู่ที่ -0.06% ซึ่งทำให้ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2568 มีโอกาสปรับลดลงต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 2.4%
จากผลกระทบสถานการณ์แผ่นดินไหวประกอบกับความเสี่ยงสงครามการค้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า กนง. มีโอกาสสูงขึ้นที่จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเร็วขึ้นกว่าเดิมที่คาดว่าจะปรับลดในช่วงครึ่งหลังของปี มาเป็นรอบการประชุมในเดือนเมษายนนี้ ในขณะที่ กนง. มีโอกาสที่จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมอีกอย่างน้อย 1 ครั้งในช่วงที่เหลือของปี 2568 ท่ามกลางช่องว่างของนโยบาย (policy space) ที่ลดลง
ที่มา ppt online
วันที่ 31 มีนาคม 2568