เปิดเอกสารทำเนียบขาว ล็อกเป้า "ส่งออกไทย"
2 เมษายน ณ สวนกุหลาบทำเนียบขาว (White House Rose Garden) คือ กำหนดการ และสถานที่ ๆ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะประกาศเปิดฉากสงครามการค้าเต็มรูปแบบ โดยใช้มาตรการภาษีต่างตอบแทน (Reciprocal Tariff) เล่นงานประเทศคู่ค้าที่สหรัฐเห็นว่าปฎิบัติต่อสหรัฐอย่างไม่เป็นธรรม

คู่มือใน “ชี้เป้า” คือเอกสารของทำเนียบขาวที่มีชื่อว่า กฎหมายภาษีต่างตอบแทนแห่งสหรัฐ : การประมาณการผลกระทบต่อการจ้างงานและการขาดดุลการค้า (The United States Reciprocal Trade Act : Estimated Job & Trade Deficit Effects) ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานนโยบายการค้าและอุตสาหกรรมแห่งทำเนียบขาว (White House Office of Trade and Manufacturing Policy) ตั้งแต่ปี 2019 อันเป็นปีที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก
เอกสารชุดนี้ ถูกกล่าวถึง โดย ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในการกล่าวปาฐกถาพิเศษ “NEXT MOVE Thailand” ในงานสัมมนา “Prachachat Forum : NEXT MOVE Thailand 2025” จัดโดย ‘ประชาชาติธุรกิจ’ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยระบุว่ามีชื่อประเทศไทยอยู่ในเอกสารชิ้นนี้ในหลาย ๆ รูปแบบ สาระสำคัญคือสหรัฐได้มีการคำนวณการตอบโต้โดยใช้ข้อมูลและแบบจำลองไว้ก่อนแล้วว่าจะดำเนินการอย่างไรกับประเทศไทยได้บ้าง
ข้อมูลในเอกสารจัดให้ประเทศไทยอยู่ในกลุ่ม “ผู้นำประเทศที่มีการเรียกเก็บภาษีแบบไม่ถ้อยทีถ้อยอาศัย” คำนี้ใช้เรียกประเทศที่เรียกเก็บภาษีจากสินค้านำเข้าของสหรัฐในอัตราที่สูงกว่าที่สหรัฐเรียกเก็บจากสินค้านำเข้าของประเทศนั้น ๆ โดยไม่มีความเท่าเทียมหรือการตอบแทนกันทางการค้า จากข้อมูลตามตาราง ประเทศไทยเก็บภาษีศุลกากรสูงกว่าสหรัฐใน 2,881 รายการสินค้า คิดเป็น 55% ของรายการสินค้าทั้งหมดที่มีการเปรียบเทียบ ส่วนสหรัฐเก็บภาษีสูงกว่าไทย 1,407 รายการสินค้า คิดเป็น 27% และมี 917 รายการสินค้า (18%) ที่ทั้งสองประเทศเก็บภาษีในอัตราเท่ากัน


พร้อมทั้งแสดงแผนภาพขนาดของการขาดดุลการค้าทวิภาคีของสหรัฐเทียบกับความแตกต่างในอัตราภาษีเฉลี่ยที่ใช้สำหรับเจ็ดประเทศชั้นนำในกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดที่สหรัฐมีการขาดดุลการค้าอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย ไต้หวัน ไทย และเวียดนาม บวกกับ 28 ประเทศของสหภาพยุโรป คิดเป็น 47.6% ของการค้ารวมของสหรัฐและ 88.6% ของการขาดดุลการค้าสินค้าของสหรัฐ แกนตั้งวัดความแตกต่างในอัตราภาษีเฉลี่ยที่ใช้ระหว่างคู่ค้าแต่ละรายที่ระบุกับสหรัฐ ในขณะที่แกนนอนวัดขนาดของการขาดดุลการค้า
เห็นได้ว่าในโซนสีแดงของภาพ จีนมีการขาดดุลการค้าทวิภาคีที่ใหญ่ที่สุดโดยมีส่วนต่างมาก ในขณะที่อินเดียมีความแตกต่างของอัตราภาษีที่ใหญ่ที่สุด ในโซนสีเหลือง สหภาพยุโรปมีการขาดดุลการค้าทวิภาคีใหญ่เป็นอันดับสอง ในขณะที่ไทย ไต้หวัน และเวียดนามมีความแตกต่างของอัตราภาษีที่สูงเป็นพิเศษถูกจัดอยู่ในโซนเหลือง ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างแบบจำลองฉากทัศน์สำหรับคู่ค้า แต่ละรายในโซนสีแดงและสีเหลือง โดยกรณีประเทศไทย ถูกกำหนดเป้าหมายการจัดการ 2 ฉากทัศน์
ฉากทัศน์ที่ 1 (Scenario One) :
หากประเทศไทยลดภาษีนำเข้าลงมาเท่ากับระดับของสหรัฐ ในกรณีนี้ การขาดดุลการค้าระหว่างสหรัฐกับไทยจะลดลง 3.2 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็น 17% ของการขาดดุลการค้าทั้งหมดในปี 2018
ฉากทัศน์ที่ 2 (Scenario Two) :
หากประเทศไทยไม่ยอมลดภาษี และสหรัฐตัดสินใจขึ้นภาษีให้เท่ากับระดับของไทยในกรณีนี้ การขาดดุลการค้าระหว่างสหรัฐกับไทยจะลดลงมากกว่า คือ 6.4 พันล้านดอลลาร์คิดเป็น 34% ของการขาดดุลการค้าทั้งหมดในปี 2018
ในทัศนะของ ดร.ศุภวุฒิ เห็นว่าแนวโน้มน่าจะเป็นฉากทัศน์ที่ 2 เนื่องจากแนวทางนี้จะสร้างรายได้ให้สหรัฐ มากกว่า ทำให้สามารถนำรายได้จากภาษีที่เพิ่มขึ้นมาช่วยลดการขาดดุลงบประมาณของสหรัฐ”

การตัดสินใจขั้นสุดท้ายคงอยู่ที่ ประธานาธิบดีทรัมป์ ที่จะแถลงมาตรการประวัติศาสตร์นี้ ในวันที่ 2 เมษายน ที่สวนกุหลาบทำเนียบขาว (White House Rose Garden) ซึ่งเป็นสถานที่จัดพิธีการสำคัญของทำเนียบขาว เช่น การแถลงข่าว การต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง รวมถึงประธานาธิบดี ใช้พื้นที่นี้ในการลงนามกฎหมายสำคัญและจัดงานรัฐพิธีต่าง ๆ ซึ่งทรัมป์ขนานนามอีเวนต์นี้ว่า “วันปลดแอก” (Liberation Day) ในขณะที่ผู้นำในประเทศอื่น ๆ นักธุรกิจ และนักวิเคราะห์มองว่าน่าจะเป็น “วันสิ้นโลก”(Judgement Day)

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 1 เมษายน 2568