5 เหตุผลที่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจจีนกำลังแย่
เศรษฐกิจจีนกำลังชะลอตัวลง จากผลพวงการบังคับใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ที่เข้มงวด ประกอบกับอุปสงค์โลกที่ลดต่ำลง
ตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาส 3 จะเปิดเผยออกมาในสัปดาห์หน้า ซึ่งหากผลออกมาว่าเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงจริง ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยได้
รัฐบาลจีนตั้งเป้าหมายอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ 5.5% แต่จากสถานการณ์ในปัจจุบัน ดูจะเป็นไปได้ยากในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์หลายคน แม้ว่าจีนจะหลีกเลี่ยงภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจได้สำเร็จในไตรมาสเดือน เม.ย. ถึง มิ.ย. ก็ตาม
แม้จีนจะยังไม่ต้องสู้กับอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูง เหมือนในสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร แต่จีนก็เผชิญปัญหาอื่นมากมาย อาทิ โรงงานต่าง ๆ มีลูกค้าที่เข้ามาซื้อผลิตภัณฑ์ลดลงทั้งลูกค้าจากในและต่างประเทศ ขณะที่ความตึงเครียดระหว่างจีนและมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอื่น ๆ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ก็กระทบต่อภาพลักษณ์เศรษฐกิจจีนเช่นกัน
เงินหยวนในเวลานี้ กำลังค่อย ๆ อ่อนตัวลง ใกล้ถึงจุดต่ำสุดในรอบหลายสิบปี เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งค่าเงินหยวนที่ลดต่ำ ทำให้นักลงทุนวิตก และสร้างความไม่แน่นอนในตลาดเงิน อีกทั้งยังทำให้ธนาคารกลางจีนอัดฉีดเงินเข้าเศรษฐกิจได้ลำบาก
สถานการณ์เหล่านี้ เกิดขึ้นในห้วงเวลาที่เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมืองสำคัญของจีน ห้วงเวลาที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน เตรียมขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นครั้งที่ 3 ในการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนที่จะเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 16 ต.ค. นี้
จีนทำพลาดตรงไหน นี่คือ 5 เหตุผลที่ สุรันจนา เทวารี ผู้สื่อข่าวสายธุรกิจเอเชียของบีบีซี วิเคราะห์และรวบรวมไว้
โควิดเป็นศูนย์สร้างความเสียหายมหาศาล :
โควิดเป็นศูนย์ ทำให้เมื่อพบคลัสเตอร์ผู้ป่วยโควิด รัฐบาลจะสั่งล็อกดาวน์อย่างรวดเร็ว แต่การล็อกดาวน์เหล่านี้ รวมถึงในแหล่งผลิตอย่างเซินเจิ้นและเทียนจิน ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในภาพรวม
ประชาชนเองใช้จ่ายเงินกับอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงซื้อสินค้าปลีก และท่องเที่ยวลดลง เพื่อประหยัดเงิน ยิ่งเพิ่มแรงกดดันต่ออุตสาหกรรมบริการอย่างหนัก
ในแง่ของภาคการผลิต โรงงานต่าง ๆ เริ่มกลับมามีกิจกรรมเพิ่มขึ้นแล้วในเดือน ก.ย. ตามตัวเลขของกรมสถิติแห่งชาติ ซึ่งอาจเป็นผลจากการที่รัฐบาลจีนใช้เงินมากขึ้นกับโครงสร้างพื้นฐาน
แต่สองเดือนก่อนหน้านั้น ภาคการผลิตของจีนไม่ขยายตัวเลย ซึ่งเมื่อการผลิตหยุดชะงัก ปริมาณสินค้าก็ลดลง รายการสั่งสินค้าก็น้อยลง เช่นเดียวกับการจ้างงาน ซ้ำร้ายอุปสงค์จากประเทศอย่างสหรัฐฯ ลดลงต่อเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่สูง อัตราเงินเฟ้อที่ยังไม่ลดลง และสงครามในยูเครน
ผู้เชี่ยวชาญเห็นพ้องว่า รัฐบาลจีนดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากกว่านี้ แต่ตราบใดที่ยังยึดหลักโควิดเป็นศูนย์อยู่ สิ่งที่ทำได้ในตอนนี้ก็ยังไม่มาก หากโควิดยังไม่สิ้นสุด
“ไม่มีประโยชน์ที่จะอัดฉีดเงินเข้าเศรษฐกิจ ถ้าธุรกิจขยายตัวไม่ได้ หรือคนใช้จ่ายเงินไม่ได้” ลุยส์ คูอิจส์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์แผนกเอเชีย ของเอสแอนพี โกลบอล เรตติงส์ กล่าว
รัฐบาลทำไม่มากพอ :
รัฐบาลจีนพยายามเข้ามาแก้ปัญหาแล้ว โดยเมื่อเดือน ส.ค. ได้ประกาศทุ่มเงิน 1 ล้านล้านหยวน เพื่อช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็ก โครงสร้างพื้นฐาน และอสังหาริมทรัพย์
แต่นักวิเคราะห์มองว่า รัฐบาลจีนดำเนินมาตรการได้มากกว่านี้ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย ที่นำไปสู่เป้าหมายการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และสร้างงาน อาจเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานให้มากขึ้น ลดเงื่อนไขการกู้ยืมเงินสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อบ้าน นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และรัฐบาลท้องถิ่น รวมถึงการลดหย่อนภาษีให้ครัวเรือน
“มาตรการของรัฐบาลต่อเศรษฐกิจที่ซบเซา ถือว่ายังไม่เข้มข้นมากพอ เมื่อเทียบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในอดีต” คูอิจส์ กล่าว
ตลาดบ้านจีนกำลังวิกฤต :
กิจกรรมที่ลดลงในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงความรู้สึกเชิงลบต่อธุรกิจค้าบ้าน ทำให้อัตราการเจริญเติบโตชะลอตัวลงเช่นกัน
ปัจจัยนี้ กระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง เพราะอสังหาริมทรัพย์และอุตสาหกรรมอื่น ๆ คิดเป็น 1 ใน 3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี
“เมื่อความเชื่อมั่นในตลาดบ้านลดต่ำ ประชาชนก็คลางแคลงใจต่อเศรษฐกิจในภาพรวมไปด้วย” คูอิจส์ วิเคราะห์
ตอนนี้ผู้ซื้อบ้านเริ่มปฏิเสธไม่ผ่อนต่อในโครงการบ้านที่กำลังสร้างอยู่ และกังวลว่าบ้านของพวกเขาจะสร้างไม่เสร็จ ส่วนอุปสงค์ความต้องการบ้านแห่งใหม่ ๆ ก็ลดลง ซึ่งทำให้การนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ที่ใช้ในการก่อสร้างลดลงตามไปด้วย
แม้รัฐบาลจีนจะพยายามกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ แต่ราคาบ้านในหลายสิบเมืองทั่วประเทศ ได้ลดต่ำลงไปแล้วกว่า 20% ในช่วงปีที่ผ่านมา
เมื่อนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เผชิญแรงกดดันเช่นนี้ นักวิเคราะห์มองว่า ทางการต้องทำมากกว่านี้ เพื่อดึงความเชื่อมั่นให้กลับมาในตลาดอสังหาฯ
สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงยิ่งทำให้สถานการณ์ยิ่งแย่ :
สภาพอากาศที่รุนแรงเริ่มส่งผลกระทบระยะยาวต่ออุตสาหกรรมต่าง ๆ ของจีนแล้ว
ช่วงเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา มณฑลเสฉวน ทางตะวันตกเฉียงใต้ และเทศบาลนครฉงชิ่ง ต้องเผชิญกับคลื่นความร้อน ตามด้วยภัยแล้ง
เมื่อความต้องการใช้เครื่องปรับอากาศพุ่งสูงขึ้น ทำให้ระบบไฟฟ้ารับภาระหนัก ทั้งที่ปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้ก็แทบไม่เพียงพออยู่แล้ว ในภูมิภาคที่พึ่งพาไฟฟ้าพลังน้ำเป็นหลัก
โรงงาน รวมถึงของบริษัทฟ็อกซ์คอนน์ ที่ผลิตไอโฟนให้แอปเปิล และเทสลา ต้องลดชั่วโมงการทำงานลง หรือระงับการผลิตไปช่วงหนึ่ง
กรมสถิติแห่งชาติของจีนระบุว่า เมื่อเดือน ส.ค. ผลกำไรของอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า ลดลงมากกว่า 80% ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2022 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว จนท้ายสุดรัฐบาลจีนต้องเข้ามาอุ้ม ด้วยเงินช่วยเหลือหลายหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่บริษัทพลังงาน และภาคการเกษตรด้วย
ยักษ์สายเทคจีนสูญนักลงทุน :
ปัจจัยที่ยิ่งซ้ำเติมให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก คือ การกวาดล้างบริษัทด้านเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ในจีน ที่ดำเนินมานานกว่า 2 ปีแล้ว ส่งผลให้บริษัทอย่าง เทนเซนต์ และ อาลีบาบา รายงานตัวเลขรายได้ที่ลดลงเป็นครั้งแรกในช่วงหลายไตรมาส โดย เทนเซนต์มีกำไรลดลงถึง 50% ขณะที่ อาลีบาบา รายได้สุทธิลดลงครึ่งหนึ่ง
ด้วยเหตุนี้ ส่งผลให้พนักงานคนรุ่นใหม่หลายหมื่นคนต้องตกงาน ซ้ำเติมวิกฤตแรงงานที่ปัจจุบัน ประชากรอายุระหว่าง 16-24 ปี ว่างงานในอัตรา 1 ต่อ 5 ซึ่งจะกระทบต่อผลิตภาพและอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในระยะยาวได้
ในขณะที่รัฐบาลจีนเข้มงวดกับบริษัทภาคเอกชนมากขึ้น แต่ดูจะเอื้อประโยชน์ให้รัฐวิสาหกิจ ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติถอนทุนกลับ ยกตัวอย่าง ซอฟต์แบงก์ ของญี่ปุ่น ที่ถอนเงินลงทุนมหาศาลออกจากบริษัท อาลีบาบา ขณะที่บริษัท เบิร์กเชียร์แฮทาเวย์ ของมหาเศรษฐี วอร์เรน บัฟเฟตต์ ก็ขายหุ้นในบริษัทผู้ผลิตรถไฟฟ้าจีน บีวายดี ออกไปเช่นกัน ส่วนเทนเซนต์ สูญเงินลงทุนคิดเป็นเงินกว่า 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากนักลงทุนที่ถอนทุนออกในช่วงครึ่งแรกของปีนี้
รัฐบาลสหรัฐฯ เอง ก็เข้มงวดกับบริษัทจีนที่มีรายชื่ออยู่ในตลาดหลักทรัพย์อเมริกันหลายแห่งด้วย
“การตัดสินใจด้านการลงทุนถูกเลื่อนออกไป บริษัทต่าง ๆ มุ่งขยายการผลิตในประเทศอื่นแทน” เอสแอนด์พี โกลบอล เรตติงส์ กล่าวเมื่อไม่นานมานี้
และเมื่อโลกเริ่มคุ้นชินกับข้อเท็จจริงว่า จีนจะยังไม่เปิดประเทศ และกลับไปดำเนินธุรกิจแบบสมัยก่อนโควิดในอีกเร็ว ๆ นี้ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง อาจเสี่ยงกับการสูญเสียภาพลักษณ์ความสำเร็จทางเศรษฐกิจ ที่ขับเคลื่อนจีนมานานหลายทศวรรษ
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 5 ตุลาคม 2565