ท่องเที่ยวจีนหาย-ส่งออกเริ่มแผ่ว! จีดีพีไทยปี 68 เสี่ยงโตต่ำ 1%
เศรษฐกิจไทยส่อขยายตัวต่ำ สศช. หั่นเป้าโตปี 68 เหลือ 1.8% โบรกชี้ไทยเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยจากภาษีนำเข้าสหรัฐฯ-ท่องเที่ยวซบเซา ความสามารถในการแข่งขันลด
จากกรณีที่ทางสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ปรับประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2568 ใหม่ จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว อยู่ที่ 2.3 – 3.3% (ค่ากลางของการประมาณการอยู่ที่ 2.8%) เหลือเพียง ขยายตัว 1.3 – 2.3% (ค่ากลางการประมาณการอยู่ที่ 1.8%)
โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของรายจ่ายลงทุนภาครัฐ สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้น ของกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 รวมทั้งการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการบริโภคภาคเอกชน ท่ามกลางอัตราการว่างงานและอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ และการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง
ทั้งนี้ การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยทั้งปียังมีข้อจำกัดจากภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง และมีแนวโน้มชะอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 ตามแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก และผลกระทบจากการดำเนินมาตรการทางการค้าของสหรัฐฯ รวมทั้งความเสี่ยงจากความผันผวนในภาคเกษตร
นายวทัญ จิตต์สมนึก ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์กลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า เศรษฐกิจไทยที่สภาพัฒน์ได้รายงานมาช่วงเช้าของวันที่ 19 พฤษภาคม 2568 เชื่อว่าอัตราการเติบโตจะเป็นจุดสูงสุดแล้ว เพราะในช่วงไตรมาสแรกได้แรงหนุนจากการส่งออกที่ขยายตัวเด่นจากการเร่งส่งออก
ประกอบกับจำนวนนักท่องเที่ยวยังอยู่ในเกณฑ์ขยายตัวดี แต่หากมองไปยังช่วงไตรมาส 2/2567 การส่งออกมีแนวโน้มจะเริ่มชะลอตัวหลังจากการที่ผู้ค้าเร่งนำเข้าไปแล้วก่อนหน้าค่อนข้างมากแล้ว รวมถึงจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เริ่มลดลงอย่างมีนัยยะในช่วงไตรมาส 2/2567
การที่สภาพัฒน์ประเมินว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวเพียง 1.8% จึงมีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูง โดยมองว่าหนทางข้างหน้านั้นยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก ทั้งในเรื่องข้อสรุปของการเจรจาด้านภาษีกับสหรัฐฯ ที่ยังคาดเดาได้ยากว่าท้ายที่สุดแล้วสหรัฐฯ จะปรับลดหรือไม่ และหากลดภาษีการนำเข้าสินค้าของไทยจะอยู่ที่ระดับเท่าไหร่ และสินค้าประเภทใดบ้าง
"หากว่าไทยถูกภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ ในอัตรา 36% ขณะที่ประเทศอื่นมีภาษีที่ต่ำกว่าไทย จะส่งผลทำให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน และมีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยร่วมด้วย โดยมีการคาดการณ์กันว่าหากประเทศไทยเผชิญภาษีในอัตราที่สูงมากกว่า 37% จะทำให้เศรษฐกิจไทยท้ายที่สุดแล้วขยายตัวเพียง 0.7%"
ในแง่ของการท่องเที่ยวของไทยก็เริ่มเผชิญกับปัจจัยกดดันจากการเดินทางเข้ามาที่ลดลงของนักท่องเที่ยวจีน โดยจำนวนชาวจีนเดินทางมาไทยลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน 2 เดือนติดต่อ และมีแนวโน้มจะลดลงต่อเนื่อง จากความกังวลหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นเรื่องความปลอดภัย ราคาสินค้าและบริการที่สูงขึ้น (อาหารและโรงแรม)
โดยการท่องเที่ยวไทยปี 2568 มีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงที่จำนวนนักท่องเที่ยวจะไปไม่ถึง 38 – 39 ล้านคน สาเหตุที่นักท่องเที่ยวจีนเริ่มเดินทางเข้าไทยน้อยลง เป็นไปได้หลายสาเหตุไม่ว่าจะค่าครองชีพในไทยที่สูงขึ้น การเดินทางกับ Taxi ไทยที่เผชิญการโกง (ไม่กดมิเตอร์) ความปลอดภัยในประเทศหลังมีข่าวนักแสดงจีนหายตัวไป
อีกทั้งที่เที่ยวใหม่ๆ ไม่เกิดขึ้น ไทยมีจุดเที่ยวเพียงไม่กี่ที อาทิ วัดในกรุงเทพ เยาวราช ส่วนจังหวัดยอดนิยมก็มีเพียงเชียงใหม่ ภูเก็ต ชลบุรี (พัทยา) ปัจจุบันนักท่องเที่ยวจีนยังเป็นหลักหรือคิดเป็นกว่า 13% นักท่องเที่ยวตะวันออกกลางจึงยังไม่สามารถจะชดเชยได้ ทำให้กลุ่มท่องเที่ยวอาจยังไม่น่าสนใจแม้ราคาหุ้นจะปรับลงมาก็ตาม
ขณะที่การส่งออกไทยมีความเสี่ยงค่อนข้างสูง ในกรณีที่การเจรจาระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ไม่สามารถหาข้อตกลงได้และไทยเผชิญการเก็บภาษีที่ 36% หากสวนทางกับประเทศอื่นๆ ที่สหรัฐฯ ประกาศภาษีต่ำกว่าไทย แน่นอนผลที่ตามมาคือความสามารถในการแข่งขันของไทยก็ลดลงไปด้วย
แต่หากไทยเผชิญการเก็บภาษีไม่ได้มากนัก ก็มองว่าด้วยเศรษฐกิจโลกที่ยังผันผวนจากการสกัดการค้าของสหรัฐฯ กับนานาประเทศ จะทำให้การค้าโลกเติบโตลำบาก และก่อนหน้านี้ผู้ประกอบการก็ได้เร่งนำเข้าไปแล้ว จึงยังถือเป็นความเสี่ยง
"ทั้งการส่งออกที่จะแย่ลงและการท่องเที่ยวจะทำให้เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงขาลง ซึ่งหากเป็นที่ตลาดหุ้นเริ่มเห็นผลกระทบแล้ว ผ่านกำไรบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 1/68 โดยเฉพาะกลุ่มอิงการบริโภค (HMPRO CPAXT) และน่าจะเริ่มเห็นผลกระทบอย่างมีนัยยะในช่วงไตรมาส 2/68 ทั้งกำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) และเศรษฐกิจ"
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 20 พฤษภาคม 2568