สศช.ชี้เป้างบลงทุนก้อนใหญ่ 9.3 แสนล้าน ประคองเศรษฐกิจ ทั้งปี 2568
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินช่องทางประคับประคองเศรษฐกิจไทยในปี 2568 ชี้เป้างบลงทุนก้อนใหญ่ 9.3 แสนล้านบาท ในช่วงที่เหลือของปีนี้
เศรษฐกิจไทยในปี 2568 ยังมีความไม่แน่นอนสูง เพราะยังตั้งอยู่บนปัจจัยเสียงสารพัดที่เข้ามาถาโถม โดยเฉพาะปัจจัยที่ไร้การควบคุมจากสถานการณ์ภายนอกประเทศ ทั้งสงครามการค้า กำแพงภาษีสหรัฐฯ และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ รวมไปถึงปัจจัยภายในที่ยังกัดกร่อนเศรษฐกิจ ทั้งความเปราะบางของรายได้ครัวเรือนจากภาวะหนี้สินที่ยังคงอยู่ในอัตราสูง และค่าครองชีพที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว

ความหวังในการพึ่งพาเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยในปี 2568 นี้ แน่นอนว่ามีข้อจำกัด แต่ถ้ามองในแง่ดีก็ยังพอจะมีหนทางประคับประคองเศรษฐกิจได้ส่วนหนึ่ง จากการใช้เครื่องยนต์ฝั่งการบริโภคภาครัฐ (Government spending) และการลงทุนภาครัฐ (Public Investment) โดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินว่า จากนี้ไปจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งรัดการลงทุนภาครัฐในช่วงครึ่งปีหลังอย่างรวดเร็ว
ครึ่งปีงบประมาณ เบิกจ่าย 5.9 หมื่นล้าน :
สศช. ระบุว่า ที่ผ่านมาการลงทุนภาครัฐในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2568 (เดือนตุลาคม 2567 - มีนาคม 2568) มีการเบิกจ่ายสะสม 594,000 ล้านบาท เทียบกับเป้าหมายการเบิกจ่ายประมาณ 1.16 ล้านล้านบาท คิดเป็น 51.1% ของเป้าหมายการเบิกจ่าย โดยผลการเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐจากงบประมาณกันไว้เบิกเหลื่อมปีและงบลงทุนรัฐวิสาหกิจเป็นไปตามเป้าหมาย
ขณะที่ผลการเบิกจ่ายงบลงทุนจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 คิดเป็น 43.8% ของเป้าหมาย และมีอัตราการเบิกจ่ายสะสมอยู่ที่ 30.7% ของงบประมาณรวม

ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเร่งรัดการลงทุนภาครัฐในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะการเร่งรัดเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อให้การลงทุนภาครัฐเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2568
ฉีดงบลงทุนรัฐ 9.3 แสนล้าน ลงเศรษฐกิจ :
สศช. ประเมินว่าในช่วงที่เหลือของปี 2568 (เดือนเมษายน - ธันวาคม 2568) จะมีการเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐ ลงสู่ระบบเศรษฐกิจประมาณ 930,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.2% โดยจำแนกเป็นรายการสำคัญ ดังนี้
* รายจ่ายลงทุนจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพิ่มขึ้น 10.6%
* รายจ่ายลงทุนจากงบประมาณกันไว้เบิกเหลื่อมปี เพิ่มขึ้น 15.2%
* งบลงทุนของรัฐวิสาหกิจลดลง 21.7%
ขันน็อตหลายหน่วยงานมีผลเบิกจ่ายต่ำ :
ทั้งนี้เมื่อติดตามผลการเบิกจ่ายและผลการใช้จ่ายรายจ่ายลงทุนในช่วงครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ 2568 ของหน่วยงานที่มีวงเงินงบประมาณรายจ่ายลงทุนสูง โดยเฉพาะกระทรวงคมนาคมและกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีวงเงินลงทุนสูงกว่า 1 แสนล้านบาท พบว่า กระทรวงคมนาคมและกระทรวงมหาดไทยมีอัตราการเบิกจ่าย 22%และ 25.6% ขณะที่อัตราการใช้จ่ายสะสมอยู่ที่ 69% และ 50.5% ตามลำดับ
สศช. แสดงความเป็นห่วงว่า ปัจจุบันหลายหน่วยงานยังมีอัตราการเบิกจ่ายในเกณฑ์ต่ำ จึงจำเป็นต้องเร่งรัดการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนของแต่ละหน่วยงานเพิ่มขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย และทำให้การลงทุนภาครัฐสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี
ส่วนของการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนของจังหวัด ในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2568 มีอัตราการเบิกจ่าย 47.1% และอัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนของจังหวัดส่วนใหญ่ (51 จังหวัด) ต่ำกว่า 50% โดย 19 จังหวัด มีอัตราการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุน ต่ำกว่า 40% และ 7 จังหวัด มีอัตราการเบิกจ่ายต่ำกว่า 35% ได้แก่ เชียงใหม่ นครราชสีมา สงขลา ขอนแก่น สุราษฎร์ธานี อุบลราชธานี และชลบุรี
ดังนั้น การเร่งรัดการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนของจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดที่มีวงเงินลงทุนขนาดใหญ่ อาทิ เชียงใหม่ นครราชสีมา สงขลา และขอนแก่น จึงมีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนการลงทุนในแต่ละพื้นที่และเศรษฐกิจโดยรวมต่อไปได้ โดยสศช. ประเมินว่า หากทุกอย่างเป็นไปตามเป้าหมายเศรษฐกิจไทยในปี 2568 ก็อาจจะขยายตัวได้อยู่ในช่วง 1.3-2.3% หรือประมาณ 1.8%
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 21 พฤษภาคม 2568