จีนประกาศหนุนองค์การอนามัยโลก 500 ล้านดอลลาร์ หลังสหรัฐฯ ถอนตัว
จีนเตรียมอัดฉีด 500 ล้านดอลลาร์ให้ WHO ภายใน 5 ปี หลังสหรัฐฯ ถอนตัว ขณะที่หลายประเทศและองค์กรเอกชนร่วมสมทบทุนอีกกว่า 170 ล้านดอลลาร์ หนุนพหุภาคีนิยม แก้วิกฤตสุขภาพโลก
องค์การอนามัยโลก (WHO) เดินหน้าเร่งแสวงหาแหล่งเงินทุนใหม่ หลังเผชิญแรงสั่นสะเทือนครั้งใหญ่จากการที่สหรัฐอเมริกา ประกาศถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิก และตัดงบสนับสนุนที่เคยเป็นแหล่งหลักขององค์กร หนึ่งในจุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นเมื่อรัฐบาลจีนประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะมอบเงินสนับสนุนให้แก่ WHO เพิ่มอีก 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า
คำมั่นดังกล่าวถูกรายงานโดย หลิว กั๋วจง รองนายกรัฐมนตรีของจีน ซึ่งกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสมัชชาใหญ่ขององค์การอนามัยโลก ณ นครเจนีวา เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยเน้นย้ำถึงบทบาทของความร่วมมือแบบพหุภาคีนิยมในการรับมือกับวิกฤตการณ์ด้านสาธารณสุข "โลกกำลังได้รับผลกระทบจากลัทธิฝ่ายเดียว และการเมืองแบบใช้อำนาจ ที่ก่อให้เกิดความท้าทายใหญ่หลวงต่อความปลอดภัยด้านสาธารณสุขของโลก พหุภาคีนิยมคือหนทางอันแน่นอนที่จะช่วยแก้ไขความยากลำบากนี้" หลิวกล่าว
การขยับตัวของจีนครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางบริบทที่ WHO ต้องเผชิญกับปัญหาสภาพคล่องอย่างหนัก หลังจาก ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามคำสั่งให้สหรัฐฯ ถอนตัวจาก WHO ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยให้เหตุผลว่าองค์การอนามัยโลก "รีดไถ" อเมริกาเกินความจำเป็น
ผลจากการสูญเสียผู้บริจาครายใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ทำให้ WHO ต้องประกาศลดงบประมาณรายจ่ายสำหรับปี 2026-2027 ลงถึง 21% เหลือเพียง 4,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อรักษาเสถียรภาพขององค์กรและขอบเขตการปฏิบัติงานในระดับโลก
อย่างไรก็ตาม WHO ไม่ได้ยืนอยู่ลำพัง เมื่อหลายประเทศและองค์กรระดับโลกตอบรับเสียงเรียกร้อง ด้วยการให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมรวมกว่า 170 ล้านดอลลาร์ โดยหนึ่งในแผนสำคัญคือการเพิ่มค่าธรรมเนียมสมาชิกอีก 20% ภายในระยะเวลา 2 ปีข้างหน้า เพื่อทดแทนช่องว่างทางการเงินที่เกิดขึ้นจากการถอนตัวของสหรัฐฯ
ในรายงานของ WHO ระบุรายชื่อประเทศที่ยืนยันการสนับสนุนอย่างชัดเจน ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ 40 ล้านดอลลาร์ สวีเดน 13.5 ล้านดอลลาร์ แองโกลา 8 ล้านดอลลาร์ และกาตาร์ 6 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ยังมีการสมทบทุนจากองค์กรการกุศลรายใหญ่ เช่น Novo Nordisk Foundation และ ELMA Philanthropies
แม้ตัวเลข 500 ล้านดอลลาร์จากจีนนั้นยังไม่ถูกรวมอยู่ในยอดรวมของ WHO เนื่องจากอยู่ระหว่างกระบวนการคำนวณและยืนยัน แต่หากรวมเข้ามาอย่างเป็นทางการ จีนจะกลายเป็นชาติผู้บริจาครายใหญ่ที่สุดของ WHO โดยแทนที่บทบาทของสหรัฐอเมริกาในทันที
ท่ามกลางความท้าทายด้านสุขภาพระดับโลกที่ยังไม่จบสิ้น การเคลื่อนไหวของจีนและพันธมิตรระหว่างประเทศในการเติมเต็มบทบาทของ WHO กลายเป็นหมากสำคัญในการฟื้นฟูความเชื่อมั่น และย้ำชัดว่าการเมืองระหว่างประเทศยังคงแฝงตัวอยู่ในทุกมิติของการต่อสู้กับวิกฤตโรคระบาดและภัยคุกคามด้านสุขภาพในอนาคต
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 22 พฤษภาคม 2568