สรท.ชงมาตรการช่วยผู้ส่งออก สกัดสินค้าด้อยคุณภาพ-โรงงานศูนย์เหรียญ
การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและผลักดันการส่งออกกำลังเป็นปัจจัยท้าทายที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องทำงาน เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตให้ได้ตามเป้าหมาย และสามารถแข่งขันได้ รวมไปถึงผู้ส่งออกที่ต้องเตรียมรับมือ โดยเฉพาะทรัมป์ 2.0 ที่เป็นปัจจัยกดดันให้กับการค้าการส่งออกทั่วโลกอย่างหนัก โดยประเทศไทยถูกสหรัฐเรียกเก็บภาษีตอบโต้การค้าถึง 36%
แม้ขณะนี้จะเลื่อนการบังคับใช้ออกไป 90 วัน แต่ระยะเวลาของการผ่อนปรนนับถอยหลังใกล้หมดลงไปทุกที ๆ หากไทยไม่เตรียมแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการเจรจากับสหรัฐ การปรับตัวเพื่อการแข่งขัน หาตลาดรองรับ อาจจะลำบาก แม้ตอนนี้สหรัฐจะยังไม่เก็บภาษีตามเป้าที่ประกาศไว้แต่ก็เก็บสินค้านำเข้าทุกประเทศที่ 10%
เมื่อเดือนเมษายน 2568 ที่ผ่านมา สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือ สภาผู้ส่งออก ได้สำรวจความเห็นของผู้ส่งออกที่เป็นสมาชิก และหารือร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรมส่งออก ถึงผลกระทบทรัมป์ 2.0 โดย นายธนากร เกษตรสุวรรณ ประธาน สรท.ระบุว่า ผลสำรวจที่ออกมานั้น พบว่าผู้ส่งออกได้รับผลกระทบที่แตกต่างกัน ทั้งกลุ่มที่ยังไม่ได้รับผลกระทบ กลุ่มที่ได้รับผลบวก อาทิคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น เพราะถูกเร่งรัดการส่งมอบสินค้าให้เร็วขึ้น และกลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางลบ อาทิ คำสั่งซื้อสินค้าลดลง ยกเลิกคำสั่งซื้อ และลูกค้าผลักภาระต้นทุนภาษีที่เพิ่มขึ้นให้กับผู้ส่งออก เป็นต้น
ต้องสู้ภายใต้ Team Thailand :
จากการสำรวจ สรท. ได้ให้ข้อมูลถึงแนวทางการตั้งรับปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเห็นว่าฝ่ายที่เกี่ยวข้องจำเป็นจะต้องมี Team Thailand ที่ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด ระหว่างรัฐบาล-ราชการ-เอกชน โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีกระทรวงที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการต่างประเทศ และอาจเพิ่มเติมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพลังงาน รวมถึงภาคเอกชน 4 เสาหลัก ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย
เพื่อให้สามารถกำหนดยุทธศาสตร์และสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจในการฝ่าวิกฤต และนำพาประเทศในระยะยาว และต้องมียุทธศาสตร์ระยะยาวที่ชัดเจน ไม่เพียงคิดกลยุทธ์รับมือ Reciprocal Tariffs ต้องสร้างความเข้มแข็งของประเทศ และต้องพร้อมรับมือกับความเสี่ยงใหม่ด้วย
นอกจากนี้ ต้องดำเนินการช่วยเหลือทั้งผู้ประกอบการที่ขยายตลาดในประเทศและตลาดระหว่างประเทศ และผู้ประกอบการเองจำเป็นจะต้องลดการพึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่งมากจนเกินไป โดยต้องให้ความสำคัญกับ ASEAN และ ASEAN Plus รวมถึงการเร่งทำความตกลงเขตการค้าเสรีอื่น ๆ เพิ่มเติม ทั้งในระดับ Bilateral และ Multilateral จะช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องของ Protectionism ได้เป็นอย่างดี
เข้มสกัดสินค้าด้อยคุณภาพ :
นอกจากนี้ ยังมองว่าต้องมีมาตรการในการดูแลช่วยเหลือผู้ส่งออก โดยเฉพาะ 1.มาตรการต้านการนำเข้าสินค้าด้อยคุณภาพ ประกอบด้วย 1.1 ต้องกำกับดูแลในประเทศ ตั้งแต่ต้นทาง เช่น สินค้าและโรงงานต้องได้รับการรับรองมาตรฐานของประเทศไทย สินค้าต้องระบุพิกัดให้ชัดเจนเพื่อให้ศุลกากรไทยสามารถตรวจสอบได้ง่ายขึ้น ผู้ส่งออกที่ขายผ่าน e-Commerce Platform ต้องระบุ ID Number ให้ชัดเจนไม่ซ้ำซ้อน สินค้าที่จะส่งออกมายังประเทศไทยต้องแจ้งข้อมูลล่วงหน้า 24 ชั่วโมงก่อนเรือออกจากท่าเรือต้นทาง
เพื่อให้ไทยได้ทราบข้อมูลสินค้านำเข้าล่วงหน้า และสามารถตรวจสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ 1.2 เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบฝ่ายไทย อาทิ ตรวจสอบสินค้านำเข้า 100% เพื่อป้องกันสินค้าด้อยคุณภาพเข้าประเทศ ตรวจสอบสินค้าผ่าน Free Zone 100% เพื่อป้องกันการสวมสิทธิส่งออก และสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานที่กำหนดโดยประเทศปลายทาง และเพิ่มความเข้มงวดในการคุ้มครองผู้บริโภคจากสินค้านำเข้าด้อยคุณภาพ
บีโอไอเลิกหนุน รง.ศูนย์เหรียญ :
2.มาตรการต้านการลงทุนศูนย์เหรียญ ประกอบด้วย 2.1 ทบทวนสิทธิประโยชน์ตามมาตรการส่งเสริมการลงทุน (BOI) สำหรับการลงทุนใหม่ เช่น ให้ความเป็นธรรมในการแข่งขันกับผู้ผลิตในประเทศ และให้ใช้วัตถุดิบภายในประเทศไม่น้อยกว่า 40% เพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มในประเทศ มากกว่าเม็ดเงินลงทุนและมูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้น แต่ไม่เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจในประเทศไทย และ 2.2 กำหนดเงื่อนไขกิจการร่วมลงทุนที่ต้องการรับสิทธิประโยชน์จากการส่งเสริมการลงทุน
อาทิ ต้องมีคนไทยเป็นผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี ต้องจัดทำข้อตกลงถ่ายทอดเทคโนโลยีในทุกกรณีที่มีการร่วมลงทุนกับต่างชาติ และกำหนดให้กิจการที่ได้รับการส่งเสริมมีสัดส่วนการจ้างแรงงานไทยไม่น้อยกว่า 50% เพื่อพัฒนาศักยภาพแรงงานภายในประเทศ
อัดงบฯส่งเสริมการตลาดใน ตปท. :
3.มาตรการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยต้องอัดฉีดงบประมาณสำหรับจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ และงบฯสนับสนุนด้านการตลาดแก่ภาคเอกชน อาทิ SMEs Proactive ให้มากขึ้น เพื่อประชาสัมพันธ์สินค้าไทยในสายตาคู่ค้าและผู้บริโภคในตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสภาผู้ส่งออกประเมินว่ามีรายการสินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐเป็นจำนวนมาก และสามารถหาตลาดทดแทนได้
อาทิ อาหารสัตว์เลี้ยง อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องจักร เครื่องปรับอากาศ ข้าว อาหารทะเลกระป๋อง ยางธรรมชาติ มอนิเตอร์และโปรเจ็กเตอร์ ถุงมือทางการแพทย์ น้ำผักและน้ำผลไม้ เป็นต้น ซึ่งภาครัฐจำเป็นต้องเพิ่มงบประมาณสำหรับจัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออก เพื่อช่วยให้สินค้าไทยเป็นที่รู้จักในสายตาคู่ค้าและผู้บริโภคทั่วโลก
ชี้สารพัดปัจจัยลบรุมเร้า :
อย่างไรก็ดี จากปัญหาทรัมป์ 2.0 ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกผันผวน และชะลอตัว ขณะเดียวกัน ส่งผลให้ต้นทุนทางการค้าเพิ่มสูงขึ้น คู่ค้าชะลอดูสถานการณ์ รวมถึงผลักภาระต้นทุนให้แก่ผู้ส่งออกไทย รวมถึงปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังไม่มีข้อยุติ ทั้งรัสเซีย-ยูเครน, อิสราเอล-กลุ่มฮามาส, อินเดีย-ปากีสถาน ทำให้ยังไม่สามารถนิ่งนอนใจ และอาจเกิดผลกระทบในวงกว้างต่อการค้าในพื้นที่ใกล้เคียง
นอกจากนี้ ค่าเงินบาทยังคงมีความผันผวน เป็นผลมาจากนโยบายการค้าของสหรัฐ และปัจจัยราคาทองคำที่มีการส่งออกมากขึ้น ปัจจัยเฝ้าระวังขนส่งสินค้าทางทะเล อาทิ สถานการณ์ความขัดแย้งในภูมิภาคทะเลแดงมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น และผลกระทบจากมาตรการ US Port Fees ต่อเรือขนส่งสินค้าที่ต่อในประเทศจีน (Chinese-Built Vessel) และผู้ขนส่งสัญชาติจีน ซึ่งประเมินว่าจะทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น 100-300 เหรียญสหรัฐต่อตู้ ในวันที่ 14 ตุลาคม 2568 และอาจเพิ่มขึ้นตามขั้นบันไดที่เรียกเก็บ
ทั้งนี้ จากการปรับตัวของผู้ประกอบการการตั้งรับกับปัญหาที่เกิดขึ้นก็จะต้องติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินมาตรการ รวมถึงกฎระเบียบและข้อบังคับต่าง ๆ ของสหรัฐ เพื่อเป็นแนวทางการปรับตัว อีกทั้งพัฒนาคุณสมบัติในด้านต่าง ๆ ที่สหรัฐให้ความสำคัญ อาทิ ทรัพย์สินทางปัญญา การคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และมาตรฐานด้านแรงงาน เป็นต้น เฝ้าระวังและตรวจสอบการใช้วัตถุดิบและส่วนประกอบจากจีนในการผลิตสินค้าของไทยที่ส่งออกไปยังสหรัฐ
เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการบังคับใช้มาตรการทางการค้าของสหรัฐ เสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ผลิต-ผู้นำเข้าสหรัฐ ที่มากกว่าเพียงการแลกเปลี่ยนบริการตามสัญญาจ้าง ไปสู่ความร่วมมือเชิงสร้างสรรค์
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 23 พฤษภาคม 2568