เปิดแผน EEC ชงของบ 2,700 ล้าน รับมือน้ำท่วม-แล้ง ดันกระตุ้นเศรษฐกิจ
เปิดงบ EEC บริหารจัดการน้ำ 3 จังหวัดพื้นที่อุตสาหกรรมใหญ่สุดของประเทศ ชงขอใช้งบกระตุ้นเศรษฐกิจ 2,700 ล้าน ป้องกันน้ำท่วม น้ำแล้ง เพิ่มน้ำอุปโภคบริโภค พัฒนาพื้นที่เกษตรน้ำฝน คาดพื้นที่รับประโยชน์กว่า 7.1 หมื่นไร่ รวมกว่า 5.5 หมื่นครัวเรือน
จากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้กรอบวงเงิน 1.57 แสนล้านบาท ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งเดิมได้เตรียมไว้สำหรับโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท แต่รัฐบาลจะเปลี่ยนมาใช้ในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ 4 ด้านหลัก ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำและคมนาคม การท่องเที่ยว การลดผลกระทบส่งออกและเพิ่มผลิตภาพ รวมถึงเศรษฐกิจชุมชนแทน
ทั้งนี้ได้ให้หน่วยรับงบประมาณจัดทำข้อเสนอโครงการตามแบบฟอร์มที่กำหนดผ่านรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีเจ้าสังกัด หรือรัฐมนตรีที่กำกับดูแล เพื่อเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองภายในเดือนพฤษภาคม 2568 และเพื่อให้คณะกรรมการรวบรวมข้อเสนอโครงการที่ผ่านการพิจารณา เสนอให้ ครม.พิจารณาอนุมัติภายในเดือนมิถุนายนนี้
ส่วนการขอรับจัดสรรงบประมาณนั้น หน่วยรับงบประมาณจะนำส่งโครงการที่ ครม. อนุมัติให้สำนักงบประมาณ ซึ่งจะพิจารณารายละเอียดโครงการและจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบกลางตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ พ.ศ. 2567 ภายในเดือนกรกฎาคม 2568 ต่อไป
ทั้งนี้ ในส่วนของโครงการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งเป็นโครงการหลักที่รัฐบาลจะเน้นหนักเพื่อใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจในครั้งนี้ ทางสำนัก งานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)ได้ร่วมกับ10 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันจัดทำแผนลงทุนด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน เพื่อขอใช้งบกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าว โดยได้นำเสนอแผนงาน / โครงการใน 5 ด้าน ซึ่งได้นำเสนอผ่านที่ประชุมครม.แล้วจำนวน 20,838 โครงการ วงเงินรวม 109,657.17 ล้านบาท
ประกอบด้วย การพัฒนาน้ำอุปโภคบริโภค,การปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำเดิมและพัฒนาระบบกระจายน้ำ, การพัฒนาพื้นที่เกษตรน้ำฝน,การพัฒนาพื้นที่หน่วงน้ำและป้องกันน้ำท่วมชุมชนเมือง และการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศทรัพยากรน้ำ คาดประชาชนจะได้รับประโยชน์ 2.99 ล้านครัวเรือน พื้นที่ได้รับประโยชน์ 2.53 ล้านไร่ เกิดการจ้างงานประมาณ 250,000 คนต่อเดือน และจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้คิดเป็นมูลค่ารวม 128,199.65 ล้านบาท
อย่างไรก็ดีล่าสุด (26 พ.ค. 2568) ที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 4/2568 ที่มีนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานได้มีมติเห็นชอบในหลักการ (ร่าง)โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนเป็นกรณีเร่งด่วน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวน 22,309 รายการ ซึ่งเป็นโครงการที่ผ่านการกลั่นกรองและตรวจสอบโดย สทนช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว คาดจะสามารถดำเนินการได้ภายในช่วง 1 ปี จะมีผู้ได้รับประโยชน์ 3.37 ล้านครัวเรือน และมีมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม 124,648.42 ล้านบาท ซึ่งจะได้นำเสนอของบประมาณ และดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ 2569
นางพัชรวีร์ สุวรรณิก รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะโฆษก สทนช.เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนเป็นกรณีเร่งด่วน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าว ส่วนหนึ่งมีโครงการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่จะนำเสนอของบประมาณรวมอยู่ในนั้นด้วย
ทั้งนี้มี 4 แผนงานหลักในการบริหารจัดการน้ำ ที่จะดำเนินการในพื้นที่ 3 จังหวัดของ EEC ได้แก่ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ได้แก่
(1)แผนการพัฒนาน้ำอุปโภคบริโภค
(2)แผนปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำเดิม และพัฒนาระบบกระจายน้ำ
(3)แผนพัฒนาพื้นที่เกษตรน้ำฝน และ
(4)แผนพัฒนาพื้นที่หน่วงน้ำและการป้องกันน้ำท่วมชุมชนเมือง รวมจำนวนทั้งสิ้น 326 รายการ วงเงินรวม 2,701.71 ล้านบาท พื้นที่รับประโยชน์ 71,738 ไร่ ครัวเรือนรับประโยชน์ 55,948 ครัวเรือน พื้นที่ได้รับการป้องกัน 21,220 ไร่ ปริมาณน้ำ 3.22 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)
แบ่งเป็น จังหวัดระยอง จำนวน 79 รายการ วงเงินรวม 569.34 ล้านบาท พื้นที่ได้รับประโยชน์ 37,635 ไร่ ครัวเรือนรับประโยชน์ 29,513 ครัวเรือน ปริมาณน้ำ 2.08 ล้านลูกบาศก์เมตร
จังหวัดชลบุรี จำนวน 36 โครงการ วงเงินรวม 645.21 ล้านบาท พื้นที่ได้รับประโยชน์ 2,650 ไร่ ครัวเรือนรับประโยชน์ 2,891 ครัวเรือน พื้นที่ได้รับการป้องกัน 220 ไร่ ปริมาณน้ำ 0.16 ล้านลูกบาศก์เมตร
จังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 211 โครงการ วงเงินรวม 1,487.16 ล้านบาท พื้นที่ได้รับประโยชน์ 31,453 ไร่ ครัวเรือนรับประโยชน์ 23,544 ครัวเรือน พื้นที่ได้รับการป้องกัน 21,000 ไร่ ปริมาณน้ำ 0.97 ล้านลูกบาศก์เมตร
ปัจจุบันในพื้นที่ EEC มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่งได้แก่ อ่างเก็บน้ำบางพระ(ชลบุรี) อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล และอ่างเก็บน้ำประแสร์ (จ.ระยอง) และอ่างเก็บน้ำคลองสียัด (จ.ฉะเชิงเทรา)โดยข้อมูล ณ วันที่ 20 พฤษภาคม 2568 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้ง 4 แห่งมีปริมาณน้ำรวม 368 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 37% ของความจุ สามารถรองรับน้ำได้อีก 628 ล้านลูกบาศก์เมตร(63%) ส่วนแหล่งน้ำขนาดกลางมี 15 แห่ง ข้อมูล ณ วันที่ 20 พฤษภาคม 2568 มีปริมาณน้ำรวม 155 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 42% ของความจุ สามารถรองรับน้ำได้อีก 211 ล้านลูกบาศก์เมตร(58%)

นอกจากนี้ยังมีแหล่งน้ำขนาดเล็กในพื้นที่อีกรวม 4,957 แห่ง ข้อมูล ณ วันที่ 20 พฤษภาคม 2568 มีปริมาณน้ำรวม 45 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 27% ของความจุ สามารถรองรับน้ำได้อีก 122 ล้านลูกบาศก์เมตร(73%)
ทั้งนี้แผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC ที่จะขอใช้งบกระตุ้นเศรษฐกิจในครั้งนี้ นอกจากเพื่อป้องกันน้ำท่วม น้ำแล้งในภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ และภาคประชาชนแล้ว ยังช่วยรองรับความต้องการน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคในภาคครัวเรือน และภาคเกษตรในพื้นที่ด้วย
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 28 พฤษภาคม 2568