ตกลงเพื่อร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ในการส่งพลังงานหมุนเวียน (renewable energy)
เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2568 สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนามได้ลงนามในข้อตกลง (Joint Development Agreement to explore the export of renewable electricity from Vietnam to Malaysia and Singapore) เพื่อร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ในการส่งออกพลังงานหมุนเวียน (renewable energy) จากเวียดนาม โดยเฉพาะพลังงานลมในทะเล (offshore wind) ผ่านสายส่งใต้ทะเล (subsea cable) ไปยังชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของมาเลเซีย และจากนั้นจะส่งพลังงานส่วนหนึ่งต่อไปยังสิงคโปร์ทางบก (overland transmission)
โดยข้อตกลงดังกล่าว มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางพลังงาน (energy security) และการบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (net-zero emissions) ภายใต้กรอบของโครงการเครือข่ายไฟฟ้าอาเซียน (Asean Power Grid) ความร่วมมือครั้งนี้ ประกอบด้วยบริษัทเอกชนจากทั้ง 3 ประเทศ ได้แก่
Sembcorp Utilities (สิงคโปร์) PetroVietnam Technical Services Corporation (PTSC) (เวียดนาม) และ MY Energy Consortium ซึ่งก่อตั้งโดย Petronas และ Tenaga Nasional Berhad (TNB) (มาเลเซีย) โดยทั้ง 3 บริษัทจะร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ (feasibility study) ของโครงการ และจะทํางานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐของแต่ละประเทศ
จากข้างต้น นายลอเรนซ์ หว่อง นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสิงคโปร์กล่าวว่าความตกลงนี้ เป็นอีกก้าวหนึ่งของการสร้าง ASEAN Power Grid ที่มีความมั่นคงและยั่งยืนมากยิ่งขึ้น โดย Sembcorp และ PTSC ได้ลงนามหนังสือแสดงเจตจํานง (letter of intent) ตั้งแต่ปี 2566 ในการส่งออกไฟฟ้า 1.2 กิกะวัตต์ (GW) ไปยังสิงคโปร์ภายในปี 2576
ด้าน ดาโตะ ซรี ฟาดิลละห์ ยูซุฟ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเปลี่ยนผ่านพลังงานและปฏิรูปน้ํามาเลเซียให้สัมภาษณ์ว่า โครงการดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งของ ASEAN Power Grid และหวังว่าจะสามารถรายงานความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมต่อที่ประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนในเดือนตุลาคม 2568 ได้
นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงโครงการบูรณาการพลังงาน สปป.ลาว – ไทย – มาเลเซีย – สิงคโปร์ (Laos PDR – Thailand – Malaysia – Singapore Power Integration Project) ว่า เริ่มประสบปัญหาความล้าสมัย (obsolescence) และมีความน่าเชื่อถือลดลง (reliability issues) จึงจําเป็นต้องปรับปรุงระบบโครงข่ายไฟฟ้า (grid upgrade) เพื่อรองรับการส่งพลังงานไฟฟ้าระดับกิกะวัตต์ (GW)
สำนักข่าว The Straits Times ได้นําเสนอข้อคิดเห็นจาก Dr. Lam Choong Wah นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยมลายา ซึ่งมองว่า การส่งไฟฟ้าจากเวียดนามไปยังมาเลเซีย และสิงคโปร์ ผ่านสายส่งใต้ทะเลมีความสมเหตุสมผลมากกว่าในด้านเศรษฐศาสตร์และความเป็นไปได้ทางเทคนิค เมื่อเทียบกับการก่อสร้างระบบสายส่งบนบก (overland transmission line) ที่ต้องผ่านไทยและกัมพูชา โดยแนวทางดังกล่าวสามารถลดระยะทางได้เกือบ 1,000 กิโลเมตร
ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์ ได้ให้ข้อสังเกตว่า สิงคโปร์กําลังวางบทบาทของตนเป็นศูนย์กลางการนําเข้าพลังงานของภูมิภาค (regional energy transmission hub) ไม่ว่าจะเป็นโครงการบูรณาการพลังงาน สปป.ลาว – ไทย – มาเลเซีย – สิงคโปร์ หรือเส้นทางการส่งพลังงานจากเวียดนาม ผ่านมาเลเซียมายังสิงคโปร์ ซึ่งสะท้อนถึงยุทธศาสตร์ด้านพลังงานของสิงคโปร์ที่มุ่งเน้นการกระจายแหล่งพลังงาน (energy source diversification)
สิงคโปร์ยังมีบทบาทในฐานะผู้ร่วมลงทุนผ่าน Sembcorp Utilities ผู้รับซื้อพลังงานไฟฟ้าในระยะยาว และผู้ผลักดันแนวคิด ASEAN Power Grid ที่กําลังเปลี่ยนจากกรอบแนวความคิดมาสู่ความเป็นจริง ผ่านโครงการความร่วมมือครั้งนี้ ซึ่งจะเป็นก้าวสําคัญในการบรรลุเป้าหมายของสิงคโปร์ที่จะนําเข้าไฟฟ้าคาร์บอนต่ํา (low-carbon electricity) จํานวน 6 กิกะวัตต์ (GW) ภายในปี 2578 หรือประมาณ 1 ใน 3 ของความต้องการใช้พลังงานทั้งประเทศ (ข้อมูล สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์, เรียบเรียงโดย ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์)
ที่มา globthailand
วันที่ 23 มิถุนายน 2568