ฤดูฝนปี 68 "ไข้หวัดใหญ่-ไข้เลือดออก" เด็กเสี่ยงสูงต้องระวัง
กรมควบคุมโรค เผยฤดูฝนปี 2568 ไข้หวัดใหญ่พุ่ง 3.8 แสนราย เสียชีวิต 51 ราย เด็กอายุ 5-9 ปีป่วยมากสุด ขณะที่ไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นทุกภาคโดยเฉพาะภาคเหนือ-ใต้
30 มิถุนายน 2568 แพทย์หญิงจุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค และนายแพทย์วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค แถลงข่าวในหัวข้อ "ฤดูฝนนี้ ปลอดโรคปลอดภัย ใส่ใจสุขภาพ" พร้อมแนะวิธีดูแลสุขภาพช่วงฤดูฝน
สำหรับสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 26 มิถุนายน 2568 มีผู้ป่วยสะสม 382,471 ราย ผู้เสียชีวิต 51 ราย ในจำนวนนี้ พบว่า มีโรคประจำตัว 31 ราย เช่น โรคไต โรคหลอดเลือดหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง วัณโรคปอด และภาวะบกพร่องทางสติปัญญา เป็นต้น
กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ กลุ่มอายุ 5 - 9 ปี, 0 - 4 ปี และ 10 - 14 ปี ตามลำดับ มีผู้ป่วยที่ต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล (IPD) 52,394 ราย โดยสายพันธุ์ที่ตรวจพบมากที่สุด คือ A/H1N1 (pmd09) นอกจากนี้ยังมีการพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนของโรคไข้หวัดใหญ่ 48 เหตุการณ์ ส่วนใหญ่พบในโรงเรียน ทั้งนี้ มีแนวโน้มผู้ป่วยลดลงแต่ยังสูงกว่าปี 2567
คำแนะนำสำหรับโรคติดเชื้อเฉียบพลันระบบทางเดินหายใจ สวมหน้ากากอนามัยเมื่อเข้าไปในที่ที่มีคนรวมตัวกันจำนวนมาก ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ หากป่วยติดเชื้อระบทางเดินหายใจ ควรหยุดพักรักษาตัวจนกว่าจะหายเป็นปกติ
สำหรับประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยงแนะนำให้เข้ารับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันเป็นประจำทุกปีโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายที่สถานพยาบาลของรัฐ และสถานพยาบาลเอกชนที่ร่วมโครงการ ในช่วงเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2568
ในส่วนของสถานศึกษาแนะนำให้ครูและอาจารย์ในสถานศึกษาต้องเฝ้าระวังและคัดกรองโรคไข้หวัดใหญ่ โควิด 19 ทุกวัน หากพบว่านักเรียนมีอาการป่วย ควรแยกนักเรียนออกจากกลุ่มนักเรียนที่ไม่ป่วย และแจ้งผู้ปกครองเพื่อให้ไปพบแพทย์ และหากพบมีนักเรียนป่วยมากกว่า 2 รายในหนึ่งสัปดาห์ในห้องเรียนเดียวกัน ควรแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ กรณีพบว่ามีการระบาดในพื้นที่ใกล้เคียงควรดำเนินการคัดกรองทุกวันตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข
โรคไข้เลือดออก ปี 2568 มีผู้ป่วย 19,491 ราย ผู้เสียชีวิต 21 ราย พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกต่ำกว่าปีที่ผ่านมา 1.8 เท่า แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะทางภาคเหนือ และภาคใต้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยเรียน แต่อัตราป่วยตายสูงในกลุ่มอายุ 45 ปี ขึ้นไป
แนะนำให้ประชาชนทายากันยุง ใส่เสื้อผ้าที่มิดชิด หากค้างคืนในป่า เขา ไร่ นา ต้องนอนในมุ้ง หรือหามุ้งคลุมเปล หากมีไข้สูง 1 - 2 วัน รับประทานยาลดไข้ เช็ดตัวแล้วไข้ไม่ลดปวดศีรษะ อ่อนเพลีย หรือมีผื่นจุดแดงขึ้นตามตัว ควรรีบไปพบแพทย์ และห้ามรับประทานยาลดไข้ชนิดอื่นนอกจากพาราเซตามอล
ที่มา ฐานเศษรฐกิจ
วันที่ 30 มิถุนายน 2568