GISTDA ตั้งวอร์รูมรับมือ "พายุวิภา" ส่งดาวเทียม-แอป เช็กพื้นที่น้ำท่วม
ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) เปิดเผยว่า ขณะนี้ GISTDA ได้เพิ่มประสิทธิภาพในการติดตามสถานการณ์พายุวิภา และสั่งการให้ทีมปฏิบัติการดาวเทียมและทีมปฏิบัติการด้านภูมิสารสนเทศเร่งจัดทำข้อมูลและลงพื้นที่เพื่อวางแผน ประเมิน และติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง
รวมทั้งประสานความร่วมมือกับเครือข่ายต่างประเทศในการใช้ข้อมูลจากดาวเทียมเพิ่มเติมนอกเหนือจากดาวเทียมที่ใช้งานอยู่แล้วอย่าง THEOS-1 และ THEOS-2 โดยเฉพาะกลุ่มดาวเทียมระบบ SAR ที่สามารถถ่ายทะลุเมฆได้ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานให้มากที่สุด
นอกจากนี้ยังเตรียมความพร้อมของ Platform “Disaster” และ Application “เช็คน้ำ” เพื่อการเข้าถึงและส่งข้อมูลให้กับหน่วยงานและประชาชนอย่างรวดเร็ว

สำหรับภาพรวมของสถานการณ์พายุวิภาที่ได้จากข้อมูลดาวเทียมพบว่า มีพื้นที่บางส่วนในหลายจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เริ่มได้รับผลกระทบ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่การเกษตร พื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำสายหลักและสายรอง รวมถึงชุมชนที่อยู่อาศัยและเส้นทางคมนาคมบางส่วน
ทั้งนี้ ระดับน้ำท่วมขังจะมีความลึกแตกต่างกันไปตามลักษณะของแต่ละพื้นที่ ส่วนพื้นที่ทางภาคเหนือที่เริ่มได้รับผลกระทบแล้วในขณะนี้ เราได้วางแผนการถ่ายภาพไว้แล้วด้วยเช่นกัน ซึ่งทุกข้อมูลเหล่านี้จะถูกส่งต่อให้กับหน่วยงานหลักทั้งระดับนโยบายและระดับปฏิบัติในพื้นที่ต่าง ๆ ได้นำไปใช้ประกอบการวางแผนและประเมินสถานการณ์แบบวันต่อวัน
เพื่อให้เกิดการแจ้งเตือนไปยังเครือข่ายหน่วยงานทุกภาคส่วนรวมถึงชุมชนให้ได้ทราบข้อมูล เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงทีต่อไป
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 24 กรกฏาคม 2568