ธุรกิจไมซ์ไทยสู้สุด ตั้งเป้าผงาดโลก คว้านักเดินทาง 18.5 ล้านคน โกย 1 แสนล้าน
เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยว่า หลังจากการระบาดโควิด-19 คลายตัว หลายประเทศเปิดการเดินทางได้สะดวกมากขึ้น รวมถึงไทยที่เปิดประเทศท่องเที่ยวแล้ว ทำให้อุตสาหกรรมไมซ์ทั่วโลกมีแนวโน้มที่ดีในการฟื้นตัวกลับมา
โดยทีเส็บได้ดึงงานประชุมสัมมนา และงานแสดงสินค้าขนาดใหญ่เข้ามาในไทยเพิ่มมากขึ้น และเป็นงานระดับโลกมากขึ้น สอดคล้องกับนโยบายที่วางไว้ อาทิ งานฟินเทค Money20/20 ที่จัดขึ้นในเมืองอัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ และลาสเวกัส สหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นงานฟินเทคที่ใหญ่ที่สุด
โดยทีเส็บมีแผนปฏิบัติการระยะ 5 ปี (2566-2570) ที่ให้การสนับสนุนและส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์ ภายใต้ยุทธศาสตร์ TCEB Go ด้วยความมุ่งมั่นในการเป็นพันธมิตรเพื่อความสำเร็จของธุรกิจ ขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางไมซ์ด้วยนวัตกรรมและสร้างความยั่งยืนร่วมกัน พร้อมกับผลักดันแคมเปญปีแห่งการจัดประชุมและนิทรรศการ 2566 หรือ Thailand MICE to Meet You Year 2023 เร่งกระตุ้นการจัดงาน สร้างรายได้กระจายสู่ภูมิภาคต่างๆ ฟื้นฟูเศรษฐกิจทั่วประเทศ
นายจิรุตถ์ กล่าวว่า แผนปฏิบัติการภายใต้ยุทธศาสตร์ TCEB Go จะสามารถขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์และผลักดันประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของไมซ์โลก ซึ่งจะดำเนินการตามยุทธศาสตร์ใน 5 ด้าน ได้แก่
1).T: Thailand As Global MICE Leader มุ่งผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในการจัดกิจกรรมไมซ์ระดับโลก เพื่อเพิ่มรายได้และขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ พร้อมสร้างพันธมิตรและสร้างโอกาสทางธุรกิจ
2).C: Create Destination Competitiveness Through Diverse Local Identity ยกระดับศักยภาพการรองรับกิจกรรมไมซ์ในแต่ละพื้นที่ ด้วยการสร้างความหลากหลายของอัตลักษณ์ในพื้นที่และประสบการณ์ที่มีคุณค่า ผ่านการพัฒนาและส่งเสริมความร่วมมือกับชุมชน ตลอดจนเครือข่ายในท้องถิ่น
3).E: Execute Innovative MICE Solution การส่งเสริมพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลและนวัตกรรมด้านการบริการไมซ์ เพื่อยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของไมซ์ไทยบนเวทีโลก
4).B: Build Agile and High Performance Organization มุ่งสู่การเป็นองค์การสมรรถนะสูงที่คล่องตัวและทันโลกและ
5).Go: Go for MICE Sustainability พลิกโฉมไมซ์ไทยด้วยความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผลักดันให้จุดหมายปลายทางไมซ์ได้รับการรับรองมาตรฐานด้านความยั่งยืนในระดับนานาชาติ
นายจิรุตถ์ กล่าวว่า การดำเนินงานในปีงบประมาณ 2566 (ตุลาคม 2565 ถึง กันยายน 2566) ทีเส็บมุ่งเน้นส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางการจัดประชุมและนิทรรศการนานาชาติของโลก โดยการประมูลสิทธิ์งานที่มีศักยภาพสูงระดับโลกเข้ามาจัดในไทย อาทิ งาน World Congress of Nephrology ในวันที่ 30 มีนาคม – 2 เมษายน ในด้านของธุรกิจงานแสดงสินค้ายังคงเดินหน้าส่งเสริมการจัดงานภายใต้ 12 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (12 S-Curve) อาทิ งาน VIV Asia 2023 & Meat Pro Asia 2023 วันที่ 8-10 มีนาคมนี้
ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าที่จัดอยู่ในอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารและอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ในส่วนของการประชุมองค์กรและการเดินทางเพื่อเป็นรางวัล มีนักเดินทางไมซ์ที่ยืนยันการเข้ามาจัดงานในประเทศไทยตั้งแต่เดือนมีนาคม-พฤศจิกายน ทั้งสิ้นกว่า 80,000 คน ซึ่งแบ่งเป็นนักเดินทางจากกลุ่มประเทศในเอเชียแปซิฟิกและอื่นๆ ประมาณกว่า 50,000 คน และเป็นกลุ่มลูกค้าจากประเทศจีนประมาณกว่า 30,000 คน
“เป้าหมายการดำเนินงานตลอดปีงบประมาณ 2566 คาดการณ์ว่าจะมีนักเดินทางไมซ์รวมจำนวน 18,550,000 คน สร้างรายได้ 109,000 ล้านบาท โดยเป็นนักเดินทางไมซ์ต่างชาติ 760,000 คน รายได้ 50,000 ล้านบาท และนักเดินทางไมซ์ในประเทศ 17,790,000 คน รายได้ 59,000 ล้านบาท ในส่วนของแผนปฏิบัติการระยะ 5 ปี TCEB Go คาดการณ์ว่าตั้งแต่ปีงบประมาณ 2566-2570 จะมีจำนวนนักเดินทางไมซ์รวมกว่า 160 ล้านคน ประมาณการรายได้รวมกว่า 945,000 ล้านบาท” นายจิรุตถ์ กล่าว
สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมไมซ์ไทยในไตรมาส 1/2566 (ตุลาคม-ธันวาคม) มีจำนวนนักเดินทางไมซ์รวมทั้งสิ้น 7,934,099 คน สร้างรายได้ 28,528 ล้านบาท โดยเป็นนักเดินทางไมซ์ต่างชาติ 183,618 คน สร้างรายได้ 12,028 ล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่มงานแสดงสินค้าจำนวน 97,015 คน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทำรายได้สูงสุด 6,876 ล้านบาท กลุ่มประชุมองค์กรจำนวน 55,687 คน รายได้ 3,238 ล้านบาท กลุ่มประชุมวิชาชีพจำนวน 17,653 คน รายได้ 1,063 ล้านบาท และกลุ่มการเดินทางเพื่อเป็นรางวัลจำนวน 13,263 คน รายได้ 851 ล้านบาท
ทั้งนี้ ด้านนักเดินทางไมซ์ในประเทศมีจำนวนรวม 7,750,481 คน สร้างรายได้ 16,500 ล้านบาท มีกลุ่มงานแสดงสินค้าเป็นตลาดใหญ่ที่สุดจำนวน 7,308,525 คน สร้างรายได้ 14,815 ล้านบาท รองลงมาคือ กลุ่มประชุมวิชาชีพจำนวน 304,826 คน รายได้ 1,109 ล้านบาท กลุ่มประชุมองค์กรจำนวน 129,054 คน รายได้ 537 ล้านบาท และกลุ่มการเดินทางเพื่อเป็นรางวัลจำนวน 8,076 คน รายได้ 39 ล้านบาท
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566