ทีเส็บ เร่งเครื่องบูสต์ไมซ์ในประเทศ หวังโกยรายได้ 5.9 หมื่นล้าน
ทีเส็บเร่งบูสต์ธุรกิจไมซ์ในประเทศ ชูจุดเด่น 4 ภาค อาหาร วัฒนธรรม ความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ มองประเด็นการเมืองไม่กระทบอุตสาหกรรมไมซ์ ตั้งเป้านักเดินทางไมซ์ 17.9 ล้านคน สร้างรายได้ 5.9 หมื่นล้าน
วันที่ 12 มิถุนายน 2566 นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา หลายประเทศได้ใช้อุตสาหกรรมไมซ์ในประเทศในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชาติ ในยามที่เศรษฐกิจโลกชะงักงัน และพบว่า อัตราการเติบโตของนักเดินทางไมซ์ไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
โอกาสนี้ ทีเส็บจึงวางแผนปรับกลยุทธ์เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมไมซ์ในประเทศ ภายใต้แนวคิด “มิติไมซ์ มิติใหม่ ไมซ์ดีดีที่เมืองไทย” เพื่อขยายโอกาสทางการตลาด การโปรโมตพัฒนาแคมเปญส่งเสริมการขาย ให้การสนับสนุน และการสื่อสารการตลาด
หนึ่งในแผนงานสำคัญที่ทีเส็บกำหนดไว้ คือ การเพิ่มคุณค่าระยะยาวของเศรษฐกิจและสังคม ควบคู่การพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ ผ่านกลยุทธ์ “3 ส” คือ สร้าง เสริม สนับสนุน
กลยุทธ์ : สร้าง
สร้างเครือข่ายพันธมิตรดึงงานระดับโลก ส่งเสริมการจัดธุรกิจไมซ์ในพื้นที่ เช่น การจัดงาน EEC Cluster Fair 2023 ระหว่างวันที่ 6-8 กันยายน 2566 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาตินงนุช พัทยา หรือการดึงงานมหกรรมพืชสวนโลก มหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี
กลยุทธ์ : เสริม
เสริมความแข็งแกร่งและขยายตัวของอุตสาหกรรมไมซ์ในประเทศ ด้วยโครงการ Empower Thailand Exhibition เพื่อสร้างการเติบโตให้กับงานแสดงสินค้าในประเทศ รวมถึงใช้เทคโนโลยีต่อยอดการจัดงานไมซ์
กลยุทธ์ : สนับสนุน
ผลักดันงานแสดงสินค้าสู่สากลผ่านโครงการ Exhibition-Inter Ready สนับสนุนการยกระดับงานแสดงสินค้าให้เป็นระดับนานาชาติ ซึ่งในปีหน้าจะมีการพัฒนา 2 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ และอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร
ชูจุดขายไมซ์ 4 ภาค :
ภาคเหนือ :
– ชูจุดเด่นการเป็นปลายทางที่รุ่มรวยทางวัฒนธรรม แหล่งอุตสาหกรรมสร้างสรรค์
– นำเสนอจุดหมายปลายทางด้านอาหาร สุขภาพและเวลเนส ซึ่งได้รับอิทธิพลจากภูมิประเทศและภูมิอากาศที่ดี
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ :
– ตำแหน่งที่ตั้งเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน เป็นประตูสู่การท่องเที่ยวชายแดนและความร่วมมือด้านเศรษฐกิจในภูมิภาค
– ออกแบบเส้นทางไมซ์ เน้นเส้นทาง “อีสานไมซ์ ไร้คาร์บอน” จัดโปรแกรมการเดินทาง 3 วัน 2 คืน โดยมีการคำนวนการปล่อยคาร์บอนตลอดการเดินทาง
ภาคกลาง :
– ขยายพื้นที่ศักยภาพไมซ์ไปยังจังหวัดอื่น ๆ ในภาค เช่น กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์
– จัดงานไมซ์ซึ่งเชื่อโยงยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ เช่น การจัดงานเชื่อมโยงกับพื้นที่ EEC
ภาคใต้ :
– ชูอัตลักษณ์ทั้งอุตสาหกรรมเรือสำราญและอาหารพื้นถิ่น
– เตรียมจัดงาน MICE Bazaar เปิดเวทีซื้อขายสินค้าบริการของอุตสาหกรรมไมซ์ ในเดือนกันยายนนี้ ที่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี
สำหรับประเด็นการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่จะมีผลต่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์ในประเทศหรือไม่นั้น นายจิรุตถ์กล่าวว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมไมซ์ยังไม่ได้รับผลกระทบจากประเด็นทางการเมือง ทีเส็บยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลรักษาการณ์อย่างเต็มที่ การดำเนินงานของทีเส็บยังดำเนินต่อไปตามปกติ
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานอุตสาหกรรมไมซ์ในประเทศครึ่งปีงบประมาณ 2566 (ตุลาคม 2565-มีนาคม 2566) พบว่า มีจำนวนนักเดินทางไมซ์ในประเทศจำนวน 10,974,350 คน สร้างรายได้ 25,016 ล้านบาท สสปน. คาดการณ์ว่าภายในสิ้นงบประมาณปี 2566 นี้ จะมีนักเดินทางไมซ์ในประเทศรวม 17,790,000 คน สร้างรายได้ราว 59,000 ล้านบาท
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 13 มิถุนายน 2566