พาณิชย์ แนะ SME ผลิตสินค้าให้ตอบโจทย์ตลาด
ปลัดพาณิชย์ ย้ำพาณิชย์ พร้อมช่วยหนุนเอสเอ็มอีบุกตลาดโลก ท่ามกลางวิกฤติปัญหาเศรษฐกิจโลก แนะเอสเอ็มอีผลิตสินค้าตามความต้องการผู้บริโภค เผย เทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพ อาหารอนาคตมาแรง
นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปาฐกถาพิเศษ “สร้างแต้มต่อ SME ไทยในตลาดโลก” ในงานสัมมนา PostToday Smart SME ยุค AI เขย่าโลก ที่จัดโดยโพสต์ทูเดย์ ว่า แม้แทคโนโลยีจะพัฒนาไปมากทั้งเอไอ โรบอท แชทจีพี แต่ตนก็ยังมีความเชื่อว่า อีกหลายอย่างเทคโนโลยียังสู้มนุษย์ไม่ได้เพราะคนมีความละเอียดอ่อนบางอย่าง AI ยังไม่สามารถทำได้
แต่การนำAIมาช่วยในการทำธุรกิจมีความสะดวกมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยในปี 2565 เอสเอ็มอีมีการสร้างรายได้ให้กับประเทศโดยเฉพาะในกลุ่มท่องเที่ยวกว่า 6 ล้านล้านบาท และเป็นMSME 3.13 ล้านรายหรือ 80% ที่อยู่ในอุตสาหกรรมบริการและการท่องเที่ยว และมีการส่งออกสินค้ามูลค่า 1 ล้านล้านบาท หรือ 10% ของการส่งออกรวม
ทั้งนี้เอสเอ็มอีถือว่าเป็นรากฐานของประเทศในการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ โดยรัฐบาลมีแผนการส่งเสริม รัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมฉบับที่ 5 ปี 2560-2570 ที่มีแนวทางส่งเสริม SME ทั้งสร้างความเจริญเติบโตทุกกลุ่ม ข้อมูลกฎหมาย นวัตกรรม
ปัจจุบันประเทศไทยถูกคุกคามด้วยเศรษฐกิจโลก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ อย่างสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลกระทบไมว่าจะเป็นวัตุดิบ ราคาพลังงาน การขนส่ง ซึ่งมีผลกระทบมหาศาล ยังไม่รวมสงครามการค้าระหว่างประเทศมหาอำนาจที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะเกิดความรุนแรงขึ้นอีก ซึ่งไทยเองก็เตรียมรับมือกับผลกระทบดังกล่าวตลอดเวลา
รวมถึงการถดถอยของเศรษฐกิจที่ในหลายประเทศไม่ว่าจะเป็น สหรัฐฯ อียู ทั้งเงินเฟ้อ กำลังซื้อซึ่งเป็นประเด็นให้ต้องติดตามทุกวัน เช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ทั้งภัยแล้ง สิ่งแวดล้อม ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางด้านอาหาร เกิดการกีดกันทางการค้า ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐเองก็ทำงานร่วมกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิดเพื่อฝ่าฟันอุปสรรคดังกล่าว
แม้ว่าการส่งออกในภาพรวมของไทยจะติดลบการโดย 4เดือนแรกติดลบ5.2% ถ้าเทียบกับเวียดนาม อินโดนีเซีย เกาหลีใต้หรือไต้หวัน ไทยถือว่าติดลบน้อยที่สุด แต่กลุ่มสินค้าด้านการเกษตรของไทยส่งออกขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน เฉพาะเดือนเม.ย. ขยายตัว 23 % มูลค่า 3,105 ล้านดอลลาร์ และรวม 4 เดือนแรกขยายตัว 7.3 % มูลค่า 8,996 ล้านดอลลาร์โดยเฉพาะกลุ่มผลไม้ มังคุดสด ทุเรียนสด ทุเรียนแช่แข็ง
อย่างไรก็ตามการส่งออกทั้งปี กระทรวงพาณิชย์ยังคงเป้าไว้ที่โต 1-2 % โดยร่วมมือกับภาคเอกชนผลักดันการส่งออกของไทยให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยตลาดที่น่าจะทำให้ตัวเลขส่งไทยขยายตัวได้คือตลาดตะวันออกกลาง ตั้งเป้าขยายตัว 20 % แอฟริกาใต้ 20 % เอเชียใต้ 10 % นอกจากนี้ยังเดินหน้าทำเอฟทีเอเพื่อสร้างแต้มต่อทางการค้าในตลาดโลก โดยปัจจุบันไทยมีเอฟทีเอ 14 ฉบับ 18 ประเทศ อยู่ระหว่างเจรจาอีก 8 ฉบับ
นายกีรติ กล่าวว่า สำหรับบทบาทของกระทรวงพาณิชย์ที่จะช่วยผู้ประกอบการ SME เริ่มตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ทั้งเรื่องของการบริการจดทะเบียนธุรกิจ การอำนวยความสะดวก นำระบบดิจิทัลเข้ามา ให้เกิดความสะดวกสบาย มีการคาดการณ์ นักท่องเที่ยวกำลังจะกลับมา ต้องเตรียมรองรับให้พร้อม ซึ่งสถิติการจดทะเบียนSME ตั้งแต่เดือนม.ค.-พ.ค.มีจำนวน 3,470 ราย ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งตอบโจทย์นักท่องเที่ยวต่างชาติที่กลับมาเที่ยวประเทศไทย การส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ ทั้งการสร้างโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีและการเพิ่มศักยภาพในการประกอบธุรกิจ ส่งเสริมธุรกิจไทยให้เข้มแข็งแข่งขันได้ นอกจากนี้ยังสร้างธรรมาภิบาลธุรกิจ ทั้งเรื่องของทำธุรกิจที่โปร่งใส กำกับดูแลธุรกิจให้ปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความเชื่อถือให้กับธุรกิจSME
กระทรวงพาณิชย์ยังมีการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ภายใต้ 3P 1S คือ 1. People การพัฒนาผู้ประกอบการผ่านหลักสูตรการอบรมต่างๆของสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการหรือNEA ปี 2566 ตั้งเป้าให้มีมากกว่า 6 หมื่นราย 2.Product การพัฒนาสินค้าและบริการ ผ่านกิจกรรมส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าสินค้าด้วยการสร้างแบรนด์ นวัตกรรม การดีไซน์ออกแบบ 3.Place การพัฒนาช่องทางการตลาด ทั้งไทยและต่างประเทศ ผ่านช่องทางงานแสดงสินค้า ส่งเสริมการตลาดทั้งออฟไลน์และออนไลน์ และ Service การบริการข้อมูลทางการ ผ่านแอปพลิเคชั่น สายด่วน 1169 เป็นต้นผลิตภัณฑ์ หรือองค์ประกอบอื่น ให้เอสเอ็มอี มีความแข็งแกร่ง
ทั้งนี้เอสเอ็มอีไทยเองต้องพัฒนาสินค้าที่ตอบโจทย์กับตลาดไม่ทำตามความต้องของตัวเองมากเกินไปเพราะถ้าพัฒนาสินค้าตามความสนใจของตัวเองจะไม่ส่งผลต่อการกลับมาซื้อซ้ำ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์เองก็มีหน่วยงานที่จะเข้าไปช่วยพัฒนาเอสเอ็มอีให้พัฒนาสินค้าที่ตอบโจทย์กับตลาด
โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหาร ซึ่งไทยถือว่ามีจุดแข็งในเรื่องอาหาร ไทยสามารถสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารโลกได้เพราะไทยมีวัตถุดิบเป็นแหล่งผลิตอาหารโลก แต่ต้องพัฒนาความหลากหลายทางด้านอาหารไม่ว่าจะเป็นอาหารจากพืช โปรตีนพืช โปรตีนจากแมลง หรือนวัตกรรมด้านอาหาร อาหารเพื่อสุขภาพ รวมไปถึง Future Food หรือ อาหารอนาคต แม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่แต่เทรนด์กำลังมาทางนี้ ดังนั้นเอสเอ็มอีที่กำลังมองหาทางเลือกว่าจะทำอะไรดี ซึ่งอุตสาหกรรมอาหารยังคงเป็นทางเลือกที่ดี
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 19 มิถุนายน 2566