เอสเอ็มอีไทยห่วงโหวตนายกฯลากกระทบศก. หวังได้นายกฯที่ดูทันสมัย
นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยกับ "มติชน" ว่า การเลื่อนโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีที่จะมีผลต่อการจัดตั้งรัฐบาลอาจล่าช้าออกไปอีก ได้เพิ่มความวิตกกังวลและความไม่มั่นใจในทุกมิติเพิ่มขึ้นไปอีก ซึ่งการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าเริ่มส่งสัญญาณเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบทันทีใน 5 เรื่อง คือ
1)ความเชื่อมั่นภาคการค้าและการลงทุนของต่างประเทศที่กำลังตัดสินใจอาจชะลอออกไปด้วย
2)ส่งผลทางจิตวิทยา ภาคการบริโภคและการจับจ่ายใช้สอยหดตัวลงอีก ซึ่งสัญญาณใช้จ่ายไม่เท่าเดิมมีต่อเนื่องมาตั้งแต่หลังเลือกตั้งผ่านไป 1 เดือนแล้ว จะหนักขึ้นอีก
3)งบประมาณรัฐปี 2567 ล่าช้าไม่ทันออกเดือนตุลาคมนี้ จะเสียหายต่อโอกาสขยายตัวทางเศรษฐกิจตั้งแต่ไตรมาส 3/2566 ซึ่งปีปกติจะมีงบประมาณต้นปีภาครัฐออกมากระตุ้นใช้จ่ายและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
4)ฉุดการขยายตัวของจีดีพี ไม่แค่จีดีพีรวมของประเทศที่ปีนี้อาจต่ำกว่าเป้า 3.6% เหลือต่ำกว่า 3% จะกดจีดีพีเอสเอ็มอีที่มีสัดส่วน 35% และมีมูลค่ารวม 6 ล้านล้านบาท ให้ต่ำลงหลังจากเพิ่งฟื้นตัวได้หลังโควิดคลี่คลายและขึ้นมาเล็กน้อย
5)ความเชื่อมั่นระดับประเทศไทยกับนานาประเทศลดลง ในแง่ขบวนการประชาธิปไตย และการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลเก่าไปสู่รัฐบาลใหม่ รวมถึงการเคลื่อนไหวของสภาจะบั่นทอนความเชื่อมั่นระดับประเทศหรือไม่
“การเมืองวันนี้ทำให้จิตตกกันหมด ไม่รู้ว่าจะเดินต่อไปอย่างไร ไม่รู้ว่าจะมีอะไรรุนแรง สัญญาณเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและประเทศเริ่มชัดเจนมากขึ้น วันนี้เดือนสิงหาคมแล้ว เดือนหน้าตุลาคม ปกติควรเป็นเดือนที่มีงบประมาณรัฐออกมา แต่วันนี้ไม่รู้ว่าจะอย่างไร ในต่างจังหวัดก็รอเรื่องงบประมาณ รอลงทุนใหม่ๆ ถ้าไม่มีก็กระทบไปถึงรายได้ กำลังใช้จ่าย การจ้างงาน และภาระหนี้ครัวเรือนเพิ่ม เป็นวงจรหนักไปเรื่อยๆ ก็หวังว่าโหวตครั้งหน้าจะสิ้นสุดเดือนสิงหาคมนี้” นายแสงชัยกล่าว
นายแสงชัยกล่าวต่อว่า ความกังวลต่อสถานการณ์การเมือง เอสเอ็มอีห่วง 3 เรื่อง คือ
1)เสถียรภาพการเมือง เอสเอ็มอีเราอยากเห็นรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศได้ต่อเนื่องและขับเคลื่อนให้ประเทศเดินหน้ายั่งยืนในทุกด้าน หน้าตาคณะรัฐมนตรี (ครม.) และนายกรัฐมนตรี อยากเห็นที่ทันสมัย หน้าตาต้องดูดี นั่นคือเป็นบุคคลที่มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับ มีความคิดทันสมัยและรวดเร็วตามสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงเร็วในวันนี้ ไม่อยากได้รัฐมนตรีแบบ ท.ท.ท. หรือท่องเที่ยวไปทั่วโลก
2)ภาพการแสดงออกของความขัดแย้งทางการเมืองทั้งในและนอกสภา อาจนำไปสู่ความลังเล วิตกกังวล ไม่สร้างสรรค์จนถึงขั้นรุนแรงเหมือนที่เคยเกิดในอดีต หากเป็นอย่างนั้นจะใช้เวลาการฟื้นเศรษฐกิจ ประเทศ และความเชื่อมั่นของต่างชาติอีกนาน
3)นโยบายแก้ปัญหาเศรษฐกิจต้องตอบโจทย์ หากการบริหารประเทศยังเป็นแนวคิดเดิมๆ ผลลัพธ์ที่ได้ก็จะเหมือนเดิมๆ ยิ่งทำให้ประเทศคู่แข่งเราทิ้งห่างออกไป วันนี้ประเทศต้องการคนที่ทันสมัย ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของโลก และตรงประเด็นให้ภาคธุรกิจขับเคลื่อนไปได้ เช่น ทบทวนเรื่องค่าแรง หากขึ้นถึง 600 บาท ก็ต้องมีการดูแลผลกระทบที่เกิดกับฐานรากทันที การกระตุ้นโดยใช้การแจกเงินทำได้ระยะสั้น แต่จะให้ดีต้องส่งเสริมและพัฒนาให้ประชาชนและธุรกิจยืนได้ด้วยตนเอง ควรเป็นการหาเบ็ดตกปลามาให้ แทนที่จะหาปลามาให้เขากิน การลดต้นทุนและการเข้าถึงแหล่งทุนเป็นเรื่องจำเป็นมากในการประคองประชาชนและธุรกิจวันนี้
“ดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นรายย่อยไม่เจอแค่ขึ้น 0.25% หรือจ่ายสูงสุดแค่ 2.25% แต่รายย่อยถูกเก็บดอกเบี้ย 2 หลักมาตลอด อยากให้รัฐบาลใหม่แก้ 2 เรื่องคือ ให้ ธปท. (ธนาคารแห่งประเทศไทย) โชว์ค่าเฉลี่ยอัตราดอกเบี้ยเอสเอ็มอีที่แยกจากดอกเบี้ยโดยรวม เพื่อให้รู้ว่าเอสเอ็มอีแบกรับภาระมาก และควรพิจารณาการปรับอัตราดอกเบี้ยที่ดูแลผู้กู้รายย่อยและผู้ฝากทั่วไปด้วย ที่มีช่องโหว่สูงมากขึ้นๆ อีกเรื่อง สั่งให้สำนักงานแข่งขันทางการค้ากำกับดูแลอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรมกับผู้บริโภคและธุรกิจรายย่อย ซึ่งวันนี้มีเพียง 20% ที่เข้าถึงเงินกู้ระบบ ทั้งที่มีเอสเอ็มอีทั่วประเทศหลายแสนรายที่มีปัญหาเข้าไม่ถึงแหล่งกู้ ทั้งที่ดูสถานะการเงินสถาบันการเงินที่ออกกำไรสูงทั้งสิ้น สะท้อนถึงสถานะภาคการเงินที่ยังดีอยู่มาก เป็นนโยบายที่เอสเอ็มอีอยากให้รัฐบาลใหม่ทำให้ทันที” นายแสงชัยกล่าว
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 3 สิงหาคม 2566