อาเซียนถกแผนงานเศรษฐกิจ ชูเทคโนโลยี-พลังงานสะอาด เสริมแกร่ง MSMEs
เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน ถกประเทศคู่เจรจา ติดตามความคืบหน้าการจัดทำแผนงานด้านเศรษฐกิจอาเซียน+3 สำหรับปี66-67 เร่งสร้างความแข็งแกร่งให้กับ MSMEs เน้นการใช้เทคโนโลยีและพลังงานสะอาด หารือแนวทางความร่วมมืออาเซียน+8 แก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และส่งเสริมระบบนิเวศดิจิทัล เตรียมเสนอที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ส.ค.นี้
วันที่ 7 สิงหาคม 2566 นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย) เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา คือ อาเซียนบวกสาม ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น และอาเซียนบวกแปด
ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา และรัสเซีย ระหว่างวันที่ 15-16 กรกฎาคม 2566 ณ เมืองสุราบายา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เพื่อกระชับความร่วมมือและส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น รวมทั้งเตรียมการสำหรับการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจบวกสามและบวกแปด ซึ่งจะจัดขึ้นช่วงกลางเดือนสิงหาคมนี้
นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 40 ได้หารือถึงความคืบหน้าการจัดทำแผนงานความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ สำหรับปี 2566-2567 ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความร่วมมือทางการค้า เศรษฐกิจ และการลงทุน โดยเน้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์โควิด
โดยเฉพาะการสร้างความแข็งแกร่งให้กับ MSMEs ผ่านการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า และสร้างความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน การส่งเสริมการลงทุนเพื่อใช้ประโยชน์จากพลังงานสะอาดที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และการส่งเสริมการค้าผ่านการใช้ประโยชน์จากความตกลง RCEP
สำหรับการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียนบวกแปด ครั้งที่ 12 ได้หารือถึงแนวทางความร่วมมือของประเทศสมาชิกในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาเพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนยุทธศาสตร์เพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอนของอาเซียน การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้
ทั้งการส่งเสริมเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการหมุนเวียนในห่วงโซ่มูลค่าโลก การส่งเสริมระบบนิเวศดิจิทัล และการลดช่องว่างทางดิจิทัลในภูมิภาค เพื่อเตรียมความพร้อมกลุ่ม MSMEs และ Startup ทั้งนี้ การดำเนินการตามแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนกับพันธมิตรทั้ง 2 กรอบ จะนำเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนบวกสามและบวกแปด ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงกลางเดือน ส.ค.นี้
ทั้งนี้ ในปี 2565 การค้าระหว่างไทยกับอาเซียนบวกสาม มีมูลค่า 306,072.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปอาเซียนบวกสาม มูลค่า 137,337.62 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากอาเซียนบวกสาม มูลค่า 168,734.91 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการค้าระหว่างไทยกับอาเซียนบวกแปด มีมูลค่า 412,397.47 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
โดยไทยส่งออกไปอาเซียนบวกแปด มูลค่า 208,975.28 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากอาเซียนบวกแปด มูลค่า 203,422.19 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับในช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค. 2566) การค้าระหว่างไทยกับอาเซียนบวกสาม มีมูลค่า 123,813.06 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการค้าระหว่างไทยกับอาเซียนบวกแปด มีมูลค่า 167,179.31 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 7 สิงหาคม 2566