ส่องแผนอุ้มเอสเอ็มอี…ฝ่ามรสุมครึ่งปีหลัง 2566
ด้วยสถานการณ์การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่ยังติดหล่มกติกาการเมืองมากว่า 3 เดือนหลังการเลือกตั้งจบลง แน่นอนว่าย่อมส่งผลต่อภาคธุรกิจไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) กว่า 3 ล้านรายทั่งประเทศ คิดเป็นสัดส่วนกว่า 90% ของผู้ประกอบการทั้งระบบ ซึ่งกลุ่มนี้มีความเปราะบาง ต่างกำลังรอความหวังว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อคลอดชุดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกินครั้งใหญ่
ด้วยเวลาที่ล่วงเลยดังกล่าว ล่าสุดเริ่มเห็นสัญญาณชัดจาก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่มีสมาชิกกว่า 90% เป็นเอสเอ็มอึ ระบุว่า ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2566 อยู่ที่ระดับ 92.3 ปรับตัวลดลง จาก 94.1ในเดือนมิถุนายน และเป็นค่าดัชนีฯต่ำสุดในรอบ10เดือน
สาเหตุมาจากปัจจัยเสี่ยงในประเทศมาจากปัญหาหนี้ครัวเรือน ค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูง อัตราดอกเบี้ยขาขึ้นที่กระทบต่อแรงซื้อและต้นทุนการผลิต อีกทั้งการเมืองที่ยังมีความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของภาคเอกชน ส่วนปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกมาจากเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบางมีผลต่อการส่งออกไทยชะลอตัว 9 เดือนติด
ฟากหน่วยงานสนับสนุนเอสเอ็มอีอย่าง สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ก็ให้ข้อมูลไปในทิศทางเดียวกันว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีประจำเดือนมิถุนายน 2566 เปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่า ค่าดัชนีเอสเอ็มอีอยู่ที่ระดับ 50.9 ลดลงจากระดับ 53.0
องค์ประกอบของดัชนีลดลงเป็นผลจากกำลังซื้อที่ชะลอตัวลงและไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มกำลังซื้อออกมา ประกอบกับอยู่ระหว่างการรอจัดตั้งรัฐบาล รวมถึงความกังวลต่อต้นทุนโดยเฉพาะกลุ่มอาหารสดและค่าไฟฟ้า ถึงแม้แนวโน้มเงินเฟ้อจะลดลงแล้วก็ตามแต่ราคาสินค้ายังคงตัวอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตามค่าดัชนีเอสเอ็มอียังสูงกว่าค่าฐาน
โดยผู้ประกอบการมีความกังวลด้านต้นทุน เนื่องจากราคาวัตถุดิบรวมถึงพลังงานยังคงตัวอยู่ในระดับสูง ถึงแม้ภาวะเงินเฟ้อจะมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราต่ำติดต่อกันแล้วก็ตาม
นอกจากนี้ ผลการสำรวจผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือมากที่สุดในเดือนนี้ คือ ด้านการกระตุ้นการใช้จ่าย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยและกลุ่มธุรกิจภาคการค้า โดยมาตรการที่ต้องการจะเป็นรูปแบบโครงการเราชนะ และมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว ส่วนผู้ประกอบการขนาดย่อมและขนาดกลาง ต้องการให้ดูแลด้านต้นทุนและค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะในกลุ่มภาคธุรกิจการผลิต อาทิ การควบคุมราคาสินค้าหรือวัตถุดิบ และควบคุมค่าสาธารณูปโภค
ข้อมูลข้างต้นสะท้อนความกังวล ผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งระหว่างที่ทุกฝ่ายกำลังจับจ้อง เฝ้ารอการจัดตั้งรัฐบาล อีกมุมหนึ่งก็พบว่าหน่วยงานรัฐหลายอย่างที่มีหน้าที่สนับสนุนเอสเอ็มอีก็พยายามใช้เครื่องมือตลอดจนงบประมาณที่มีอยู่เพื่อเดินหน้าตามพันธกิจอย่างเต็มที่
หนึ่งในนั้นคือ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.) หรือดีพร้อม
“ใบน้อย สุวรรณชาตรี” อธิบดีดีพร้อม ระบุถึงแผนการทำงานสนับสนุนเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชนในครึ่งปีหลัง 2566 ว่า จะเดินหน้าสนับสนุนผู้ประกอบการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้เติบโตคาดมูลค่าเศรษฐกิจจะเกินเป้าหมายที่วางไว้ตลอดทั้งปีกว่า 7,500 ล้านบาทแน่นอน หลังจาก ซึ่งครึ่งปีที่ผ่านมาสามารถสร้างมูลค่าเศรษฐกิจแล้วกว่า 5,000 ล้านบาท สามารถยกระดับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี วิสาหกิจชุมชน และประชาชนแล้วกว่า 28,000 ราย
ภายใต้ปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจไทยที่ยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น มีปัจจัยบวกจากการท่องเที่ยวและการบริโภคของภาคเอกชนที่เริ่มฟื้นตัวส่งผลดีกับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเรื่องนี้ ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กำหนดนโยบายอุตสาหกรรมคู่ชุมชน หรือ MIND ให้ความสำคัญกับการยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทย จึงมอบหมายให้หน่วยงานต่าง ๆ เร่งดําเนินการยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการให้มีความเข้มแข็งในทุก ๆ มิติ ซึ่งจะเป็นฟันเฟืองสำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน
ดังนั้น ดีพร้อม จึงมุ่งขับเคลื่อนองค์กรและส่งเสริมศักยภาพเอสเอ็มอี สตาร์ตอัพ และวิสาหกิจชุมชน ภายใต้นโยบาย ดีพร้อมโต “โตได้ โตไว โตไกล โตให้ยั่งยืน” ซึ่งในครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ดีพร้อมดําเนินงานขับเคลื่อนโครงการ กิจกรรมต่างๆ โดยจะดำเนินการต่อเนื่องตลอดปีนี้ ประกอบด้วย
1. โตได้ (START)
สนับสนุนให้เกิดการเริ่มต้นธุรกิจ เสริมสร้างเศรษฐกิจฐานราก และยกระดับเกษตรกรสู่นักธุรกิจเกษตรผ่านโครงการ/กิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การยกระดับสินค้าเกษตรสู่เกษตรอุตสาหกรรม การยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจชุมชน การจัดตั้งและขยายธุรกิจ การพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน รวมทั้งการส่งเสริมและพัฒนาสตาร์ทอัพของไทย ขณะนี้ขยายเครือข่ายสตาร์ทอัพ เครือข่ายเงินทุน และเครือข่ายตลาดให้กับกลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพเติบโตอย่างยั่งยืน และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 1,000 ล้านบาท
2. โตไว (SPEED)
ส่งเสริมให้เอสเอ็มอีมีความเข้มแข็งและเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ด้วยการลดต้นทุน สร้างมาตรฐาน เพิ่มผลิตภาพ และประยุกต์ใช้เทคโนโลยี อาทิ การสร้างและพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ การปรับธุรกิจให้รองรับการเปลี่ยนแปลง การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจไทยด้วยดิจิทัล การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการโลจิสติกส์อย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิดหลัก “เปลี่ยนค่าใช้จ่ายเป็นเงินทุน เปลี่ยนต้นทุนเป็นกําไร” เพื่อให้เกิดการลดต้นทุนทางด้านโลจิสติกส์ภายในองค์กรอย่างเป็นระบบ ขณะนี้ลดต้นทุนโลจิสติกส์และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1,800 ล้านบาท
3. โตไกล (SCALE)
ทรานส์ฟอร์มธุรกิจสู่เวทีโลกด้วยด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมผ่านเครื่องมือต่าง ๆ อาทิ การยกระดับศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน การพัฒนาและเชื่อมโยงอุตสาหกรรมและบริการทางการแพทย์ การพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติและดิจิทัล และการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมยานยนต์ ขณะเดียวกัน ครึ่งปีหลังดีพร้อมได้นําร่องสร้างต้นแบบยานยนต์ไฟฟ้าด้วยการนํารถยนต์ราชการอย่างรถมินิบัสและรถตู้ที่มีสภาพไม่พร้อมใช้งานมาดัดแปลงเป็นยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อส่งเสริมแนวคิดอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เน้นความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งคาดว่าจะสามารถทดสอบ การวิ่ง ภายในเดือนกันยายนนี้ รวมทั้งพัฒนาต้นแบบรถสามล้อไฟฟ้าและมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าอีกด้วย
4. โตให้ยั่งยืน (SUSTAINABLE)
ตามแนวทาง บีซีจี โมเดล เน้นรักษาสิ่งแวดล้อมและชุมชน สนับสนุนปัจจัยเอื้อต่อธุรกิจและเข้าถึงความช่วยเหลือของภาครัฐผ่านการดําเนินงานต่าง ๆ อาทิ การยกระดับธุรกิจเอสเอ็มอีด้วยการประยุกต์ใช้โมเดลเศรษฐกิจบีซีจีแบบรอบด้าน เชื่อมโยงงานวิจัยเพื่อพัฒนาวัสดุอุตสาหกรรมจากไบโอพลาสติก การสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยการนําของเสีย หรือวัสดุเหลือใช้จากภาคอุตสาหกรรมและเกษตร ตลอดจนการยกระดับพืชกัญชงซึ่งได้พัฒนาเครื่องคัดแยกวัตถุดิบและเครื่องคัดแยกเส้นใยนําร่องสู่การแปรรูปเป็นวัสดุเส้นใยแห่งอนาคต
อธิบดีดีพร้อม ยังระบุว่า ได้มีการเชื่อมโยงและขยายโอกาสทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ผ่านการจัดงานแฟร์และการจับคู่ธุรกิจผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ แสดงสินค้าระดับนานาชาติ ปัจจุบันมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 3,380 ล้านบาท รวมทั้งยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ผ่านโมเดลชุมชนดีพร้อม กระตุ้นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพและจิตสาธารณะ หรือดีพร้อมฮีโร่ข่วยชุมชน 21 ราย และประสานประโยชน์ไปยังชุมชนต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรมกว่า 3,080 ครัวเรือน 10,900 ราย และกระตุ้นให้เกิดการกระจายรายได้กว่า 600 ล้านบาท
“ครึ่งปีหลัง 2566 ดีพร้อมจะส่งเสริม พัฒนา และสนับสนุนผู้ประกอบการอย่างเข้มข้นขึ้น มุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการด้านการตลาดออนไลน์ การเชื่อมโยงและขยายโอกาสทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ต่อยอดความสําเร็จของโครงการอาชีพดีพร้อมซอฟท์เพาเวอร์ด้านอาหารเพื่อยกระดับศักยภาพชุมชน นำร่อง 22 ชุมชนทั่วประเทศ มั่นใจภายในสิ้นปีจะกระตุ้นเศรษฐกิจเกินกว่าเป้าหมาย”อธิบดีดีพร้อมทิ้งท้าย
เมื่อเครื่องมือรัฐยังทำงาน เอสเอ็มอีอาจปรับโหมดปรับตัวเดินหน้าเคาะประตูรัฐทุกช่องทาง ระหว่างรอรัฐบาลใหม่ เพื่อเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจได้อีกทาง!!
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 20 สิงหาคม 2566