ผู้ประกอบการ SME ยุคใหม่ ต้องรู้ สรุปไอเดีย "วิธีอยู่รอด" จากผู้มีประสบการณ์
การขับเคี่ยวทางธุรกิจที่สูงในปัจจุบัน ผู้ค้ามากราย ผู้ซื้อน้อยคน ยิ่งเผชิญเหตุการณ์ไม่คาดฝันอย่างโควิด-19 และการเมืองพลิกขั้วแล้ว ธุรกิจเอสเอ็มอี (SME) จะมีวิธีอยู่รอดอย่างไร ท่ามกลางโลกธุรกิจที่ผันผวนแบบรถไฟเหาะเช่นนี้
ผ่านโควิด-19 ไปได้ไม่นาน ไทยก็เผชิญความเสี่ยงด้านหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 90% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) อีกทั้งเงินบาทยังอ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 11 เดือน ขณะที่ “จีน” ตลาดใหญ่ของไทยก็เผชิญเศรษฐกิจซบเซา กลายเป็นความท้าทายใหม่ว่า ผู้ประกอบการไทยจะเอาตัวรอดในสภาวะไม่มั่นคงเช่นนี้ได้อย่างไร
เมื่อไม่นานนี้ มีการจัดงานสัมมนาด้านการตลาดสำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ชื่อว่า “Digital SME Conference Thailand 2023” ที่ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ กรุงเทพฯ โดยมีธีมงานเป็น “จิ๊กซอว์” ที่แต่ละชิ้นรูปร่างต่างกัน แต่สามารถเติมเต็มให้กันได้ สาระสำคัญจากวิทยากรในงานดังกล่าว สามารถสรุปเป็นข้อคิด “ด้านเอาตัวรอดในธุรกิจ” ที่น่าจะเหมาะสมกับสถานการณ์ตอนนี้ได้ ดังต่อไปนี้
ทำอย่างไรให้บริษัทอยู่รอด :
ทรงพล ชัยมาตรกิจ ผู้ก่อตั้งช่องโฆษณา TV Direct แชร์ประสบการณ์ส่วนตัวว่า ตลอดประสบการณ์ของเขา 34 ปีที่ผ่านมา ก่อตั้งบริษัทมา 32 บริษัท ประสบความล้มเหลวมากมาย ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เขาล้มมาแล้วนั้น แบ่งออกเป็น
1)กระแสเงินสด สำคัญกว่าผลกำไรและขาดทุนเสียอีก ปัญหาคือ หลายธุรกิจขาดสภาพคล่อง เพราะกู้เงินระยะสั้นไปใช้จ่ายในระยะยาว และกู้เงินระยะยาวไปใช้จ่ายในระยะสั้น รวมถึงก่อหนี้จนเกินตัว จนกลายเป็นความเสี่ยงให้บริษัทล้มได้
2)ความเป็นจริง กับ ความเห็น เมื่อบริหารธุรกิจจะมีข้อมูลมากมายมหาศาล ซึ่งสิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการควรทำ คือ แยกแยะให้ได้ระหว่าง “ข้อเท็จจริง” กับ “ความเห็น” เพื่อให้การตัดสินใจ
สอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น ทรงพลกล่าวว่า “มีซัพพลายเออร์จำนวนมากพยายามขายสินค้าให้ผม ไม่มีใครบอกว่าไม่ดี คำถามสำคัญคือ สิ่งเหล่านี้จำเป็นหรือไม่กับบริษัท”
3)มองโลกในแง่ดีเกินไป ทรงพลเผยว่า ตัวเองเคยคาดว่าโควิด-19 จะจบภายในปี 2564 จึงใช้เงินบริษัท 250 ล้านบาทประคองบริษัท ลดเงินเดือนลูกน้องลงเล็กน้อย ปรากฏว่าคาดการณ์ผิด โควิด-19 ยาวนานกว่านั้น จนทำให้เงินของบริษัทเกือบหมด
ส่วนภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) บริษัท Pay Solutions ผู้ให้บริการระบบชำระเงินออนไลน์ ให้ข้อคิดว่า สิ่งที่จะทำให้บริษัทอยู่รอดได้ คือ “ความแตกต่าง” หากสินค้าเหมือนกับคนอื่น สุดท้ายแล้ว การแข่งขันจะจบด้วยราคา
ภาวุธเล่าด้วยว่า ช่วงเริ่มก่อตั้งธุรกิจ เขาตั้งใจจะไม่สร้างธุรกิจที่เหมือนกับคนอื่น แต่จะสร้างในสิ่งที่ตลาดยังไม่มี อย่าง TARAD.com เว็บไซต์ให้บริการด้านการค้าขายออนไลน์ซึ่งถือกำเนิดขึ้นเป็นอันดับแรก ๆ ของเมืองไทย แน่นอนว่าย่อมเสี่ยงล้มเหลวมากกว่า แต่ท้ายที่สุด หากทำสำเร็จจะเป็นโอกาสครองตลาดได้ก่อนใคร
เทคนิคสร้างการเติบโต ในภาวะแข่งขันสูง :
ในสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขันสูง ภาวุธมองว่า หากเป็นธุรกิจเดียว และต้องพึ่งพาอีกหลายธุรกิจให้ส่งสินค้าให้ หากบริษัทเหล่านั้นขึ้นราคาสินค้าหรือเปลี่ยนใจไม่ขายให้ ก็ส่งผลกระทบต่อบริษัทอย่างยิ่ง จึงควรขยายบริษัทให้ “ครบวงจร” เพื่อคุมต้นทุนของทั้งห่วงโซ่
นอกจากนี้ ภาวุธยกตัวอย่าง “ร้านบะหมี่” ที่เข้าซื้อธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องกัน ขยายเป็นเจ้าของธุรกิจโรงงานทำเส้น โรงงานทำลูกชิ้น โรงงานทำหมูแดง ฟาร์มผัก เพื่อคุมห่วงโซ่การผลิตบะหมี่ทั้งหมด ลดการพึ่งพาคนอื่น และควบคุมต้นทุนได้ดียิ่งขึ้น
ขณะที่ประเด็นความแตกต่างระหว่างบริษัท “เอสเอ็มอี” กับ “สตาร์ทอัพ” นั้น ภาวุธบอกว่า เอสเอ็มอีได้เงินทุนบริษัทมาจากเงินส่วนตัว หรือต้องกู้ธนาคารมาพร้อมดอกเบี้ย ทำให้ต้องพะว้าพะวังกับภาระหนี้ และจำนวนครั้งลองผิดลองถูกก็สู้สตาร์ทอัพไม่ได้ ซึ่งได้เงินสนับสนุนมาจากนักลงทุนหลายคน ไม่ต้องมีดอกเบี้ย มีสายป่านยาว โดยขอเพียงเจ้าของสตาร์ทอัพมีไอเดียสุดเจ๋งที่เปลี่ยนโลกได้ นักลงทุนก็ยินดีทุ่มเงินสนับสนุน
ด้าน กฤษฏิ์กุล ชุมแก้ว เจ้าของ “After Yum” ร้านยำชื่อดัง กล่าวในเวทีเดียวกันว่า การจะทำให้กิจการของร้านเจริญรุ่งเรืองนั้น ต้องอาศัยหลัก 5 ประการดังนี้
1. Empathize เข้าใจลูกค้า ถือเป็นจุดเริ่มต้นการทำธุรกิจ ด้วยการมองหาว่าลูกค้าต้องการอะไร มีความชอบแบบใด และสร้างสินค้าและบริการให้ตรงใจลูกค้า
2. Define การวิเคราะห์ข้อมูล เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลจากข้างนอกมาข้างในบริษัท และข้างในบริษัทไปสู่ข้างนอก ในหลากหลายมุมมอง
3. Wow Moment สร้างไอเดียและประสบการณ์ที่ว้าว เหมือนกรณี “เจ๊ไฝ” ที่ทำเมนูไข่เจียวที่แปลกใหม่จากไข่เจียวแบบดั้งเดิม อัดเนื้อสัตว์ข้างในไข่เต็มคำ
4. Prototype แบบการลงมือทำ ไอเดียดีจะเป็นจริงได้ ต้องเริ่มจากการลงมือทำก่อน หากไม่มั่นใจ ให้เริ่มจากทำในสิ่งที่เล็ก ๆ และดูก่อนว่าต่อยอดไปได้ไกลเพียงใด
5. Test ทดสอบไอเดีย นำไอเดียธุรกิจที่ทำออกมาลองเฉพาะกลุ่ม ลงมาลองในตลาดจริง และรับฟังความเห็นของสาธารณะว่าเป็นอย่างไร ควรปรับปรุงจุดใดบ้าง
ตัวอย่างแนวคิดที่เป็นประโยชน์เหล่านี้ ก็ได้มาจากการตกผลึก ลองผิดลองถูกของเหล่าผู้บริหารธุรกิจที่เข้ามาบรรยายในครั้งนี้ ซึ่งท่านผู้อ่านสามารถหยิบใช้เป็นจิ๊กซอว์ที่เหมาะสมกับภาพธุรกิจของตัวเองได้ เพื่อทำให้ภาพธุรกิจที่ดำเนินอยู่สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 5 ตุลาคม 2566