10 ปีสายแถบและเส้นทาง "จีน" ทุ่มเพิ่ม 1 แสนล้านดอลลาร์
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ประกาศกลางเวทีการประชุมข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง อัดฉีดเงินทุนก้อนใหม่กว่า 1 แสนล้านดอลลาร์เนื่องในวาระครบรอบ 10 ปี
ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (บีอาร์ไอ) โครงการสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่เปิดตัวในปี 2556 เป็นเสาหลักในการขยายอิทธิพลของจีนไปต่างประเทศ รัฐบาลปักกิ่งเผยว่า นับถึงวันนี้ได้ลงนามทำสัญญามูลค่าสองล้านล้านดอลลาร์กับประเทศต่างๆ ทั่วโลก
ผู้สนับสนุนยกย่องว่าบีอาร์ไอนำทรัพยากรและการเติบโตทางเศรษฐกิจไปสู่โลกฝ่ายใต้ แต่ก็มีเสียงวิจารณ์เรื่องการสร้างหนี้สินมหาศาลให้กับประเทศยากจน
ล่าสุดเมื่อวันพุธ (18 ต.ค.) ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ประกาศว่า ธนาคารพัฒนาจีนและธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออก สองธนาคารใหญ่ที่ปล่อยกู้ให้กับโครงการให้สินเชื่อเพิ่มเติมอีก 1 แสนล้านดอลลาร์ เป็นการปล่อยกู้โดยตรง 3.5 แสนล้านหยวน และปล่อยกู้ผ่านกองทุนซิลค์โรด ซึ่งเป็นสถาบันปล่อยกู้อย่างเป็นทางการอีก 8 หมื่นล้านหยวน
การประชุมข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (บีอาร์เอฟ) ณ กรุงปักกิ่งในสัปดาห์นี้ถือเป็นครั้งที่ 3 มีตัวแทนจาก 130 ประเทศเข้าร่วมประชุมรวมทั้งนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสินของไทย
ที่ผ่านมา โครงการบีอาร์ไอถูกวิจารณ์มาตลอดว่ามูลค่าโครงการก่อสร้างโดยบริษัทจีนไม่ชัดเจน หลายประเทศ อาทิ มาเลเซีย เมียนมา เจรจาขอลดราคาลงมาหลายครั้ง
รายงานที่ธนาคารโลกจัดทำร่วมกับสถาบันอื่นๆ ชี้ว่า ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาปักกิ่งต้องเข้าไปอุ้มหนี้บีอาร์ไอให้กับหลายๆ ประเทศ เพื่อเปิดช่องให้ประเทศเหล่านั้นกู้เพิ่มพร้อมๆ กับสามารถชำระหนี้ได้ เดือนนี้จีนเพิ่งเผยว่า ผู้ร่วมโครงการบีอาร์ไอติดหนี้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าจีนกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์
นอกจากหนี้สินแก่ประเทศผู้กู้ บีอาร์ไอยังถูกจับตาเรื่องปล่อยคาร์บอนฟุตปรินท์มหาศาล โครงการโครงสร้างพื้นฐานใหญ่โตทำลายสภาพแวดล้อม นักวิจัยจากจีน สหรัฐ และสหราชอาณาจักรเคยเตือนเมื่อปี 2562 ว่า การพัฒนาท่าเรือใหญ่ ท่อส่งน้ำมัน ทางรถไฟ และทางหลวงของบีอาร์ไออาจสกัดไม่ให้บรรลุเป้าหมายตามข้อตกลงปารีสว่าด้วยโลกร้อน
แต่สำหรับสีแล้ว บีอาร์ไอพยายาม "อัดฉีดแรงกระตุ้นใหม่ให้กับเศรษฐกิจโลก เป้าหมายของโครงการต้องการยกระดับนโยบาย โครงสร้างพื้นฐาน การค้า การเงิน และการติดต่อระหว่างประชาชนกับประชาชน เราเชื่ออย่างแรงกล้าว่า ความร่วมมือที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์เท่านั้นที่จะทำให้สิ่งต่างๆ เกิดขึ้นได้ และเกิดขึ้นได้อย่างดี จีนประสงค์จะกระชับความร่วมมือกับพันธมิตรบีอาร์ไอ ทำงานอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อทำให้ทุกประเทศในโลกทันสมัยอย่างแท้จริง"
ในเวทีแห่งนี้อันเป็นที่รวมประมุขของรัฐหลายประเทศ รวมถึง “เพื่อนรัก” ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซีย สีใช้เวทีบีอาร์เอฟเตือนเรื่องการตัดขาดทางเศรษฐกิจจากจีน และวิจารณ์ความพยายามของชาติตะวันตกที่ต้องการลดพึ่งพาเศรษฐกิจจีน
“เราต่อต้านการคว่ำบาตรฝ่ายเดียว การบีบบังคับทางเศรษฐกิจ การตัดขาดและป่วนห่วงโซ่อุปทานชีวิตของเราจะไม่ดีขึ้น การพัฒนาของเราจะไม่เร็วขึ้นถ้าเรามองการพัฒนาของคนอื่นเป็นภัยคุกคาม มองการพึี่งพากันและกันทางเศรษฐกิจเป็นความเสี่ยง” ประธานาธิบดีจีนย้ำ
ทั้งนี้ ผู้นำชาติตะวันตกเคยชี้แจงแล้วว่า เป้าหมายของพวกเขาคือ “การลดความเสี่ยง” ไม่ใช่ “การตัดขาด” จากจีน ต้องการสร้างห่วงโซ่อุปทานให้หลากหลายไม่พึ่งพาจีนที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองมากเกินไป
ชาติตะวันตกเคลือบแคลง :
ความเคลือบแคลงของชาติตะวันตกต่อแผนการใหญ่ของสีมาจากข้อสงสัยที่ว่า บีอาร์ไอคือเครื่องมือขยายอิทธิพลจีนไปทั่วโลก ซึ่งจีนตอบโต้ว่านี่คืออคติที่มีต่อจีน ไม่อยากให้จีนผงาด เป็นการวิจารณ์โดยไม่ได้ดูเจตนารมณ์อันดีที่แท้จริง
ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ของอินโดนีเซีย ประเทศที่ติดหนี้จีนกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์แสดงสุนทรพจน์ “โครงการบีอาร์ไอจะต้องไม่สร้างเงื่อนไขทางการคลังที่ยุ่งยากให้กับประเทศต่างๆ”
ขณะที่ปูตินซึ่งแสดงสุนทรพจน์ถัดจากสี ยกย่องบีอาร์ไอพร้อมชักชวนการลงทุนจากทั่วโลกเข้ามาในเส้นทางทะเลเหนือ เพื่อกระชับการค้าระหว่างตะวันออกและตะวันตก ซึ่งระหว่างที่ปูตินกล่าวบนเวทีเจ้าหน้าที่ยุโรปหลายรายพากันเดินออกจากห้องประชุม
บีอาร์ไอสีเขียว :
เพื่อให้สอดรับกับโลกยุคใหม่ ประธานาธิบดีสีทำโครงการบีอาร์ไอให้เล็กลงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หลีกเลี่ยงโครงการอภิมหาโปรเจค เช่น เขื่อนมาเป็นโครงการไฮเทคแทน อาทิ การเงินดิจิทัลและแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เป้าหมายคือช่วยผลักดันระเบียบโลกให้หลากขั้วมากขึ้น มีองค์กรช่วยเหลือโลกฝ่ายใต้เพิ่มขึ้น แทนที่จะถูกครอบงำโดยรัฐบาลวอชิงตันและพันธมิตรเท่านั้น
ปัจจุบันบีอาร์ไอให้ความสำคัญกับประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปัญญาประดิษฐ์มากกว่าเดิม สีประกาศบนเวทีให้คำมั่น “กระชับความร่วมมือด้านโครงสร้างพื้นฐาน พลังงาน และการขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” และ “ผลักดันโครงการริเริ่มระดับโลกว่าด้วยการดูแลปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ)”
หลังถ้อยแถลงของสี กระทรวงการต่างประเทศจีนแถลงว่า จีนจะผลักดันให้มีองค์กรสหประชาชาติดูแลเอไอ ปักกิ่งไม่เห็นด้วยกับ “การขัดขวางด้วยเจตนาร้าย” ต่อการพัฒนาเอไอของประเทศอื่น สำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่า ถ้อยแถลงนี้ฟังดูเหมือนอ้างถึงความพยายามของรัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่สกัดการส่งออกชิปเอไอทันสมัยไปยังจีน
ด้านตัวแทนภาคธุรกิจยุโรปหรายหนึ่งผู้ไม่ประสงค์ออกนาม เผยกับรอยเตอร์นอกพิธีเปิดว่า บีอาร์ไอ “ส่งผลกระทบต่อบางประเทศที่เกี่ยวข้อง ผมคิดว่าที่คนพูดบนเวทีส่วนหนึ่งก็ถูกเรื่องที่โครงการช่วยยกระดับชีวิตผู้คนและการเชื่อมต่อ”
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 19 ตุลาคม 2566