เศรษฐกิจสหรัฐดีจริงหรือหลอก ? ทำไมตลาดและนักเศรษฐศาสตร์ไม่ตื่นเต้นกับจีดีพีที่โต 4.9%
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเผยแพร่ประมาณการเศรษฐกิจไตรมาส 3 ปี 2023 เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2023 ว่าเศรษฐกิจสหรัฐไตรมาส 3 ของปีนี้เติบโต 4.9% เป็นอัตราการเติบโตที่แข็งแกร่งเกินคาด ซึ่งเร่งตัวขึ้นมากจากไตรมาส 2 ที่โตเพียง 2.1% และเป็นการเติบโตของจีดีพีรายไตรมาสที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2021
การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนี้มาจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ซึ่งคิดเป็นประมาณ 68% ของจีดีพีที่เพิ่มขึ้น นอกจากนั้นก็มาจากสินค้าคงคลังที่เพิ่มขึ้น การส่งออก การลงทุนในที่อยู่อาศัย และการใช้จ่ายภาครัฐ
แม้ว่ารายงานประมาณการเศรษฐกิจล่าสุดนี้อาจเป็นแรงผลักดันให้ธนาคารกลางสหรัฐรักษานโยบายที่เข้มงวด แต่เหล่าเทรดเดอร์ในตลาดทุนยังคงมั่นใจว่าจะไม่มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลาสหรัฐ (FOMC) ในวันที่ 1 พฤศจิกายน โดยใน FedWatchTool ของ CME Group (ณ เวลา 16.50 น. วันที่ 27 ตุลาคม เวลาไทย) นักลงทุนเทน้ำหนัก 99.50% ว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม
อัตราการเติบโตของจีดีพีมากเกินคาดขนาดนั้น แต่ตลาดและนักเศรษฐศาสตร์กลับตอบรับอย่าง “ไม่ตื่นเต้น” เป็นเพราะอะไร ?
“รายงานนี้ยืนยันสิ่งที่เรารู้อยู่แล้ว คือ ผู้บริโภคช็อปปิ้งอย่างสนุกสนานในไตรมาสที่ 3 … ผมไม่คิดว่ามีอะไรในรายงานฉบับนี้ที่จะเปลี่ยนแปลงแนวโน้มนโยบายการเงิน นั่นเป็นเหตุผลที่ผมไม่คิดว่าคุณจะได้เห็นปฏิกิริยาที่รุนแรงจากตลาด” ไมเคิล แอโรน (Michael Arone) หัวหน้านักกลยุทธ์การลงทุนกองทุน SPDR ของบริษัทจัดการการลงทุน “สเตท สตรีท โกลบอล แอดไวเซอร์ส” (State Street Global Advisors) กล่าว
แอโรนมองหนทางระยะข้างหน้าว่า “นับจากนี้เป็นต้นไป ผู้บริโภคจะไม่ใช้จ่ายในอัตราเดิม รัฐบาลจะไม่ใช้จ่ายในอัตราเดิม และธุรกิจต่าง ๆ ดูเหมือนจะชะลอการใช้จ่ายเช่นกัน สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่า นี่อาจเป็นตัวเลขจีดีพีสูงสุด อย่างน้อยก็ในอีกไม่กี่ไตรมาสข้างหน้า”
เจฟฟรีย์ โรช (Jeffrey Roach) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทให้บริการทางการเงิน “แอลพีแอล ไฟแนนเชียล” (LPL Financial) กล่าวว่า “นักลงทุนไม่ควรแปลกใจที่ผู้บริโภคใช้จ่ายในช่วงเดือนสุดท้ายของฤดูร้อน”
โรชบอกอีกว่า “คำถามที่แท้จริงคือว่า แนวโน้ม (การเติบโต) สามารถดำเนินต่อไปในไตรมาสต่อ ๆ ไปได้หรือไม่ และเราคิดว่าจะไม่เป็นเช่นนั้น”
แมทธิว ไรอัน (Matthew Ryan) หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ตลาดของบริษัทให้บริการทางการเงิน “อีเบอรี” (Ebury) กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับเฟดก็คือ การที่ไม่มีสัญญาณภาวะเศรษฐกิจถดถอยเกิดขึ้น และผู้กำหนดนโยบายสามารถพอใจกับการได้รับรู้ว่าพวกเขาสามารถรักษาอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นได้นานขึ้นโดยไม่กระตุ้นให้เศรษฐกิจสหรัฐล่มสลาย
เขาบอกอีกว่า “เราไม่คิดว่าข้อมูลจีดีพีที่น่าประทับใจนี้จะเพียงพอที่จะสนับสนุนให้เฟดเพิ่มอัตราดอกเบี้ยได้อีก ถึงอย่างนั้นก็ตาม อย่างน้อยเราก็เชื่อว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกยังอยู่อีกยาวไกล”
โจเซฟ ลาวอร์กนา (Joseph LaVorgna) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทหลักทรัพย์ เอสเอ็มบีซี นิกโกะ ซีเคียวริตี้ส์ อเมริกา (SMBC Nikko Securities America) ซึ่งเคยเป็นนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของทำเนียบขาวในสมัยโดนัลด์ ทรัปม์ (Donald Trump) กล่าวว่า ควรพิจารณารายงานเศรษฐกิจไตรมาส 3 “ด้วยความสงสัยในระดับสูง” เขาบอกว่า “จีดีพีไม่ได้บอกว่าเรากำลังจะไปที่ไหน เรารู้สึกอบอุ่มและคลุมเครือเกี่ยวกับตัวเลขดี ๆ แต่ปัญหาที่แท้จริงคืออะไรจะเกิดขึ้นต่อไป”
นอกจากนั้น ลาวอร์กนาคิดว่า ว่าต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นและความต้องการสินค้าขนาดใหญ่ที่คาดว่าจะลดลงในอนาคตอาจเริ่มส่งผลกระทบต่อการวัดอุปทานในที่สุด
“ข้อมูลด้านรายได้แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจมีความอ่อนตัวลงมาก” ลาวอร์กนากล่าว และเขาบอกว่ามีข้อมูลหลายอย่างในใบปะหน้าที่กระทรวงพาณิชย์เสนอออกมาที่ตื่นเต้นพอ ๆ กับตัวเลขจีดีพี ซึ่งนั่นอาจเป็นการระเบิดครั้งสุดท้ายของการเติบโตที่เราได้เห็นมาระยะหนึ่งแล้ว
ด้าน เอลิซา วิงเกอร์ (Eliza Wingwer) นักเศรษฐศาสตร์ของบลูมเบิร์ก (Bloomberg) วิเคราะห์ว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศจากการประมาณการครั้งแรกของสำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจของรัฐบาล แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งในการใช้จ่ายของผู้บริโภคควบคู่ไปกับการเติบโตที่ช้าลงของการลงทุนทางธุรกิจ
“การใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวและความบันเทิงอย่างบ้าคลั่งในช่วงฤดูร้อนงผลักดันการเติบโตของจีดีพีที่แท้จริงให้ก้าวไปอย่างไม่ยั่งยืนในไตรมาสที่ 3” ซึ่งเธอมองว่าจุดแข็งส่วนใหญ่นั้นมาจากปัจจัยชั่วคราว เช่น ภาพยนตร์บล็อกบัสเตอร์ ‘Barbenheimer’ และการทัวร์คอนเสิร์ตของเทย์เลอร์ สวิฟต์ (Taylor Swift) และบียอนเซ่ (Betonce) รวมถึงปัจจัยที่ไม่จำเป็นว่าต้องสะท้อนถึงความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจ เช่น การสะสมของสินค้าคงคลังในภาคค้าปลีก
เธอบอกอีกว่า มีแนวโน้มว่านโยบายการเงินยังไม่ส่งผลต่อเศรษฐกิจเต็มที่ ซึ่งหมายความว่าผลกระทบจะตามมาหลังจากนี้
โดยสรุปแล้ว แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐพิสูจน์แล้วว่าสามารถรับมือความท้าทายต่าง ๆ ได้ แต่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดว่าการเติบโตจะชะลอตัวลงอย่างมากในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้นักเศรษฐศาสตร์ปรับมุมมองและคาดการณ์ จากที่คาดว่าเศรษฐกิจถดถอยจะเกิดขึ้น เปลี่ยนเป็นคิดว่าสหรัฐจะสามารถหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้หากไม่มีผลกระทบที่คาดไม่ถึงอื่น ๆ มาซ้ำเติม
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 27 ตุลาคม 2566