หลายร้อยล้าน "ธุรกิจครอบครัว" ในจีน เผชิญความท้าทายการสืบทอดกิจการ
ความพยายามปฏิรูปเศรษฐกิจและเข้าไปมีส่วนร่วมกับตลาดโลกมากขึ้นของจีนในทศวรรษ 1980 ทำให้เกิดผู้ประกอบการเอกชนขึ้นเป็นจำนวนมาก และตลอดช่วงการเติบโตของเศรษฐกิจจีน 4 ทศวรรษที่ผ่านมานั้นมี “ธุรกิจครอบครัว” เกิดขึ้นมาหลายร้อยล้านราย
บางบริษัทที่เริ่มจากเป็นธุรกิจครอบครัวได้พัฒนาไปสู่การเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงระดับโลก เช่น ซานี่ กรุ๊ป (Sany Group) ผู้ผลิตเครื่องจักรกลหนัก และไมเดีย กรุ๊ป (Midea Group) บริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน แต่ส่วนใหญ่ยังคงเป็นธุรกิจครอบครัวขนาดกลางและเล็กที่เน้นทำธุรกิจการผลิตและการค้าเป็นหลัก
อิงตามข้อมูลในรายงานของสมาพันธ์สภาอุตสาหกรรมและการพาณิชย์แห่งประเทศจีน (All-China Federation of Industry and Commerce) ปัจจุบันประเทศจีนมีบริษัทเอกชน รวมกว่า 1,000 ล้านบริษัท ซึ่งมากกว่า 80% หรือมากกว่า 800 ล้านบริษัท เป็น “บริษัทครอบครัว” และประมาณ 29% ของธุรกิจครอบครัวในจีน (232 ล้านบริษัท) อยู่ในธุรกิจการผลิตแบบดั้งเดิม
จากยุคก่อตั้ง ผ่านมาหลายทศวรรษ
ตอนนี้ธุรกิจครอบครัวจำนวนมากกำลังเผชิญกับความท้าทายเหมือนกันอย่างหนึ่ง นั่นคือ การส่งไม้ต่อให้กับเจ้าของรุ่นต่อไป เมื่อผู้ก่อตั้งธุรกิจรุ่นแรกเข้าใกล้วัยเกษียณ การตัดสินใจว่าจะส่งต่อบริษัทให้ลูกหลานดูแลหรือไม่ หรือควรจะจ้างผู้บริหารมืออาชีพ หรือจะจัดการกับการเปลี่ยนแปลงอย่างไร กลายเป็นงานเร่งด่วนสำหรับเจ้าของธุรกิจหลายร้อยล้านราย
ในรายงานของสมาพันธ์สภาอุตสาหกรรมและการพาณิชย์แห่งประเทศจีนระบุว่า ตั้งแต่ปี 2017-2022 ธุรกิจครอบครัวในจีนประมาณ 3 ใน 4 (600 ล้านบริษัท) อยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงผู้นำ ซึ่งถือเป็น “คลื่นการสืบทอดกิจการ” ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์จีน
การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นปัจจัยสำคัญที่ได้เร่งกระแสการสืบทอดธุรกิจของครอบครัวจีน สะท้อนให้เห็นในผลการสำรวจในปี 2022 โดย “ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส” (PwC) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ตรวจบัญชีและที่ปรึกษาธุรกิจระดับโลกพบว่า 59% ของธุรกิจครอบครัวที่ตอบแบบสำรวจระบุว่า องค์กรของพวกเขาได้ “พัฒนาแผนการสืบทอดกิจการ” ซึ่งสัดส่วนนี้เพิ่มขึ้นอย่างมากจากประมาณ 19% ในปี 2021
นักวิเคราะห์ของ PwC กล่าวว่า ดูเหมือนว่าการเกิดโรคระบาดใหญ่และความไม่แน่นอนทางธุรกิจที่เกิดขึ้นตามมา เป็นปัจจัยผลักดันให้เกิดการวางแผนการสืบทอดกิจการ และในรายงานระบุด้วยว่า มาตรการจำกัดการเดินทางในช่วงเกิดโรคระบาดโควิด-19 ทำให้สมาชิกในครอบครัวต้องอยู่ด้วยกัน แล้วเกิดการหารือเรื่องการสืบทอดกิจการ
ถึงแม้ว่ากระแสการส่งต่อธุรกิจจะเกิดขึ้นในระดับที่เรียกว่าเป็น “คลื่นลูกใหญ่” ด้วยความประจวบเหมาะของช่วงเวลาที่คนรุ่นพ่อแม่ที่สร้างธุรกิจขึ้นในยุคเดียวกันจะเกษียณในช่วงเวลาเดียวกัน บวกกับปัจจัยเรื่องโรคระบาดที่มาหนุนเสริม แต่แผนการส่งต่อธุรกิจในจีนก็เผชิญความท้าทายอยู่หลายประการ อย่างที่มีข้อมูลให้ได้ยินมาก่อนหน้านี้แล้วว่า คนรุ่นใหม่จำนวนมากไม่ได้สนใจกิจการของครอบครัว และปัจจัยที่ซ้ำเติมครอบครัวเถ้าแก่ชาวจีนอีกก็คือ คนจีนที่สร้างครอบครัวและสร้างธุรกิจในช่วงทศวรรษ 1980-1990 ซึ่งกำลังจะรีไทร์นั้นมีลูกเพียงคนเดียว ตามนโยบาย “ลูกคนเดียว” ของรัฐบาล
สวี่ เจ๋อเว่ย (Xu Zewei) เลขาธิการคณะกรรมการผู้ประกอบการเยาวชนแห่งสมาพันธ์สภาอุตสาหกรรมและการพาณิชย์แห่งประเทศจีนกล่าวว่า ทายาทธุรกิจมักจะไม่ค่อยคุ้นเคยกับการดำเนินงานและไม่กระตือรือร้นกับอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมของครอบครัว ต่างจากพ่อแม่ที่เป็นผู้เริ่มก่อร่างสร้างธุรกิจขึ้นมา แม้ว่าพวกเขาจะเกิดมาพร้อมความคาดหวังให้เป็นผู้สืบทอดธุรกิจ แต่หลายคนก็เลือกที่จะไม่รับหน้าที่นั้นต่อ
การเปลี่ยนแปลงผู้บริหารธุรกิจครอบครัวจีนลุล่วงดีหรือไม่นั้น ไม่ได้สำคัญต่อบริษัทเท่านั้น แต่มีผลกระทบสำคัญต่อเศรษฐกิจของจีนมากด้วย เนื่องจากบริษัทเอกชนคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 90% ของการดำเนินธุรกิจทั้งหมดในประเทศจีน มีส่วนสนับสนุนมากกว่า 60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี), ครึ่งหนึ่งของรายได้รัฐจากการจัดเก็บภาษี, มากกว่า 70% ของนวัตกรรมและการวิจัยทางเทคโนโลยี และมากกว่า 80% ของการจ้างงานในเมือง
“การสืบทอดกิจการของภาคเอกชนไม่ได้เป็นเพียงปัญหาภายในสำหรับธุรกิจเท่านั้น แต่ยังมีอิทธิพลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนในระดับหนึ่งด้วย” เซียง ปิน (Xiang Bin) คณบดีผู้ก่อตั้ง และศาสตราจารย์ด้านธุรกิจจีนและโลกาภิวัตน์ บัณฑิตวิทยาลัยธุรกิจเฉิงกง (CKGSB) กล่าวในการให้สัมภาษณ์สำนักข่าวไฉซิน (Caixin) ในจีน
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 5 พฤศจิกายน 2566