"เจโทร" หนุน "สตาร์ตอัปญี่ปุ่น" รุกธุรกิจไทย-เสริมหุ้นส่วนเทคฯยั่งยืน
ประเทศญี่ปุ่น เป็นคู่ค้าสำคัญอันดับต้น ๆ ของไทยมาตั้งแต่อดีต โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมล้ำสมัย และไม่ได้มีเพียงธุรกิจขนาดใหญ่เท่านั้นที่เข้ามาเป็นหุ้นส่วนกับธุรกิจไทย แต่ธุรกิจสตาร์ตอัปญี่ปุ่นก็มองว่าไทยเป็นคู่ค้าที่น่าลงทุนด้วยเช่นกัน
องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศญี่ปุ่น (เจโทร) กรุงเทพฯ และสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ร่วมกับซีพี กรุ๊ป, กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม และทรู ดิจิทัล พาร์ค จัดงาน Rock Thailand ครั้งที่ 5 (Empowering Growth in ASEAN) เมื่อวันเสาร์ที่ 4 พ.ย. ที่ผ่านมา เพื่อเปิดโอกาสให้ธุรกิจสตาร์ตอัปญี่ปุ่นนำเสนอผลิตภัณฑ์ล้ำสมัย และส่งเสริมการขยายธุรกิจในประเทศไทย ที่ญี่ปุ่นคัดสรรมาแล้วว่ามีผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์กับธุรกิจไทยอย่างแน่นอน
“ยาสุโตชิ นิชิมูระ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า อุตสาหกรรมของญี่ปุ่น กล่าวเปิดงานว่า "งาน Rock Thailand จัดขึ้นปีนี้เป็นปีที่ 5 มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ระหว่างสตาร์ตอัปญี่ปุ่นและกลุ่มบริษัทไทย"
ญี่ปุ่นมองว่าประเทศไทยเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญ และทั้งสองประเทศได้สร้างซัพพลายเชนที่สำคัญหลายด้านร่วมกัน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์
ปัจจุบัน มีบริษัทญี่ปุ่นดำเนินธุรกิจในไทยราว 6,000 บริษัท ถือเป็นจำนวนบริษัทต่างชาติที่มากที่สุดอันดับ 3 รองจากจีนและสหรัฐ
ทั้งนี้ บริษัทสตาร์ตอัปญี่ปุ่นที่เข้าร่วมงาน มาจากหลายสาขาธุรกิจ ทั้งเทคฯการผลิตปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) และเทคโนโลยีชีวภาพ รวมทั้งสิ้น 10 บริษัท ได้แก่ Extra Bold, CADDI,Recursive, Quwak, Spiber, Thermalytica, TOWING,Plant Life Systems,KAICO, และ Bacchus Bio innovation
สตาร์ตอัปที่เหมาะกับเทรนด์รักษ์โลกต้องยกให้ Extra Bold เป็นสตาร์ตอัปผลิตและพัฒนาเครื่องพิมพ์เทคโนโลยี 3 มิติขนาดใหญ่ สามารถผลิตสิ่งของได้ในเวลาอันรวดเร็ว และเน้นการใช้วัสดุเรซินรีไซเคิล เพื่อลดการใช้วัสดุใหม่ผลิตสินค้าเพิ่มจำนวนมาก และพาร์ทเนอร์ที่ร่วมธุรกิจกับ Extra Bold ตอนนี้คือบริษัทจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ เนื่องจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ สามารถผลิตของชิ้นใหญ่ได้ เช่น เก้าอี้และโต๊ะอเนกประสงค์ รวมถึงกระถางต้นไม้ขนาดใหญ่
ขณะที่ Recursive เป็นสตาร์ตอัปเอไอเพื่อนวัตกรรมความยั่งยืน ช่วยเพิ่มประสิทธิผลในการดำเนินธุรกิจ ช่วยคาดการณ์ความเสี่ยงต่าง ๆ เช่น ความเสี่ยงด้านภัยพิบัติและสุขภาพ และช่วยนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่องานและการศึกษาให้ได้มากที่สุด
ผลงานของบริษัท ได้แก่ เอไอช่วยคาดการณ์ใบหน้าหลังศัลยกรรม เอไอคลังข้อมูล FindFlow เอไอเพื่อการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน และเอไอข้อมูลสภาพอากาศแม่นยำสูง
นอกจากนี้ ยังมีสตาร์ตอัปด้านเทคโนโลยีชีวภาพอย่าง Spiber ที่ผลิต Brewed protein หรือโปรตีนสังเคราะห์จากชีวมวลที่ได้จากพืช แล้วนำไปแปรรูปต่อ เช่น แปรรูปเป็นเส้นใยยาว มีคุณสมบัติให้ความอบอุ่น สามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอเพื่อผลิตเสื้อผ้าได้ หรือแปรรูปเป็นหนังสังเคราะห์ก็ได้ ปัจจุบันบริษัทมีพาร์ทเนอร์อุตสาหกรรมแฟชั่นราว 25 แบรนด์ในยุโรปแล้ว
นอกจากนี้ โปรตีนสังเคราะห์ยังสามารถนำไปผลิตเป็นวัถตุดิบอาหารได้ โดยบริษัททดลองโปรตีนสังเคราะห์ผสมกับแพลนต์เบส จนสามารถปั้นอาหารออกมาเป็นสเต๊กเนื้อ ซึ่งบริษัทมองว่าเทคโนโลยีนี้ อาจช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำปศุสัตว์ได้
ขณะที่ KAICO สามารถนำหนอนไหมที่เป็นห่วงโซ่การผลิตใยผ้า มาผลิตโปรตีนผงและเหลวเพื่อใช้ในวัคซีน ซึ่งบริษัทประสบความสำเร็จในการผลิตวัคซีนที่ให้ทางปากแล้ว วัคซีนชนิดนี้จะช่วยลดการใช้บุคลากรการแพทย์ และหากสามารถเก็บวัคซีนในรูปแบบเม็ดจะช่วยลดต้นทุนการจัดเก็บวัคซีนได้อีกด้วย
บริษัทเริ่มทดลองวัคซีนให้ทางปากกับสุกรที่ติดไวรัสและมีร่างกายซูบผอม ด้วยการผสมวัคซีนในอาหาร หลังจากนั้นหมูก็มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นและไวรัสลดลงภายใน 3 สัปดาห์
เบื้องต้นบริษัทตั้งเป้าเป็นที่รู้จักในฐานะธุรกิจอาหารเสริมสำหรับสัตว์ จากนั้นอยากเติบโตเป็นธุรกิจวัคซีนให้ทางปากสำหรับสัตว์และคน
สตาร์ตอัปญี่ปุ่นก่อตั้งธุรกิจจนเติบโตและสามารถพัฒนาเทคโนโลยีให้ก้าวหน้าและมีความหลากหลายได้ขนาดนี้ เพราะได้รับการส่งเสริมและการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างแข็งขัน
นิชิมูระ เผยว่า รัฐบาลญี่ปุ่นมีมาตรการสนับสนุนสตาร์ตอัปหลายอย่าง อาทิ การให้เงินอุดหนุน, ให้สินเชื่อ, ให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี เป็นต้น
ยกตัวอย่างเช่น กระทรวงเศรษฐกิจฯ ส่งเสริมให้สตาร์ตอัปขยายธุรกิจไปต่างประเทศ โดยมีมาตรการสนับสนุน เช่น งบวิจัยและพัฒนาโครงการในต่างประเทศมูลค่า 25,000 ล้านบาท สำหรับสตาร์ตอัปเทคโนโลยีขั้นสูง และมีงบ 5,000 ล้านบาท สนับสนุนขยายการลงทุนในต่างประเทศกับบริษัทร่วมทุนทั้งในและนอกญี่ปุ่น
“ผมเชื่อมั่นว่า ถ้าภาครัฐกับภาคเอกชนของไทยและญี่ปุ่น ร่วมมือกันผ่านหลายช่องทาง เราจะสามารถร่วมกันสร้างสรรค์นวัตกรรมที่แก้ไขความท้าทายทางสังคม ไม่เพียงแค่ในอาเซียนเท่านั้น แต่รวมถึงทั่วโลก” นิชิมูระ กล่าว
“คุโรดะ จุน” ประธาน เจโทร กรุงเทพฯ กล่าวปิดงานทิ้งท้ายว่า “งานนี้ถือเป็นงานที่มีศักยภาพมากที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการธุรกิจทั้งสองประเทศมีโอกาสร่วมธุรกิจกัน สำหรับญี่ปุ่นแล้ว ไทยยังคงเป็นส่วนสำคัญของห่วงโซ่อุปทานอาเซียนและภูมิภาคเอเชีย และนับจากนี้ เจโทรอยากนำเทคโนโลยีญี่ปุ่นมาถ่ายทอดในไทย และอยากให้ไทยกับญี่ปุ่นใช้เทคโนโลยีสร้างโมเดลธุรกิจร่วมกัน เพื่อให้เกิดการร่วมสร้างสรรค์และมุ่งสู่สังคมที่ยั่งยืน"
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 8 พฤศจิกายน 2566