ถอดรหัส "จีน" พัฒนา Mother Machine เลี่ยงตะวันตกคว่ำบาตร ต่อยอดนิวเคลียร์ลับ
* จีนพัฒนาเครื่องมือกลแบบ 5 แกน ที่ทุกอุตสาหกรรมการผลิตต้องการ และยกให้เป็น "Mother Machine" ด้วยกลไกที่ซับซ้อนมีสำคัญต่อการพัฒนานิวเคลียร์ของโลก
* เครื่องจักรในภาพที่จีนอ้างพัฒนาขึ้น ตรงกับรุ่น DMU 60 monoBlock ซึ่งเป็นรุ่น 5 แกนผลิตในประเทศเยอรมนี ผลิตโดย DMG Mori ซัพพลายเออร์ระดับโลก
* เครื่องมือกลนี้ เป็นส่วนหนึ่งของอุปกรณ์ สามารถสร้างยูเรเนียม-235 หรือพลูโตเนียม-239 ที่มีความเข้มข้นมากกว่า 90% ซึ่งเป็นระดับสามารถสร้างอาวุธนิวเคลียร์ได้
* “อาวุธนิวเคลียร์” คือไพ่เด็ดของปักกิ่ง ใช้ต่อรอง และควบคุมวอชิงตัน
* ในปี 2563 สหรัฐได้เพิ่มชื่อบริษัทในเครือ CAEP ทั้ง 10 แห่งเข้าไปในรายการเสี่ยงกระทบความมั่นคงประเทศ
เว็บไซต์นิกเคอิรายงานว่า ปัจจุบัน จีนได้พัฒนาเครื่องมือกลแบบ 5 แกนที่ทรงพลัง เหมาะใช้ในงานอุตสาหกรรม ที่สามารถตัดแต่งวัสดุที่มีรูปทรงซับซ้อน เช่น พื้นผิวโค้ง และเจียรผิวให้ราบเรียบ ขณะเดียวกัน ยังทำหน้าที่เป็นสว่าน สามารถเคลื่อนที่ เพื่อเจาะวัสดุได้ทุกทิศทาง
อุปกรณ์นี้อาจดูทั่วๆ ไป แต่ทุกอุตสาหกรรมการผลิตต้องการเครื่องมือกลแบบ 5 แกน ซึ่งยกให้เป็น “Mother Machine” และกลไกที่ซับซ้อนมีสำคัญต่อการพัฒนานิวเคลียร์ของโลก
วงการอุตฯ ต้องการ “Mother Machine”
เครื่องมือกลนี้ ได้รับการออกแบบการทำงานโดยหน่วยควบคุมเชิงตัวเลขของคอมพิวเตอร์ (CNC) ซึ่งเป็นสมองของตัวเครื่อง สามารถประมวลผลด้วยความเร็วสูง และแม่นยำ แม้แต่ช่างฝีมือผู้ชำนาญก็ไม่อาจทำได้
ขณะที่ญี่ปุ่น และเยอรมนี ก็จัดอยู่ชั้นแนวหน้า ในการสร้างเครื่องมือกลดังกล่าว และได้รับความไว้วางใจจากผู้ผลิตในประเทศต่างๆ
ดังนั้นในโลกอุตสาหกรรมต้องการ เครื่องมือกลขั้นสูงที่ทันสมัย และเป็นหัวใจสำคัญต่อการผลิต
วีรบุรุษแห่งคลังแสงนิวเคลียร์ :
“เฉิน ซิงซิง” วิศวกร และผู้ประดิษฐ์เครื่องมือกลนี้ เกิดในหมู่บ้านเกษตรกรรมที่ยากจน มณฑลซานตง มีความมุ่งมั่น และเรียนอย่างหนัก จนได้เป็นวิศวกรที่มีส่วนพัฒนาประเทศภายในเวลาหนึ่งทศวรรษ
“ผมแค่อยากเป็นคนที่มีทักษะ และสามารถมีส่วนร่วมในโครงการป้องกันประเทศในจีนยุคใหม่ ที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง พูดถึงบ่อยๆ” เฉินกล่าวและย้ำว่า ผมอยากรับใช้ชาติด้วยทักษะของตนเอง
สถานีโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน (CCTV) และสื่อท้องถิ่นจีนหลายแห่งรายงานว่า เฉินเกิดในปี 2534 หลังจากเรียนอย่างหนักที่สถาบันเทคนิค ก็ได้เริ่มทำงานที่สถาบันเพื่อการวางแผนสิ่งแวดล้อมจีน (CAEP) เป็นแห่งแรก ในตำแหน่งชาติเทคนิค
ในปี 2562 เฉินได้รับการยกย่องเป็นช่างฝีมือใหญ่ ระดับประเทศตั้งแต่เขาอายุยังน้อย เพราะเครื่องมือกลที่ประดิษฐ์ขึ้น สามารถลดเวลาการตัดวัสดุ และส่วนประกอบสำคัญๆ ที่สามารถนำไปใช้ “พัฒนานิวเคลียร์” ได้อย่างมาก
นิกเคอิได้รวบรวมข้อมูลจากหลายๆ แหล่ง เพื่อตรวจสอบประเด็นความขัดแย้งต่อห่วงโซ่อุปทานระหว่างสหรัฐกับจีน ซึ่งได้พบรายงานสำคัญๆ จากสื่อจีนเกี่ยวกับเฉิน อย่างด้านบนของภาพนี้ พบข้อความคุณสมบัติเด่นของเครื่องมือกล พร้อมระบุหมายเลขรุ่นผลิตภัณฑ์
"จาคอป จาโนฟสกี" นักวิเคราะห์ด้านการทหารของ Oryx Blog ยืนยันเครื่องจักรในภาพที่จีน อ้างพัฒนาขึ้น ตรงกับรุ่น DMU 60 monoBlock ซึ่งเป็นรุ่น 5 แกนผลิตในประเทศเยอรมนี ผลิตโดย DMG Mori ซัพพลายเออร์ระดับโลก ด้านเครื่องจักรที่มีความแม่นยำสูง
สื่อจีนรายงานว่า เฉินสร้างกังหันโลหะที่มีความซับซ้อน ที่ใช้ใบพัดถึง 144 ใบ จากการพัฒนาเครื่องมือกลนี้ ซึ่งนิกเคอิไม่อาจยืนยันได้ว่า เขาได้ใช้เครื่องจักรของ DMG เพื่อพัฒนากังหันหรือไม่ แต่ส่วนประกอบจะสร้างได้ยาก หากไม่มีเครื่องจักรแบบ 5 แกน
คิดล้ำลึก ต่อยอดพัฒนานิวเคลียร์
กังหันนี้มีหน้าที่เพื่อใช้ปั๊มโมเลกุล ซึ่งสามารถปล่อยก๊าซ และสร้างความเป็นสุญญากาศ โดยการหมุนด้วยความเร็วสูงสุด 90,000 รอบต่อนาที
เครื่องสูบดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของแมสสเปกโตรมิเตอร์ที่ใช้ตรวจสอบสถานะของโมเลกุล อุปกรณ์กำจัดอากาศ เพื่อวิเคราะห์ความเข้มข้น และองค์ประกอบของวัสดุนิวเคลียร์ในสุญญากาศ ซึ่งเทียบเท่ากับอวกาศที่อยู่เหนือชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์ 90 - 250 กิโลเมตร
หากวิเคราะห์ลงลึกไปอีก พบว่า เครื่องมือกลนี้ เป็นส่วนหนึ่งของอุปกรณ์ สามารถสร้างยูเรเนียม-235 หรือพลูโตเนียม-239 ที่มีความเข้มข้นมากกว่า 90% ซึ่งเป็นระดับของการสร้างอาวุธนิวเคลียร์
“นิวเคลียร์ที่สร้างขึ้นนั้น มีรูปร่าง และขนาดประมาณเดียวกับฝาขวดเบียร์ และถูกบรรจุเข้าหัวรบ ไม่สามารถจัดเก็บทรงกลม และลูกบาศก์ขนาดใหญ่ได้อย่างปลอดภัย เนื่องจากอาจเกิดอันตรายจากภาวะวิกฤติได้” นิกเคอิระบุ
จีนเร่งปรับปรุงอาวุธนิวเคลียร์ให้ทันสมัย และได้พัฒนาขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงที่สามารถเดินทางด้วยความเร็วเสียงมากกว่า 5 เท่า ซึ่งขีปนาวุธนี้ อาจสกัดกั้นระบบป้องกันขีปนาวุธแบบเดิมๆ ส่งผลให้ความมั่นคงโลกเปลี่ยนไป โดยเพนตากอนประเมินว่า จีนสามารถเพิ่มการถือครองหัวรบนิวเคลียร์เป็น 1,000 ลูกจากปัจจุบัน และเพิ่มสูงกว่า 500 ลูกภายในปี 2573
สถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม ประมาณการว่า หัวรบที่จีนถือครองอยู่ เกือบเทียบเท่ากับจำนวนหัวรบที่สหรัฐ และรัสเซียใช้งานอยู่ที่ 1,770 และ 1,674 ลูก ตามลำดับ ซึ่งเป็นข้อมูลเมื่อเดือนมกราคม ที่ผ่านมา
รู้จัก สถาบันนิวเคลียร์ลับของจีน :
“เราควรส่งเสริมการป้องกันประเทศให้ทันสมัย ครอบคลุมกองทัพ และสร้างกองทัพประชาชนให้เป็นกำแพงเหล็กที่สามารถปกป้องอธิปไตย ความมั่นคง และผลประโยชน์ในการพัฒนาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ” สีกล่าวในพิธีปิดการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม ที่ผ่านมา โดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการ เสริมสร้างขีดความสามารถของกองทัพปลดปล่อยประชาชน
ความมุ่งมั่นของปักกิ่งในเรื่องนี้ เห็นชัดได้จากรายชื่อผู้ดำรงตำแหน่งในรัฐบาลสี ล่าสุด รวมไปถึงยังมีอดีตหัวหน้าบริษัทอาวุธของรัฐ และผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายนิวเคลียร์ที่ถูกอ้างว่า มีส่วนร่วมในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ได้ถูกเพิ่มเข้ามาในคณะกรรมการกรมการเมืองกลาง คณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกพรรคชั้นนำ 24 คน
ดังนั้นจะเห็นว่า “อาวุธนิวเคลียร์” คือ ไพ่เด็ดของปักกิ่ง ใช้ต่อรอง และควบคุมวอชิงตัน ซึ่งห้องปฏิบัติการนิวเคลียร์ที่เฉินทำงานอยู่ ก็มีบทบาทสำคัญระดับชาติ
เว็บไซต์ CAEP ระบุว่า เป็นหน่วยพัฒนาและผลิตอาวุธนิวเคลียร์แห่งเดียวของจีน ซึ่งก่อตั้งขึ้น ในปี 2501 ภายใต้รัฐบาลของเหมา เจ๋อตง บิดาผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นโครงการระดับชาติที่รับผิดชอบด้านการวิจัยอาวุธนิวเคลียร์และที่เกี่ยวข้อง หลังจากจีนทดสอบนิวเคลียร์ครั้งแรก ที่ซินเจียงในปี 2507
CAEP เพิ่มเสี่ยงความมั่นคงสหรัฐ :
ปัจจุบัน องค์กรรัฐแห่งนี้เทียบเท่าระดับกระทรวง มีพนักงานมากกว่า 20,000 คนในเมืองเหมียนหยาง มณฑลเสฉวน ซึ่งว่ากันว่า CAEP มีร่วมมือกับองค์กรการทหารระดับชาติ และมหาวิทยาลัยของจีนอย่างกว้างขวาง
“CAEP อาจเร่งพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ในขณะที่ประธานาธิบดีสีผนึกกำลังหน่วยงานเข้าด้วยกัน เพื่อสิ่งนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นองค์กรที่มีสัมพันธ์ลึกซึ้งกับกองทัพ จำเป็นต้องระมัดระวังเกี่ยวกับการรั่วไหลของเทคโนโลยี” ทาเคฮิโกะ คาซามะ ซีอีโอขององค์กรวิจัยซันเซ ซึ่งเป็นบริษัทญี่ปุ่นที่ให้บริการวิจัยและให้คำปรึกษาด้านการควบคุมการส่งออก และความปลอดภัย กล่าว
โดย คาซามะ ระบุว่า เมื่อปี 2540 กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐเปิดเผยรายชื่อองค์กรนิติบุคคลเป็นครั้งแรก และกำหนดข้อจำกัดกับองค์กรต่างประเทศที่ถือเป็นความเสี่ยงต่อความมั่นคงของชาติสหรัฐ พบว่า CAEP ถูกจัดให้อยู่ในรายการแรก ซึ่งบ่งชี้ว่าสหรัฐมีความกังวลในเรื่องนี้ โดยในปี 2563 สหรัฐได้เพิ่มชื่อบริษัทในเครือ CAEP ทั้ง 10 แห่งเข้าไปในรายการจัดอันดับบริษัทที่ส่งผลกระทบความมั่นคงสหรัฐ
จีน เร่งสปีดพัฒนานิวเคลียร์ ทันสหรัฐ -รัสเซีย :
“ยูกิ โคบายาชิ” นักวิจัยของมูลนิธิสันติภาพซาซากาวะ กล่าวว่า ไม่มีข้อมูลการทดลองนิวเคลียร์ของจีนที่เพียงพอ เมื่อเทียบกับสหรัฐและรัสเซีย
ตามรายงานของสมาคมควบคุมอาวุธ ซึ่งเป็นองค์กรคลังสมองในสหรัฐ ระบุว่า จีนได้ทำการทดสอบนิวเคลียร์ 45 ครั้งจากทั้งหมด 2,056 ครั้งทั่วโลกตั้งแต่ปี 2488 - 2560 ซึ่งทางตรงกันข้าม สหรัฐทดสอบ 1,030 ครั้ง และรัสเซีย 715 ครั้งในช่วงเวลาดังกล่าว
ดังนั้น จะเห็นช่องว่างที่ชัดเจนระหว่างจีนกับสหรัฐ และรัสเซียในการสั่งสมเทคโนโลยีขั้นสูง โดยเฉพาะความเชี่ยวชาญในการสนับสนุนการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ นั่นกระตุ้นให้จีนต้องเร่งตามให้ทันทั้งสองมหาอำนาจคือสหรัฐ และรัสเซีย ในแง่ของความสามารถทางนิวเคลียร์ นอกเหนือความเป็นที่หนึ่งทางเศรษฐกิจ
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 7 พฤศจิกายน 2566