"ค่าจ้างที่แท้จริง" ใน "เอเชียแปซิฟิก" จ่อครองแชมป์เติบโตมากสุดในปี 2567
อีซีเอ อินเตอร์เนชันแนล คาดการณ์ว่า ค่าจ้างที่แท้จริงของแรงงานในเอเชียแปซิฟิก อาจปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าภูมิภาคอื่นๆ ในปี 2567 โดยประเทศที่ปรับขึ้นเงินเดือนสูงสุด 3 แห่งแรกคือ อินเดีย อินโดนีเซีย และจีน ตามลำดับ
อีซีเอ อินเตอร์เนชันแนล บริษัทที่ปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคลระดับโลก คาดการณ์ว่า ค่าจ้างที่แท้จริงของแรงงานในเอเชียแปซิฟิกอาจเพิ่มสูงสุดในปี 2567
รายงานซาลารี เทรนด์ส เผยว่า เงินเดือนที่แท้จริงเฉลี่ยของเอเชียแปซิฟิก (การเติบโตค่าจ้างที่เป็นตัวเงินหักลบอัตราเงินเฟ้อ) คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2.2% มากกว่าค่าเฉลี่ยโลก 2 เท่า ซึ่งเพิ่มขึ้นเพียง 1%
ขณะที่การเติบโตของเงินเดือนที่แท้จริงในภูมิภาคอเมริกาเหนือ และใต้ อาจโต 2% แอฟริกาและตะวันออกกลางอาจเพิ่มขึ้นเพียง 0.8% ส่วนเงินเดือนแรงงานที่แท้จริงของยุโรปในปีหน้า อาจปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.9% และคาดว่าค่าแรงในอังกฤษเติบโต 1.3%
“โอลิเวอร์ บราวน์” ผู้จัดการฝ่ายสำรวจนโยบาย และค่าตอบแทนของอีซีเอ อินเตอร์เนชันแนล บอกว่า ด้วยเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น หลายธุรกิจในอังกฤษ จึงไม่สามารถให้โบนัสแก่พนักงานได้
“อย่างไรก็ตาม ค่าจ้างที่เป็นตัวเงินในยุโรปยังคงเพิ่มสูงกว่าปกติในปีหน้า แม้เงินเฟ้อลดลง บ่งชี้ว่าบางบริษัทอาจเพิ่มค่าจ้างมากขึ้นในระยะยาว” บราวน์ กล่าว
อินเดีย อินโดนีเซีย จีน ตัวท็อป :
ปีนี้เงินเดือนที่แท้จริงของ 9 ประเทศจาก 12 ประเทศในเอเชียแปซิฟิก เพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในโลก และการเติบโตของเงินเดือนจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปีหน้า โดยอินเดียจะเพิ่มขึ้น 5.1% อินโดนีเซียเพิ่มขึ้น 4.3% และจีนเพิ่มขึ้น 4.1% กลายเป็น 3 ประเทศแรกที่เงินเดือนเพิ่มสูงสุด
รายงานระบุด้วยว่า อัตราการเติบโตที่แท้จริงของเงินเดือนประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียแปซิฟิกคงที่หรือเพิ่มขึ้นในปี 2566 ยกเว้นศรีลังกา และนิวซีแลนด์
ขณะที่ค่าจ้างที่เป็นตัวเงินของฮ่องกงเติบโตคงที่ ที่ระดับ 4% ในปีนี้ และคาดว่ายังคงเท่าเดิมในปีหน้า เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อลดลงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก โดยแรงงานในฮ่องกง อาจได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นราว 1.7% ในปี 2567 ลดลงจากปีนี้ 0.1%
“มาร์ก แฮร์ริสัน” ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายเอเชียของอีซีเอ บอกว่า “เนื่องด้วยข้อได้เปรียบด้านอัตราเงินเฟ้อต่ำกว่าประเทศอื่นทั่วโลก เมืองส่วนใหญ่ในจีนแผ่นดินใหญ่ (ยกเว้นฮ่องกง) ติดท็อป 10 เมืองที่คาดว่าเงินเดือนที่แท้จริงจะเพิ่มขึ้นสูงสุดในโลก ปี 2567”
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 9 พฤศจิกายน 2566