หนี้ภาคเอกชนสะเทือนธุรกิจยื่นรัฐบาลช่วย SME
"หอการค้า" เผย ยื่นรัฐบาลเร่งแก้ไขหนี้ภาคธุรกิจ ชี้ เศรษฐกิจชะลอ กระทบกำลังซื้อ บวกดอกเบี้ยสูง ส่งผลธุรกิจขาดสภาพคล่อง แนะรัฐจัดกลุ่มลูกหนี้-ออกมาตรการจัดการหนี้ ช่วยผู้ประกอบการบริหารธุรกิจให้เดินต่อไปได้
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่าหอการค้าไทยต้องขอขอบคุณรัฐบาลที่ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ มีการประกาศให้เป็นวาระของชาติ และมีแนวทางแก้ไขปัญหาออกมาอย่างชัดเจนมากขึ้น
ขณะที่ปัญหาหนี้ของผู้ประกอบการนั้น ก่อนหน้านี้ หอการค้าไทยมีข้อเสนอผ่านสมุดปกขาวงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 41 ว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันเศรษฐกิจชะลอตัวลงส่งผลกระทบโดยตรงต่อ SMEs ที่ได้รับความเดือดร้อนจากกำลังซื้อของประชาชนที่ลดลง สวนทางกับต้นทุนกิจการที่สูงทั้งจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ค่าพลังงาน และต้นทุนวัตถุดิบ ซึ่งจำเป็นที่รัฐบาลต้องมีมาตรการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
รวมทั้งที่ผ่านมา หอการค้าไทยได้มีการติดตามปัญหาภาระหนี้ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับภาคเอกชนในขณะนี้ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะถัดไป โดยหอการค้าไทยได้มีการหารือกับบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยมีความกังวลในประเด็นสำคัญ 2 เรื่อง คือ
1)ผลกระทบจากการขาดสภาพคล่องของพ่อค้าคนกลาง หรือ ผู้รับเหมาช่วง (Sub contract) ที่ช่วงสถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัวเช่นนี้ ผู้ประกอบการรายใหญ่อาจยืดเวลาการจ่ายเงินให้รายกลางที่มีความสามารถบริหารสภาพคล่องไม่เท่ากัน และเมื่อถึงจุดที่สภาพคล่องทางการเงินมีปัญหาอาจจะกระทบซัพพลายเชนทั้งระบบ
2)ปัญหาหนี้จากสินเชื่อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ทั้งหนี้เสียและหนี้กำลังจะเสียเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง ในส่วนนี้หากคิดจะใช้การปรับโครงสร้างหนี้ก็เป็นไปได้ยาก
แนะจัดกลุ่มลูกหนี้รับความช่วยเหลือ :
ทั้งนี้ เพื่อให้การแก้ปัญหาหนี้ทั้งระบบสอดคล้องกับสถานการณ์และความจำเป็น หอการค้าไทยจึงมีข้อเสนอที่สำคัญ คือการจัดการหนี้ส่วนของดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ สถาบันการเงินควรมีมาตรการที่ชัดเจนเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ชั้นดีให้ดำเนินธุรกิจต่อได้ โดยเสนอให้แขวนดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ไว้ก่อน ในระหว่างนั้นหากลูกหนี้มีศักยภาพสามารถชำระหนี้ได้เป็นระยะเวลาหนึ่ง ควรพิจารณาลดดอกเบี้ยผิดนัดชำระก้อนนั้น โดยอาจพิจารณาลดดอกเบี้ยแบบขั้นบันได
รวมทั้งควรจัดกลุ่มลูกหนี้และให้ความช่วยเหลือ อาทิ ลูกหนี้ชั้นดี ที่ประสบปัญหาผลกระทบจากโควิด (สถานะบัญชี 21) กรณีนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมาตรการจะช่วยเหลืออย่างไรได้ และควรหยิบมาช่วยเหลือก่อนจากมาตรการฟ้า-ส้มของ ธปท. มีข้อสังเกตว่า เป็นมาตรการที่น่าสนใจแต่ยังขาดการรายงานผล การดำเนินมาตรการให้ประชาชนทั่วไปทราบ
ดังนั้นหากติดตามและรายงานความสำเร็จแต่ละหัวข้อ อาทิ มาตรการช่วยลูกหนี้ได้กี่ราย กี่บัญชี คิดเป็นมูลค่าเท่าใด โดยเชื่อว่าข้อมูลที่ได้จะช่วยให้มองเห็นภาพรวมว่ามาตรการฟ้า-ส้มข้อใดที่มีประสิทธิภาพในการช่วยแก้ไขปัญหาได้มากที่สุด และต่อยอดแก้ไขปัญหาต่อไป
สำหรับการจัดการลูกหนี้เก่าเน้นที่ลูกหนี้มีลักษณะหนี้เรื้อรัง ลูกหนี้ที่จ่ายดอกเบี้ยที่ผ่านมาตลอด เป็นลูกหนี้ชั้นดี แต่เงินที่จ่ายมานั้นแทบจะไม่เข้าเงินต้นเลย ควรมีการกำหนดแผนการชำระหนี้อ้างอิงตามระยะเวลาที่สามารถจ่ายได้ เพื่อให้หนี้จบได้ในระยะเวลาที่กำหนด
นายสนั่น กล่าวว่า การช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่ไม่ปกติ (ลูกหนี้สถานะบัญชี 21) เจ้าหนี้ควรแนะนำให้ลูกหนี้กลุ่มนี้เข้าโครงการมาตรการฟ้า เพื่อปรับโครงสร้างหนี้โดยให้ผ่อนปรนกรณีเมื่อมีสำรองพึงกันรายบัญชีแล้วให้ถือว่าเพียงพอ ไม่ต้องสำรองอื่นเพิ่มเติม
นอกจากนี้ สถาบันการเงินต้องไม่พิจารณาจำนวนครั้งที่เคยปรับโครงสร้างหนี้มาแล้วการสร้างแรงจูงใจ (กรณีลูกหนี้มีศักยภาพ) และสถาบันการเงินควรจัดชั้นลูกหนี้ โดยลูกหนี้ที่มีศักยภาพให้สามารถได้รับการพิจารณาเติมเงิน (ปล่อยสินเชื่อ) ลดดอกเบี้ยการเจรจาแก้หนี้ ควรจัดโครงการเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ในแต่ละพื้นที่การเติมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ
รวมทั้งการเพิ่มงบอุดหนุนให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันความเสี่ยงให้ SMEs เพื่อให้สถาบันการเงินกล้าปล่อยกู้ให้ SMEs รายย่อยมากขึ้น การเพิ่มแหล่งเงินทุนให้ผู้ประกอบการรายเดิมผ่านกลไกกองทุนหมู่บ้าน การสร้างแต้มต่อให้ SMEs เพื่อให้แข่งขันได้ผ่านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (SME-GP)
รวมทั้งหอการค้าไทยเชื่อว่าวันนี้ปัญหาหนี้ทั้งระบบเป็นโจทย์สำคัญที่จะต้องช่วยกันเร่งหามาตรการและแนวทางแก้ไข เป็นเรื่องที่ดีที่รัฐบาลได้เดินหน้าแก้หนี้นอกระบบของประชาชนไปในระยะแรก และหวังว่าจะมีการพิจารณามาตรการแก้หนี้ที่อยู่ในระบบของผู้ประกอบการทั้งมิติของการจัดการหนี้ และมิติของการเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการจะมีส่วนช่วยให้ภาคธุรกิจไทยสามารถเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างเข้มแข็งได้ในอนาคตต่อไป
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 4 ธันวาคม 2566