COP28 ย้ำความสำคัญ "เงินทุน" ต่อการบรรลุเป้าหมายลดโลกร้อน
เป็นที่ยอมรับกันในนานาชาติว่า "จุดสูงสุด" ของการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP เกิดขึ้นในการประชุมครั้งที่ 21 ในปี 2015 ณ กรุงปารีส ซึ่งได้เกิด "ความตกลงปารีส" (Paris Agreement) ขึ้น
ความตกลงปารีส มีเป้าหมายหลัก คือ ควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส จากระดับก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม พร้อมกำหนดเป้าหมายที่ทะเยอทะยานขึ้นโดยตั้งเป้าไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียส และควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้อยู่ในระดับที่โลกดูดซับได้เอง (net zero emissions) โดยขีดเส้นเวลาให้บรรลุเป้าหมายภายในปี 2050 พร้อมกับกำหนดให้ประเทศพัฒนาแล้วต้องให้การช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศยากจนเพื่อต่อสู้โลกร้อน
นับจากนั้น การประชุม COP ครั้งต่อ ๆ มาก็เป็นการพูดคุยเกี่ยวกับแผนปฏิบัติการเพื่อบรรลุเป้าหมายความตกลงปารีส ซึ่งการปฏิบัติจริงนั้นไม่ง่าย เฉพาะเรื่องการช่วยเหลือทางการเงินของประเทศร่ำรวยแก่ประเทศยากจนก็ยังต้องผลักดันกันอย่างต่อเนื่อง
จีน ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลก เป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก ขณะที่สหรัฐอเมริกา ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 1 ของโลก เป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับ 2 ทั้งสองประเทศได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ตลอดหลายปีที่ผ่านมาว่าไม่ได้ดำเนินการอย่างจริงจังมากพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐ ซึ่งเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่ถอนตัวออกจากรัฐภาคี “ความตกลงปารีส” แล้วในสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump)
ในการประชุม COP28 ที่นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอเมิเรตส์ (UAE) ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายนถึง 12 ธันวาคม 2023 นี้ มีการนำเสนอข้อมูลว่า ประเทศกำลังพัฒนาต้องการเงินหลายแสนล้านดอลลาร์ต่อปีเพื่อปรับตัวให้รับมือกับปัญหาโลกร้อนได้ และจำเป็นจะต้องใช้เงินอีกหลายล้านล้านดอลลาร์เพื่อการเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาด
“มีอา มอตต์ลีย์” (Mia Mottley) นายกรัฐมนตรีบาร์เบโดส ซึ่งเป็นกระบอกเสียงสำคัญในการหารือระดับโลกเกี่ยวกับการระดมเงินเพื่อช่วยเหลือประเทศยากจน เรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ทำมากกว่าการให้คำมั่นสัญญาว่าจะให้เงินช่วยเหลือ และเธอชี้แนวทางว่า ควรเก็บภาษีเพื่อส่งเสริมการระดมเงินทุนสำหรับการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ แทนที่จะขอความร่วมมือโดยสมัครใจจากองค์กรการกุศลและภาคธุรกิจ
เธอกล่าวว่า การเก็บภาษีบริการทางการเงินทั่วโลกในอัตรา 0.1% จะสามารถระดมทุนได้ 420,000 ล้านดอลลาร์ และหากเก็บภาษี 5% จากกำไรของการค้าน้ำมันและก๊าซทั่วโลกในปี 2022 จะได้เงินทุนประมาณ 200,000 ล้านดอลลาร์
ในช่วง 5 วันแรกของการประชุม มีการประกาศคำมั่นสัญญาทางการเงินของประเทศร่ำรวยเกิดขึ้นแล้วจำนวนหนึ่ง โดยคำมั่นสัญญาจากประเทศเดียวที่เป็นเงินก้อนใหญ่ที่สุดมาจาก “สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์” เศรษฐีน้ำมันที่เป็นเจ้าภาพการประชุมครั้งนี้ได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะมอบเงิน 30,000 ล้านดอลลาร์ สำหรับโครงการที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ โดยในจำนวนนี้ 5,000 ล้านดอลลาร์ จะถูกจัดสรรให้แก่ประเทศยากจน
ส่วนสหรัฐอเมริกา รองประธานาธิบดี “กมลา แฮร์ริส” (Kamala Harris) บอกในงานว่า สหรัฐได้ให้เงินสนับสนุนด้านการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศไปแล้วมากกว่า 400,000 ล้านดอลลาร์ ผ่านกฎหมายลดอัตราเงินเฟ้อ (Inflation Reduction Act) ที่ออกในปี 2022 และเธอได้ประกาศคำมั่นสัญญาใหม่ว่า สหรัฐจะให้เงินสนับสนุนอีก 3,000 ล้านดอลลาร์ แก่กองทุน “Green Climate Fund” เพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาต่อสู้กับภาวะโลกร้อน
ส่วนคำมั่นสัญญาอื่น ๆ ก็มีอย่างเช่น การระดมเงินจากประเทศต่าง ๆ รวมจำนวน 720 ล้านดอลลาร์ให้กับ “Loss and Damage Fund” กองทุนรับมือภัยพิบัติจากสภาพภูมิอากาศที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นใหม่ในงานนี้
หนึ่งในหัวหอกที่กระทุ้งเรื่องเงินทุนบ่อย ๆ คือ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ซึ่งเน้นย้ำในแทบทุกรายงาน ทุกเวที
สำหรับการประชุม COP28 ครั้งนี้ คริสตาลินา จอร์เจียวา (Kristalina Georgieva) กรรมการผู้จัดการ IMF ก็ได้กล่าวถึงเงินช่วยเหลือประเทศยากจนอีกครั้ง
จอร์เจียวากล่าวว่า การประชุมนี้เป็นโอกาสสำคัญที่ประเทศต่าง ๆ ควรทบทวนนโยบายอุดหนุนราคาพลังงานฟอสซิลของตนเอง ซึ่งเป็นนโยบายที่จูงใจให้ภาคธุรกิจและประชาชนยังคงใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลต่อไป แทนที่จะจูงใจให้เปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาด ถึงอย่างนั้นก็ตาม เธอก็กล่าวอีกว่า การเลิกอุดหนุนราคาเชื้อเพลิงฟอสซิลจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าโลกของเรายังไม่ได้ให้การคุ้มครองผู้เปราะบางที่ไม่มีกำลังทรัพย์ให้พร้อมสำหรับการเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดที่มีราคาสูงกว่า
ทั้งนี้ ตามข้อมูลของ IMF เผยว่า ในปี 2022 ประเทศต่าง ๆ ใช้เงินอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลรวมกันทั้งโลกเป็นมูลค่า 7 ล้านล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 7.1% ของจีดีพีโลก ซึ่งเพิ่มขึ้นอีกมากกว่าสองเท่าตัวจากจำนวน 2 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2020 ปัจจัยสำคัญคือราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นมากหลังจากรัสเซียบุกยูเครน ทำให้ประเทศต่าง ๆ ต้องอุดหนุนราคาพลังงานเพื่อลดความเดือดร้อนของภาคธุรกิจและครัวเรือน
นอกจากนั้น กรรมการผู้จัดการ IMF กล่าวอีกว่า IMF อยากเห็น “การขึ้นราคาคาร์บอน” เพราะมันจะเป็นแรงจูงใจที่ใหญ่ที่สุดในการลดการปล่อยคาร์บอน
อาห์เหม็ด อัล-จาเบอร์ (Ahmed Al-Jaber) ผู้แทนพิเศษด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของ UAE ซึ่งเป็น “ประธาน COP28” กล่าวว่า ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศได้กลายเป็นหนึ่งในภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดต่อสุขภาพของมนุษย์ในศตวรรษที่ 21
เขากล่าวอีกว่า ขนาดของวิกฤตสภาพภูมิอากาศต้องการวิธีการแก้ปัญหาที่เร่งด่วนและเป็นวิธีที่เปลี่ยนเกมจากทุก ๆ อุตสาหกรรม
“การเงินมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนความทะเยอทะยานของเราให้กลายเป็นการลงมือปฏิบัติจริง” ประธาน COP28 กล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญของเงินทุนต่อการดำเนินการเพื่อเป้าหมายด้านภูมิอากาศและสวัสดิภาพของมนุษย์ในโลกที่สิ่งแวดล้อมรอบตัวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 6 ธันวาคม 2566