ค้าปลีกเด้งรับ ลดหย่อนภาษี 5 หมื่นบาท ท่องเที่ยวหวั่นไม่ได้อานิสงส์
ครม.เคาะแล้ว มาตรการ "Easy e-Receipt" ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 50,000 บาท ตั้งแต่ 1 ม.ค.-15 ก.พ. รวม 46 วัน ปลุกมู้ดจับจ่ายต้นปี 67 ค้าปลีกขานรับ ช่วยปลุกคนมีกำลังซื้อจับจ่ายมากขึ้น แต่ติงช่วงเวลาไม่เหมาะ ขณะที่ค่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าหวั่นฉุดยอดขายปลายปี อุตสาหกรรมท่องเที่ยวหวั่นไม่ได้อานิสงส์ ส่วนโบรกเกอร์ คาดช่วยปลุกเงินสะพัด 1-2 แสนล้าน ดันจีดีพีโต 0.54-1.09%
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 4 ธันวาคมที่ผ่านมา ที่จังหวัดหนองบัวลำภู มีมติเห็นชอบมาตรการ “Easy e-Receipt” ที่ให้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินจำนวน 50,000 บาท แก่ผู้ที่ซื้อสินค้าหรือบริการ จากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-15 ก.พ. 2567 รวมเวลา 46 วัน
โดยจะต้องใช้ใบกำกับภาษีเต็มรูปในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากร ยกเว้นการซื้อสินค้าหรือบริการ 3 รายการ ที่ไม่ต้องซื้อจากผู้ประกอบการที่จด VAT ก็ได้ ประกอบด้วย 1) ค่าหนังสือ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร
2) ค่าบริการหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต และ 3) ค่าสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (โอท็อป) ที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว ซึ่งต้องได้รับใบรับในรูปแบบใบรับอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ด้วยเช่นกัน
“ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนการบริโภคในประเทศ สนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษีให้ใช้ระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงส่งเสริมการผลิตสินค้าท้องถิ่นและการอ่าน ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบภาษี และการใช้ระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์”
ทั้งนี้ ค่าสินค้าหรือค่าบริการที่สามารถหักลดหย่อนได้ จะไม่รวมถึง (1) ค่าซื้อสุรา เบียร์ และไวน์ (2) ค่าซื้อยาสูบ (3) ค่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ (4) ค่าน้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ (5) ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต และค่าบริการสำหรับบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการระยะยาว ซึ่งเริ่มต้นก่อนและหลังช่วงเวลาที่ดำเนินมาตรการ และ (6) ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย
“รอบนี้พวกค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ตั๋วเครื่องบินต่าง ๆ สามารถใช้ได้ ถ้าเข้าตามเงื่อนไข คือ ผู้ประกอบการมีการออกใบกำกับอิเล็กทรอนิกส์ได้ ซึ่งช่วงนี้กรมสรรพากรก็มีการเปิดให้ผู้ประกอบการมายื่นได้” แหล่งข่าวกล่าว
ปลุกคนมีกำลังซื้อจับจ่ายเพิ่ม :
แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการค้าปลีกแสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า การลดหย่อนภาษีเงินได้จากการซื้อสินค้าและบริการที่ให้วงเงิน 50,000 บาท จะสามารถช่วยกระตุ้นการจับจ่ายและเศรษฐกิจได้มากพอควร โดยเฉพาะการกระตุ้นการจับจ่ายของกลุ่มคนที่มีกำลังซื้ออยู่แล้ว แต่การกำหนดมาตรการโดยเริ่มต้นในเดือนมกราคม-กลางกุมภาพันธ์ หรือประมาณ 46 วัน อาจจะเป็นช่วงเวลาไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมการจับจ่ายของผู้บริโภคนัก
โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมน่าจะเป็นช่วงตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไป และควรกำหนดระยะเวลาสัก 3-4 เดือน เนื่องจากเป็นช่วงปิดเทอม-สงกรานต์ เป็นช่วงกลุ่มมีกำลังซื้อจะมีการจับจ่ายสูง รวมทั้งมีการเดินทางท่องเที่ยวด้วย
ก่อนหน้านี้ นางสาววรลักษณ์ ตุลาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการตลาด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อและผู้บริโภคกลุ่มบนที่อยู่ในฐานภาษีจับจ่ายเพิ่มขึ้นได้ โดยเฉพาะการเพิ่มเพดานเป็น 5 หมื่นบาทจะยิ่งได้ผลดี ซึ่งบริษัทได้เตรียมระบบชำระเงินไว้รองรับแล้ว อย่างไรก็ตาม หากเลื่อนจังหวะการใช้มาตรการไปเป็นช่วงเมษายน 2567 จะได้ผลดีกว่าเนื่องจากเป็นช่วงหยุดยาว
นายอำนาจ สิงหจันทร์ หัวหน้าฝ่ายการตลาด บริษัท แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด ยอมรับว่า ทั้งแบรนด์และดีลเลอร์ต่างกังวลว่าการเริ่มใช้มาตรการกระตุ้นในช่วงต้นปี 2567 อาจกระทบกับการจับจ่ายช่วงท้ายปี 2566 เนื่องจากผู้บริโภคอาจชะลอการซื้อเพื่อไปเข้าร่วมโครงการ โดยก่อนหน้านี้ดีลเลอร์หลายรายต่างคาดการณ์ว่า ช่วงปลายปี 2566 นี้มีโอกาสที่ตลาดจะคึกคักมากกว่าปี 2565 เนื่องจากผู้บริโภคมีแนวโน้มเดินทางท่องเที่ยวน้อยกว่าปีที่แล้ว
ท่องเที่ยวหวั่นไม่ได้อานิสงส์ :
แหล่งข่าวจากสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า สำหรับในส่วนของธุรกิจการท่องเที่ยวอาจไม่ได้รับอานิสงส์จากโครงการดังกล่าวมากนัก เนื่องจากคนจองที่พักและสินค้าด้านการท่องเที่ยวไปล่วงหน้าตั้งแต่ก่อนสิ้นปี 2566 สำหรับเดินทางท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดยาวปลายปีไปกันเกือบหมดแล้ว
นอกจากนี้การกำหนดให้ใช้ในช่วงเดือนมกราคม-กลางกุมภาพันธ์ 2567 ถือเป็นช่วงเวลาที่สั้นเกินไปสำหรับการทำการตลาดท่องเที่ยว เนื่องจากพฤติกรรมของคนที่ต้องการเดินทางท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะทำการจองล่วงหน้า อย่างไรก็ตาม อาจได้รับอานิสงส์บ้างสำหรับการเดินทางในทริปสั้น ๆ ทั้งนี้ ต้องดูรายละเอียดของเงื่อนไขการใช้อีกครั้ง
“ในส่วนของผู้บริโภคได้รับประโยชน์แน่นอน แต่ในฟากของกลุ่มผู้ประกอบการอาจไม่ชัดเจนนัก เพราะระยะเวลาที่รัฐกำหนดสั้นเกินไปสำหรับการทำการตลาดและการขายแพ็กเกจท่องเที่ยว ยกเว้นโรงแรมที่สามารถทำแคมเปญรองรับได้ทันที” แหล่งข่าวกล่าว
ฟาสต์ฟิต ลุยทำแคมเปญเสริม :
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการ e-Refund 50,000 บาท จะเริ่มใช้ 1 มกราคม ถึง 15 กุมภาพันธ์ 2567 จากการสอบถามไปยังค่ายฟาสต์ฟิตหลายราย ทั้งบี-ควิก, MMS, ฟิต ออโต ฯลฯ ได้รับการยืนยันว่า เตรียมแคมเปญต่าง ๆ ไว้รองรับแน่นอน เพราะเชื่อปีที่ผ่านมา ก็ได้ประโยชน์จากมาตรการช้อปดีมีคืน ของรัฐบาลชุดที่แล้ว โดยปกติผู้ประกอบการมีแคมเปญเด็ด ๆ มอบให้กับคนใช้รถทุกเดือน ทั้งค่าแรงและตัวสินค้า
ส่วนที่หลายคนกังวลว่าต้องไปเริ่มใช้ปีหน้าจะทำให้ผู้บริโภคชะลอการใช้ช่วงปลายปี ซึ่งในกลุ่มฟาสต์ฟิตและศูนย์บริการไม่กระทบแน่ เพราะรถยนต์เป็นสินค้าใช้งานประจำ ช่วงก่อนวันหยุดยาวปีใหม่ หลายครอบครัวมีทริปต่างจังหวัดหรือเดินทางกลับบ้านก็ต้องนำรถเข้ามาดูแลก่อน ส่วนผ่านพ้นปีใหม่ไปแล้วหลังใช้รถเสร็จก็ต้องนำมาปรับปรุงให้พร้อมใช้งานอยู่ตลอดเวลา
“แอดไวซ์” พร้อมร่วมโครงการ :
นายจักรกฤช วัชระศักดิ์ศิลป์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานผลิตภัณฑ์ การขายและการตลาด บริษัท แอดไวซ์ ไอที อินฟินิท จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทมีความพร้อมที่จะขานรับนโยบายรัฐบาล ทั้งเรื่องเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท และ e-Receipt แต่ขณะนี้ยังไม่เห็นความชัดเจนว่า 50,000 บาทจะใช้อย่างไร มีเงื่อนไขอะไร และเมื่อไหร่ จึงอาจส่งผลให้เกิดการชะลอการซื้อ ซ้ำเติมวิกฤตเศรษฐกิจในภาพรวม โดยเฉพาะกำลังซื้อของรายย่อยที่ไม่ดีนัก
“ตลาดสินค้าไอทีจะรับรู้ตัวเลขมูลค่าการขายปี 2566 ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 ซึ่งมีแนวโน้มลดลงในฝั่งสินค้าคอนซูเมอร์ แต่ฝั่งองค์กรยังเติบโตอยู่ สาเหตุยังคงมาจากการที่ตลาดถูกเติมเต็มไปแล้วในช่วงโควิด ซึ่งมีการซื้อสินค้าไอทีในเวลาเร่งด่วน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อการเรียนหรือการทำงาน ปีนี้สถานการณ์เศรษฐกิจของรายย่อยไม่ค่อยดี คนจึงตัดสินใจยืดอายุการใช้งานสินค้าไอทีนานขึ้น ขณะที่ความต้องการใหม่ ๆ ที่เร่งด่วนหายไป ขณะที่ฝั่งวินโดว์ก็ยังไม่มีการอัพเกรดสำคัญ เกมใหม่ ๆ ก็ยังไม่ค่อยออก ทำให้คนยังไม่อยากอัพเกรดเครื่องคอมพิวเตอร์”
ปลุกเงินสะพัด 1-2 แสนล้าน :
ขณะที่ นายธีรเศรษฐ์ พรหมพงษ์ นักกลยุทธ์เศรษฐศาสตร์มหภาค บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า มาตรการ Easy e-Receipt ที่ ครม.เห็นชอบ น่าจะเป็นบวกต่อกลุ่มค้าปลีกทั้งหมด แต่จะส่งผลดีมากกว่าต่อบริษัทที่ขายสินค้าที่มีมูลค่าสูง เป็นสินค้าฟุ่มเฟือยมากกว่าสินค้าจำเป็น และจากวงเงินค่าใช้จ่ายต่อร้านที่ค่อนข้างสูง และกรอบระยะเวลาการใช้จ่ายเพียง 1 เดือนครึ่ง หุ้นที่น่าจะได้อานิสงส์มากที่สุด อาทิ COM7, HMPRO, CRC, CPN เป็นต้น
ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส วิเคราะห์ว่า โครงการนี้ในภาพรวมจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีในระดับหนึ่ง โดยเป็นมาตรการลดหย่อนภาษีที่มีความคล้ายคลึงกับมาตรการที่ผ่านมาอย่างช้อปดีมีคืน ช็อปช่วยชาติ ซึ่งหากนำมาเปรียบเทียบกันแล้ว โครงการที่ผ่านมาให้วงเงินลดหย่อนภาษี 40,000 บาท ขณะที่โครงการใหม่นี้ให้วงเงิน 50,000 บาท ทั้งนี้ คาดว่าจะช่วยให้เกิดเงินสะพัดได้ราว 100,000-200,000 ล้านบาท และมีผลต่อจีดีพี ประมาณ 0.54-1.09%
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 6 ธันวาคม 2566