ปธ.เอสเอ็มอี เล็งเสนอ "เศรษฐา" ลดช่องว่างดอกกู้-ฝาก หวังแก้ตรงจุด ศก.แย่แต่แบงก์กำไรพุ่ง
นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวถึงมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)ส่งท้ายปี2566 เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ว่า มาตรการสำคัญเร่งด่วน เรื่องหนึ่งคือ มาตรการพักหนี้-ปลดหนี้เอสเอ็มอี โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) นั้น เอสเอ็มอีขอชื่นชมและสนับสนุนมาตรการนี้ แต่มีประเด็นเพิ่มเติม คือ การใช้กลไก บสย. เป็นหลัก ควรออกแบบให้มีกลไก การถอดบทเรียน บ่มเพาะ เอสเอ็มอี ประเมินมีระบบส่งต่อและมีแผนยกระดับขีดความสามารถเอสเอ็มอี ทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาที่เข้าร่วมโครงการเพิ่มเติม เพื่อทำแผนธุรกิจใหม่อย่างง่าย
โดยอาจนำ Soft Power อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ธุรกิจคาร์บอนต่ำ เข้ามาช่วยให้ เอสเอ็มอี กลุ่มนี้เข้าถึงพัฒนาคุณภาพ มาตรฐาน มีภูมิคุ้มกันในอนาคต มีกลยุทธ์การตลาดเพิ่มจะทำให้การพักหนี้ได้ประโยชน์ และช่วยส่งเสริมการสร้างวินัยทางการเงินในอนาคต ยกระดับคุณภาพหนี้ครัวเรือน ลดหนี้เสีย และหนี้นอกระบบ
อีกทั้ง การเปิดให้เอสเอ็มอี ลงทะเบียน ควรมีช่องทางการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในวงกว้างสร้างการรับรู้ และหากมีกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มเอสเอ็มอี ต้องได้รับการช่วยเหลืออาจมีการแจ้งโครงการดังกล่าวให้ทราบโดยตรงด้วยจะเป็นประโยชน์กับเอสเอ็มอี อย่างยิ่ง นอกจาก บสย ที่จะช่วย เอสเอ็มอี ได้ 69,000 ราย เบื้องต้นจาก 2 โครงการ ควรเร่งดำเนินการในกลุ่ม Non bank PICO NANO Finance เพิ่มเติม เพราะเป็นกลุ่มเปราะบาง และรายได้ต่ำ ซึ่งต้องการได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
นายแสงชัย กล่าวว่า ขณะนี้มีการตั้งคำถามว่าเพราะเหตุใดขณะที่ผู้ประกอบการมีหนี้สินแยะ หนี้เสียเพิ่ม และหนี้ครัวเรือนสูงต่อเนื่อง แต่ระบบธนาคารยังมีกำไรหลายแสนล้านบาท ดังนั้น มองว่าถึงเวลาแล้ว ที่จะลดปัญหาโดยการจัดการอัตราดอกเบี้ยให้เกิดความเป็นธรรมสูงสุด เพราะวันนี้ผู้ประกอบการและคนไทย เจออัตราดอกเบี้ยเงินฝากกับเงินกู้ห่างกัน 7-8% ขณะที่ต่างประเทศช่องว่างเงินกู้กับเงินฝากห่างกัน 3-5% อย่างตอนนี้ดอกเบี้ยเงินฝากตอนนี้ไม่ถึง 2.50 บาท แต่ดอกเบี้ยเงินกู้เอสเอ็มอีที่เจอกันก็ไม่ต่ำกว่า 10-15% บางรายถึง 20-23% ก็มี
“ เรื่องนี้ในการประชุมคณะกรรมการสมาพันธ์ครั้งหน้า จะหารือกันถึงเรื่องนี้ เพื่้อรวบรวมปัฐหาและข้อเสนอส่งถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อสั่งการทบทวนวิธีการคิดดอกเบี้ยของธนาคาร และกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม โดยเสนอให้ลดช่องว่างดอกเบี้ยเงินกู้กับเงินฝาก เพื่อลดภาระประชาชนและรายย่อยอย่างแท้จริง พร้อมกับต้้งหน่วยงานตรวจสอบการออกมาตรการของธปท. เราไม่อยากจะคิดว่าการออกมาตรการต่างๆคำว่าเอื้อไปตกที่นายทุนมากกว่าประชาชนทั่วไป เพราะดูจากกำไรธนาคารอู่ฟู่ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร แต่ผู้ประกอบการกับปิดกิจการเพิ่มขึ้นหรือเป็นหนี้สะสมมากขึ้นๆ ” นายแสงชัย กล่าว
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 7 มกราคม 2567