สมาคมเอสเอ็มอี หวังรัฐเดินเครื่อง หนุนสุราพื้นบ้านไทย ดันรายย่อยเปิดค้าบนสนามบิน
นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวถึงมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)ส่งท้ายปี2566 เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ว่า สมาพันธ์เห็นด้วยกับมติครม.ในหลายด้าน แต่อยากให้จากนี้รัฐบาลเร่งปรับกระบวนการให้บรรลุตามมติครม.ได้ด้วย อย่างมาตรการลดภาษีสุราพื้นบ้าน 0% เป็นสิ่งที่จะช่วยส่งเสริมขีดความสามารถแข่งขันของกลุ่มวิสาหกิจชุม เอสเอสเอ็ม ได้อย่างดี แต่มี 4 ประเด็นข้อคิดเห็นที่ควรจะจัดการ คือ
1)ยกระดับองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นสุราพื้นบ้าน ให้มีคุณภาพ มาตรฐานการผลิต เทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์
2)การสนับสนุนแหล่งทุนต้นทุนต่ำ เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต เครื่องจักรที่ทันสมัย ยกระดับคุณภาพมาตรฐานสากล และขยายตลาด 3.การสร้างแบรนด์สุราพื้นบ้านไทย สร้างมูลค่าเพิ่มจากวัตถุดิบของประเทศไทย สร้างความไว้วางใจในสุราพื้นบ้านไทย และส่งเสริมการตลาดโดยขยายกลไกการเข้าถึงตลาดต่างประเทศและนักท่องเที่ยวต่างประเทศในการจัดงานเทศกาลสุราพื้นบ้านไทย และ4. เร่งกฎระเบียบ กฎหมายที่เป็นอุปสรรค พ.ร.บ.สุรา ใบอนุญาตต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในแต่ละหน่วยงาน เป็นต้น
“การลดภาษีส่งผลดีต่อสุราพื้นบ้านนำเข้าจากต่างประเทศด้วย อาทิ ไวน์ และหลายยี่ห้อหลายประเทศยังเป็นสุราพื้นบ้านที่คนไทยนิยมหรือนักท่องเที่ยวมาพักผ่อนในไทยนิยมซื้อดื่ม ขณะที่สุราพื้นบ้านของไทยยังต้องใช้เวลาในการพัฒนาและสร้างชื่อให้เทียบเท่ากับนานาชาติ รัฐบาลก็ควรต้องสนับสนุนการพัฒนาของไทยควบคู่ไปด้วย ไม่อย่างนั้น อานิสงส์ตกไปกับสุราพื้นบ้านที่นำเข้ามากกว่าจของไทยเอง ” นายแสงชัย กล่าว
นายแสงชัย กล่าวอีกว่า ส่วนมาตรการปรับปรุงพื้นที่สนามบินจำหน่ายสินค้าไทยภายในประเทศมากขึ้นเป็นสิ่งที่ เอสเอ็มอี ก็สนับสนุนเห็นด้วยและมองว่าเป็นประโยชน์ช่วยให้สินค้าไทย วิสาหกิจชุมชน เอสเอ็มอี ที่มีคุณภาพมาตรฐานได้มีโอกาสในการขายเพิ่มมากขึ้น แต่มีคิดเห็น 5 ประเด็น ดังนี้
1)ระบบการคัดสินค้าเพื่อจำหน่าย หรือ ฝากขาย ที่กระจายโอกาสให้วิสาหกิจชุมชน SME เกษตรกรที่มีคุณภาพมาตรฐาน บรรจุภัณฑ์ ยกระดับไปพร้อมกัน
2)ค่าใช้จ่าย ต้นทุน การวางบนชั้นสินค้าของสนามบิน ค่าแรกเข้า Credit term ที่เป็นประโยชน์ร่วมกันอย่างเป็นธรรม
3)มาตรการช่วยเหลือส่งเสริมของภาครฐให้ผู้ประกอบการในการปรับปรุง ยกระดับสินค้าสู่ สินค้าคาร์บอนต่ำ มีการใช้ความสร้างสรรค์ นวัตกรรม เทคโนโลยีขับเคลื่อนธุรกิจ เพื่อขยายโอกาสให้วิสาหกิจชุมชน เอสเอ็มอี เกษตรกร
4)ส่งเสริมสินค้าที่มีเครื่องหมายสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ Geographical Indication (GI) ที่มีอัตลักษณ์ของแหล่งผลิตพื้นถิ่นที่เฉพาะเจาะจง เพื่อสร้างแบรนด์สินค้าที่ผลิตจากท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง และมาตรฐานอื่นๆ ที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้สินค้าไทย ที่สำคัญต้องส่งเสริมให้เข้าถึงง่าย มีค่าใช้จ่ายต่ำ มีกลไกให้การสนับสนุนต่อเนื่องให้กับผู้ประกอบการ และ
5)ส่งเสริมช่องทางตลาด Omni-channels ทั้ง On-site และ Online รวมทั้งมาตรการสนับสนุนการจัดการส่งเสริมการขาย การสร้าง creative content ในการนำเสนอเพื่อสร้างการรับรู้ ประสบการณ์ให้กับผู้ซื้อ นักท่องเที่ยวต่างชาติ และสร้างกลไกให้สามารถเชื่อมโยงจับคู่ธุรกิจขยายตลาดไปต่างประเทศได้ด้วย
“สมาพันธ์กำลังรวบรวมรายชื่อผู้ประกอบการและสินค้าของเอสเอ็มอีที่ศักยภาพและมีความประสงค์จะขยายช่องทางการขายผ่านสนามบินส่วนใหญ่และส่วนภูมิภาค เพื่อได้เข้าถึงนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติที่ใช้สนามบิน จากนั้นก็นำไปหารือกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันให้เกิดรูปธรรมต่อไป ก็หวังว่าทุกสนามบินจะมีพื้นที่และเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้ประกอบการคนไทยได้นำสินค้าไปจำหน่ายได้จริงตามสนามบินทั่วประเทศ ” นายแสงชัย กล่าว
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 7 มกราคม 2567