สหรัฐ มั่นใจอินเดียอนาคตฮับแห่งใหม่ซัพพลายเชนโลก มอง "จีน" ยังเสี่ยงเกินไป
ผลสำรวจสะท้อนว่า ผู้บริหารของสหรัฐ กว่า 61% มองว่า "อินเดีย" อนาคตฮับแห่งใหม่ซัพพลายเชนโลก ขณะที่มองว่าจีนยังมีความ "เสี่ยง" สําหรับการเป็นห่วงโซ่อุปทาน และต้องการให้อินเดียเป็นแหล่งซัพพลายเชนที่สำคัญภายใน 5 ปีข้างหน้า
Keypoint:
* การสํารวจแสดงให้เห็นว่าจีนยังมีความ 'เสี่ยง' สําหรับการเป็นห่วงโซ่อุปทาน
* 'อินเดีย' เป็นจุดหมายปลายทางที่ได้รับความนิยม สําหรับบริษัทในสหรัฐ
* ผู้บริหารของสหรัฐ กว่า 61% เลือกอินเดียมากกว่าจีน แม้ว่าจะสามารถผลิตวัสดุเดียวกันได้
สำนักข่าวซีเอ็นบีซี รายงานถึงเหล่าบริษัทในสหรัฐ มองว่าประเทศ “จีน” กลายเป็น ซัพพลายเชนโลก ที่มีความเสี่ยงมากขึ้น ทำให้ “อินเดีย” ได้รับประโยชน์เนื่องจากบริษัทต่างๆ ในการเป็นจุดหมายปลายทางที่ได้รับความนิยมสําหรับบริษัทในสหรัฐ
โดย OnePoll บริษัทวิจัยตลาด สำรวจผู้บริหาร 500 คนในสหรัฐ พบว่ามากถึง 61% ที่พร้อมใจกันเลือกอินเดียมากกว่าจีน แม้ว่าทั้งสองประเทศสามารถผลิตวัสดุเดียวกันได้ ในขณะที่ 56% ต้องการให้อินเดียเป็นแหล่งซัพพลายเชนที่สำคัญภายในห้าปีข้างหน้ามากกว่าจีน
การสํารวจจากผู้ตอบแบบสอบถามมองว่า การจัดหาวัสดุจากประเทศจีน “ค่อนข้างเสี่ยง” หรือ “เสี่ยงมาก” ถึง 59% และ 39% ในจีน
ซามีร์ คาปาเดีย (Samir Kapadia) กรรมการผู้จัดการของ Vongel Group กล่าวว่า บริษัทต่างๆ มองว่าอินเดียเป็นกลยุทธ์การลงทุนระยะยาวเมื่อเทียบกับการลงทุนระยะสั้นเพื่อต้องการหลีกเลี่ยงภาษี
ความสัมพันธ์ที่แสนอบอุ่นระหว่างสหรัฐ และอินเดีย มีความแน่นแฟ้นมากขึ้น หลังจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน และน เรนทระ โมที นายกรัฐมนตรีอินเดีย ผ่านนโยบาย “friendshoring” ซึ่งเป็นนโยบายที่มุ่งกระจายจากประเทศที่มีความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ และความมั่นคงสู่ซัพพลายเชนทั่วโลก
ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศเข้าสู่บทบาทใหม่ ด้วยการลงนามในข้อตกลงจํานวนมากเกี่ยวกับความร่วมมือขนาดใหญ่ในด้านการป้องกันประเทศ เทคโนโลยี และการกระจายความเสี่ยงในห่วงโซ่อุปทาน
ขณะที่เราเห็นประกาศมากมายเกี่ยวกับการลงทุนในประเทศอินเดีย อย่างเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา มารูติ ซูซูกิ (Maruti Suzuki) จะทุ่มเม็ดเงิน 3.5 แสนล้านรูปี (4.21 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์แห่งที่ 2 ในรัฐคุชราตของประเทศอินเดีย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการผลิตในตลาดสำคัญแห่งหนึ่งของบริษัท
อินเดียก็มีความเสี่ยง :
แม้เหล่าบริษัทเงินทุนต่างๆ มองเห็น แนวโน้มการลงทุนตลาดอินเดีย แต่ยังคงระมัดระวังในความสามารถด้านห่วงโซ่อุปทานของอินเดีย โดยการสำรวจพบว่า 55% ของผู้ตอบแบบสอบถามพบว่า ‘การประกันคุณภาพ’ เป็น ‘ความเสี่ยงระดับปานกลาง’ ที่จะต้องเจอหากตั้งโรงงานในอินเดีย
เพราะว่าในเดือนกันยายนปี 2566 Pegatron ซัพพลายเออร์ของ Apple ต้องหยุดการดำเนินการชั่วคราวที่โรงงานในอำเภอ Chengalpattu รัฐทมิฬนาฑู ประเทศอินเดีย หลังจากเกิดเพลิงไหม้
ขณะที่บริษัทในสหรัฐ ยังกังวลความเสี่ยงด้านการจัดส่ง (48%) และ การโจรกรรมทรัพย์สินทางปัญญา (48%) ในอินเดีย
อมิเทนดู ปาลิต( Amitendu Palit) นักวิจัยอาวุโสและหัวหน้าฝ่ายวิจัยด้านการค้าและเศรษฐศาสตร์ของสถาบันเอเชียใต้ศึกษาเตือนว่า ไม่ใช่ทุกบริษัทที่สามารถย้ายฐานการผลิตไปยังอินเดีย แล้วจะสามารถตั้งตัวได้เร็วเหมือนกับ Apple
“สิ่งที่ Apple ทําไปแล้ว บริษัทจะไม่สามารถทําได้ในทันทีและรวดเร็ว เพราะ Apple มีความสามารถในการสร้างระบบนิเวศที่เร็วกว่าบริษัทอื่นๆ มาก ดังนั้นต้องคํานึงถึงเวลาด้วย”
จีนยังคงแข็งแกร่ง ในฐานะโรงงานโลก
ทั้งนี้ ปาลิต และ คาปาเดีย เห็นพ้องต้องกันว่า ไม่มีทางที่จะมีการย้ายห่วงโซ่อุปทานออกจากจีน
“ความจริงก็คือ จีนจะยังคงเป็นรากฐานที่สําคัญในห่วงโซ่อุปทานสหรัฐ เสมอ และจีนจะไม่ถูกนําออกจากสมการ” คาปาเดีย กล่าว
ขณะเดียวกัน การลงทุนในประเทศจีนยังคงแข็งแกร่งและยังคงเป็น "ทางเลือกที่สอง" สําหรับการลงทุนรองจากสหรัฐ เรย์มอนด์ ชาว (Raymund Chao) ประธาน PwC ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
‘เวียดนาม’อนาคตทางออกที่น่าสนใจ :
อีกหนึ่งประเทศที่มีความน่าสนใจไม่แพ้อินเดีย คือ เวียดนาม ภายใต้กลยุทธ์ใหม่ที่เรียกว่า “จีนบวกหนึ่ง” คือ กระจายการผลิตไปยังหลายๆ ศูนย์กลาง ลดการพึ่งพาฐานการผลิตแห่งเดียว
สะท้อนจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในเวียดนามเพิ่มขึ้นมากกว่า 14% ในปี 2566 เมื่อเทียบกับปี 2567
อย่างไรก็ตาม คาปาเดีย ชี้ให้เห็นว่า เวียดนามยังไม่สามารถเอาชนะอินเดียได้ เพราะอินเดียเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก ซึ่งสามารถเข้าถึง “ฐานลูกค้าขนาดใหญ่” ที่เวียดนามเทียบไม่ติด ที่บริษัทต่างๆนำมาเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจ
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 25 มกราคม 2567