BRICS รับสมาชิกใหม่ หยุดอิทธิพล สหรัฐ - ชาติตะวันตก ทางภูมิรัฐศาสตร์ได้จริง?
รู้ทัน "กลุ่มบริกส์" รับสมาชิกใหม่ 5 ชาติ เดินเกมรุกต้านระเบียบโลกที่เซ็ตขึ้นโดยชาติตะวันตก ท่ามกลางผลประโยชน์บางประเทศ ต้องสูญเสียในสมรภูมิภูมิรัฐศาสตร์
Key Points :
* หลังบริกส์รับสมาชิกใหม่ 5 ประเทศ หากคาดการณ์ถูกต้อง จะได้เห็นขนาดและความสำคัญทางเศรษฐกิจ G7 ค่อยๆ ลดลงในช่วงหลายทศวรรษข้างหน้า ขณะที่เศรษฐกิจกลุ่มบริกส์จะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ
* สิ่งสำคัญพอๆกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ นั่นคือ บริกส์เป็นการรวมตัวที่เป็นมากกว่าเวทีทางเศรษฐกิจ โดยพวกเขามุ่งมั่นสร้าง “ระเบียบระหว่างประเทศ” ให้มียุติธรรมมากขึ้น รวมทั้ง “ฟื้นฟูและปฏิรูประบบพหุภาคี” ขึ้นใหม่
* การรับสมาชิกใหม่ หวังสร้างน้ำหนักทางการเมือง ด้วยความเชื่อที่ว่า ความก้าวหน้าและการพัฒนาของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ถูกชาติตะวันตกสกัดดาวรุ่งไว้ โดยการอ้างระเบียบโลก เศรษฐกิจ และการเมืองที่มีชาติตะวันตกเป็นศูนย์กลาง
* การขยายอำนาจทางเศรษฐกิจ และการเข้าถึงเชิงกลยุทธ์ทางภูมิศาสตร์ของบริกส์ กำลังเผชิญความท้าทายทางภูมิรัฐศาสตร์หลายประการ ในท้ายที่สุดบริกส์จะปรับสมดุลอำนาจโลกให้เป็นไปตามที่พวกเขาพอใจได้มากน้อยเพียงใด
กลุ่มบริกส์ หรือประเทศกำลังพัฒนาและเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว (BRICS) เดินหน้าตามแผนรับสมาชิกใหม่เพิ่ม ในเดือน ม.ค. 2567 ตามที่ระบุไว้ในแถลงการณ์ประชุมผู้นำบริกส์ ที่นครโจฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ ปีที่แล้ว
เหตุการณ์สำคัญนี้ จะต้องจารึกไว้ใน “ประวัติศาสตร์บริกส์" ถึงการรับสมาชิกใหม่ 5 ประเทศได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิหร่าน อียิปต์ และเอธิโอเปีย (อาร์เจนตินาได้รับเชิญเข้าร่วมบริกส์ แต่ฆาบิเอร์ มิลเลอิ ประธานาธิบดีใหม่ปฏิเสธข้อเสนอ ตามที่รัฐบาลอาร์เจนตินาชุดก่อนหน้าดำเนินการตกลงไว้)
ขณะนี้บริกส์ได้รับการยืนยันว่า ประเทศสมาชิกใหม่ จะส่งเจ้าหน้าที่ร่วมประชุมเตรียมการประชุมบริกส์ครั้งต่อไป ที่จะจัดขึ้น ณ กรุงมอสโก ในวันที่ 30 ม.ค. 2567 นี่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของพันธมิตรกลุ่มบริกส์
เมื่อเดือน ส.ค.ปีที่แล้ว สมาชิกบริกส์ปัจจุบัน ได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ ได้เชิญ 6 ประเทศเข้าร่วม ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวมีจุดมุ่งหมาย เพื่อเชื่อมโยงผู้ผลิตพลังงานรายใหญ่ของโลก กับผู้บริโภครายใหญ่ของประเทศกำลังพัฒนา เข้าด้วยกัน
ปัจจุบัน บริกส์ในฐานะกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่มีการเติบโตสูง คิดเป็น 26% ของ GDP โลก และมีประชากรรวมกัน 40.8% ของประชากรโลก
ผู้นำบริกส์ ส่งสัญญาณ G7 :
มุมมองทางการทูต เกี่ยวกับการประชุมผู้นำบริกส์ เป็นเวทีให้สมาชิกพบปะหารือในประเด็นที่เชื่อว่า มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ ขณะเดียวกันก็แสดงในเชิง “สัญลักษณ์” และ “สัญญาณ” ไปยังชาติตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้นำ G7 ว่า พวกเขาไม่อาจควบคุมระเบียบโลก และความเป็นไปทางเศรษฐกิจ เพียงผู้เดียวอีกต่อไป
สิ่งสำคัญพอๆกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจของบริกส์ นั่นคือ บริกส์เป็นการรวมตัวที่เป็นมากกว่า "เวทีทางเศรษฐกิจ" โดยพวกเขามุ่งมั่นสร้าง “ระเบียบระหว่างประเทศ” ที่มียุติธรรมมากขึ้น รวมทั้ง “ฟื้นฟูและปฏิรูประบบพหุภาคี” ขึ้นใหม่
แม้แนวทางการสร้างความยุติธรรม และจะปฏิรูปในด้านใดบ้างยังไม่ชัดเจน แต่ภาพรวมจะเห็นว่า บริกส์มุ่งหวังทำหน้าที่ถ่วงดุลอำนาจ และหยุดยั้งการครอบงำทางเศรษฐกิจและการเมืองจากชาติตะวันตก บนสนามการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์
เทียบไซต์ ศก. บริกส์ กับ G7 :
มุมมองทางเศรษฐกิจ หลังบริกส์รับสมาชิกใหม่ในปีนี้ จะเพิ่มมูลค่า GDP สูงขึ้น 2.6 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่มูลค่าทางเศรษฐกิจของกลุ่มบริกส์ รวมกันอยู่ที่ 28.5 ล้านล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นสัดส่วน 28.1% ของผลผลิตทั่วโลก เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศ G7 ยังคงถือครองผลผลิตทั่วโลก คิดเป็น 43.2% ของโลก
หากคาดการณ์ถูกต้อง จะได้เห็นขนาดและความสำคัญทางเศรษฐกิจ G7 ค่อยๆ ลดลงในช่วงหลายทศวรรษข้างหน้า ขณะที่เศรษฐกิจกลุ่มบริกส์จะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจของสมาชิกใหม่ เช่น อียิปต์และเอธิโอเปีย คาดภายในปี 2593 จะมี GDP เติบโตถึง 635% และ 1,170% ตามลำดับ
โกลแมนแซคคาดการณ์ GDP ของประเทศเศรษฐกิจชั้นนำในปี 2593 และ 2618 โดยมีหน่วยเป็นล้านล้านดอลลาร์ ดังนี้
บริกส์ ต้านระเบียบโลกของชาติตะวันตก :
บริกส์ไม่ได้จำกัดความมุ่งมั่นในการรวมกลุ่มไว้เพียงวาระทางเศรษฐกิจ แต่ใช้ประโยชน์จากความเป็นกลุ่มที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เพื่อเพิ่มน้ำหนักทางการเมือง ด้วยความเชื่อที่ว่า ความก้าวหน้าและการพัฒนาของประเทศเกิดใหม่ ถูกชาติตะวันตกสกัดดาวรุ่งไว้ ด้วยการอ้างระเบียบโลก เศรษฐกิจ และการเมืองที่มีชาติตะวันตกเป็นศูนย์กลาง
"บริกส์อ้างเหตุผลการเพิ่มความมีส่วนร่วม หวังปรับสมดุล และต่อต้านระเบียบโลกที่ชาติตะวันตกกำหนดกฎเกณฑ์ไว้ ควบคู่ไปกับบริกส์พยายามสถาปนากลุ่มความร่วมมือตนเองให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น"
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลดพึ่งพาธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ตลอดจนสถาบันการเงินต่างๆ ของยุโรปและอเมริกาในอดีต ซึ่งมักถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องขาดความโปร่งใส
ดังนั้นบริกส์จึงได้ก่อตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ขึ้นในปี 2558 เพื่อระดมทรัพยากรสำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และโครงการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้นที่ 1 แสนล้านดอลลาร์ โดยภายในปี 2565 ธนาคารได้มอบเงินจำนวน 3.28 หมื่นล้านดอลลาร์ให้กับ 96 โครงการที่ได้รับอนุมัติ เพื่อสร้างถนน 15,700 กม. สะพาน 850 แห่ง และเครือข่ายเส้นทางรถไฟ 260 กม.
สกุลเงินบริกส์ บนบัลลังก์เมฆ :
แม้ว่า สมาชิกบริกส์บางประเทศกระตือรือร้นจะปฏิรูประบบการเงินระหว่างประเทศ และท้าทายความครอบงำจากเงินดอลลาร์ แต่ก็อีก ยังไม่ชัดเจนว่าจะบรรลุความสำเร็จได้อย่างไร ท่ามกลางความพยายามสร้างสกุลเงินบริกส์
แม้ในทางทฤษฎีจะช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์ แต่การเปลี่ยนมาใช้สกุลเงินบริกส์ทั้งระบบ จะต้องใช้เวลาหลายปี เนื่องจากระบบเศรษฐกิจ
มหภาค “ขาดการบรรจบ” เข้าด้วยกัน สิ่งนี้ถือว่ามีความสำคัญต่อสกุลเงินทั่วไปที่ประสบความสำเร็จ
“ดอลลาร์ยังคงเป็นสกุลเงินเดียวที่มีการซื้อขายกันมากที่สุด คิดเป็น 90% ของธุรกรรมการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศทั้งหมด” ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) ระบุ ซึ่งทำให้เห็นว่า เส้นทางการแทนที่สกุลเงินดอลลาร์ต้องใช้เวลา และการโค้นดอลลาร์ลงจากบัลลังก์ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
วัดอำนาจ ภายในกลุ่มบริกส์
การขยายอำนาจทางเศรษฐกิจ และการเข้าถึงเชิงกลยุทธ์ทางภูมิศาสตร์ของบริกส์ กำลังเผชิญกับความท้าทายทางภูมิรัฐศาสตร์หลายประการ ในท้ายที่สุด สมาชิกบริกส์จะปรับสมดุลอำนาจโลกให้เป็นไปตามที่พวกเขาพอใจได้มากน้อยเพียงใด
ประการแรก ถ้ามองภาพรวมการพึ่งพาทางเศรษฐกิจ อาจไม่ต้องสงสัยเลยว่า อำนาจบริกส์อยู่ที่ประเทศใด ตามรายงานพบว่า เศรษฐกิจจีนที่มีมูลค่า 17.9 ล้านล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 62.9% ของกลุ่มบริกส์ แต่การพึ่งพาทางเศรษฐกิจประเทศใดประเทศหนึ่งในกลุ่มมากไป อาจสร้างปัญหา และทำให้จีนมีอำนาจเหนือกว่าสมาชิกอื่นๆในกลุ่ม ขณะเดียวกัน การที่เศรษฐกิจอินเดียเติบโตอย่างมีพลวัต ก็กลายเป็นคำถามภายในกลุ่มบริกส์ด้วย
ยกตัวอย่าง อินเดียมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของบริกส์ แต่เศรษฐกิจจีนมีขนาดใหญ่กว่า 5 เท่าในแง่ของ GDP ดังนั้นอาจเกิดความสงสัยเกี่ยวกับ “ความเท่าเทียมกัน” ของแต่ละประเทศสมาชิกและ “การเคารพซึ่งกันและกัน” ภายในกลุ่มบริกส์
แต่ท้ายที่สุดแล้ว ปัจจัยทางการเงิน จะทำให้จีนมีขอบเขตอำนาจมากขึ้น ในการแสดงความเป็นผู้นำต่อมุมมองของโลก และตีความระบบธรรมาภิบาลระดับโลก ที่จะต้องได้รับการปรับเปลี่ยนใหม่
บริกส์ เผชิญสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์
ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ประกอบกับความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น ระหว่างจีนและสหรัฐ เป็นผลจากบริษัทชั้นนำได้ลดการลงทุนในจีน ดังที่เห็นในรายงานของ FDI ระบุว่า การลงทุนลดลงอย่างมากจาก 1.89 แสนล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบเป็นรายปี เหลืออยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2566
ยิ่งไปกว่านั้น หนี้สินจากการลงทุนโดยตรงแสดงให้เห็นว่า นักลงทุนต่างชาติกำลังนำเงินกำไรส่งกลับประเทศอย่างรวดเร็ว และย้านฐานออกจากตลาดจีน ซึ่งยังเป็นแนวโน้มให้เห็นในระยะยาวหรือไม่นั้นต้องติดตามต่อไป
สรุปแล้ว ในระยะสองสามปีนี้จะได้เห็นกลุ่มบริกส์ขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างเข้มแข็ง แต่การดำเนินกลยุทธ์ในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ยังคงอ่อนแอ ท่ามกลางความพยายามของบริกส์ที่ต้องการปรับสมดุลระเบียบโลกใหม่
หากแต่ความแตกต่างทางระบบการเมือง วัฒนธรรม การปกครองที่หลากหลาย ทั้งระบอบประชาธิปไตย คอมมิวนิสต์ และระบบกษัตริย์ เผยให้เห็นถึงความยากลำบากเพื่อให้บรรลุจุดร่วมกัน ในการสร้างธรรมาภิบาลใหม่ระดับโลก
ทางตรงกันข้าม การครอบงำโดยชาติตะวันตกก็ถูกต่อต้านจากกลุ่มบริกส์มากขึ้น แม้ไม่อาจปรับเปลี่ยนได้ทันที แต่การดำเนินการของบริกส์อย่างมียุทธศาสตร์จะค่อยๆ เป็นที่ยอมรับ โดยเฉพาะในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ที่ชาติตะวันตกไม่อาจครอบงำกลุ่มบริกส์ได้
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 28 มกราคม 2567