ไทย - กัมพูชา เซ็น "MOU" 3 ฉบับวันนี้ ยกระดับความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ 2 ประเทศ
ไทยเตรียมเอ็มโอยูกัมพูชา 3 ฉบับ โอกาส ฮุน มาเนต นายกฯกัมพูชา เยือนไทย ฉบับ ครอบคลุมเรื่องสินค้าผ่านแดน ความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม และการพัฒนาการแจ้งเตือนภัยพิบัติร่วมกัน
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่าวันนี้ (7 ก.พ.) สมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาแนต นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา และภริยาจะเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล (Official Visit)
โดยในช่วงเช้าของวันนี้ ณ ทำเนียบรัฐบาล จะมีพิธีการต้อนรับนายกรัฐมนตรีและภริยาโดยเวลา 10.20 น. พิธีตรวจแถวกองทหารเกียรติยศ ณ บริเวณสนามหญ้า หน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายกรัฐมนตรีและภริยา และนายกรัฐมนตรีกัมพูชาและภริยา ถ่ายภาพร่วมกัน ณ บันไดโถงกลาง ตึกไทยคู่ฟ้า
คณะรัฐมนตรี แนะนำตนเองต่อนายกรัฐมนตรีและภริยา ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้าลงนามในสมุดเยี่ยมและชมของที่ระลึก ณ ห้องสีงาช้าง (ด้านนอก) ตึกไทยคู่ฟ้า
เวลา 10.50 น. นายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีกัมพูชา หารือเต็มคณะ ณ ตึกภักดีบดินทร์
เวลา 11.40 น. นายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีกัมพูชา เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลงและแลกเปลี่ยนบันทึกความเข้าใจ พร้อมทั้งแถลงข่าวร่วม ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) จากนั้น เยี่ยมชมนิทรรศการศิลปหัตถกรรม ณ โถงกลาง ตึกสันติไมตรี
และเวลา 12.15 น. นายกรัฐมนตรี เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรีกัมพูชา และภริยา ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล
โดยในการหารือกันระหว่างนายกรัฐมนตรีของกัมพูชา และนายกรัฐมนตรีของไทยในครั้งนี้จะเป็นสักขีพยายนในการลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) 3 ฉบับครอบคลุมเรื่องการขนส่งข้ามแดน ความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ และเทคโลยี และการพัฒนาระบบแจ้งการเตือนภัยพิบัติระหว่างสองประเทศ
ทั้งนี้ร่างบันทึกความเข้าใจฯ1 มีสาระสำคัญ ดังนี้
1)กำหนดให้คู่ภาคีจะต้องอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดน โดยไม่ให้เกิดความล่าช้าในขั้นตอนของการผ่านแดน โดยสินค้าผ่านแดนนั้นเป็นของที่ไม่ต้องชำระอากรหากได้ปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศที่มีการผ่านแดนอย่างครบถ้วน แต่ประเทศภาคีสามารถเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือภาระที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งหรือค่าบริการอื่น ๆ ได้
2)สินค้าต้องห้ามและสินค้าต้องกำกัดในการผ่านแดนจะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดระหว่างประเทศภาคีทั้งสองฝ่ายหรือข้อห้ามข้อกำกัดเกี่ยวกับสินค้าผ่านแดนของประเทศที่มีการผ่านแดน เช่น ความมั่นคง การปกป้องคุณค่าทางศิลปะและประวัติศาสตร์
3)สินค้าผ่านแดนจะต้องขนส่งผ่านที่ทำการพรมแดนที่กำหนดไว้ในภาคผนวกของร่างบันทึกความเข้าใจฯ และการเปลี่ยนแปลงแก้ไขภาคผนวกดังกล่าวจะต้องได้รับความเห็นชอบร่วมกันระหว่างคู่ภาคี ทั้งนี้ เส้นทางภายในประเทศสำหรับการขนส่งสินค้าผ่านแดนจะถูกกำหนดโดยภาคีแต่ละฝ่าย
4)ข้อพิพาทใดที่เกิดขึ้นจากการตีความร่างบันทึกความเข้าใจฯ จะต้องมีการเจรจาอย่างฉันมิตรระหว่างหน่วยงานผู้มีอำนาจของภาคีตามร่างบันทึกความเข้าใจฯ ทั้งสองฝ่าย
5)การแก้ไขหรือเพิ่มเติมร่างบันทึกความเข้าใจฯ จะต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษร และภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับคำร้อง โดยภาคีอีกฝ่ายจะต้องตอบกลับเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงแก้ไขที่เสนอมาทั้งหมดจะต้องได้รับความเห็นชอบร่วมกันจากคู่ภาคีทั้งสองฝ่าย
6)ร่างบันทึกความเข้าใจฯ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ลงนามและให้มีผลบังคับใช้โดยไม่มีระยะเวลาสิ้นสุด ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจร้องขอยกเลิกร่างบันทึกความเข้าใจฯ ในเวลาใดก็ได้ โดยการส่งหนังสือบอกกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรระบุวันที่เสนอจะยกเลิกไปยังภาคีอีกฝ่าย โดยให้แจ้งล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 90 วัน ก่อนวันที่ยกเลิกร่างบันทึกความเข้าใจฯ
จ่อลงนาม MOU ด้านวิชาการ :
ส่วนฉบับที่ 2 คือการเซ็น MOU ระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ว่าด้วยความร่วมมือด้านวิชาการ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ ดังนี้
1)เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจระหว่าง อว. แห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ว่าด้วยความร่วมมือด้านวิชาการ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ร่างบันทึกความเข้าใจฯ) ทั้งนี้ ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องปรับปรุงถ้อยคำที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ขอให้ อว. ดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก
2)อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเป็นผู้ลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯ
เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาความร่วมมือในสาขาวิชาการ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีระหว่างสองประเทศ ให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้นบนพื้นฐานของความเสมอภาค ผลประโยชน์ร่วมกันและความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างไทย-กัมพูชา โดยเป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับที่มีอยู่ของแต่ละประเทศ
สาขาความร่วมมือ ประกอบด้วย 12 สาขาได้แก่
1. วิทยาศาสตร์ชีวภาพ และเทคโนโลยีชีวภาพ
2. หุ่นยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเทคโนโลยีดิจิทัลและเศรษฐกิจดิจิทัล
3. ความมั่นคงทางอาหาร น้ำ และพลังงาน
4. ภูมิสารสนเทศและเทคโนโลยีอวกาศ
5. ชีววิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์การแพทย์
6. วัสดุศาสตร์และนาโนเทคโนโลยี
7. นโยบายด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสาธารณชนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลย
8. การส่งเสริมผู้ประกอบการใหม่ การบ่มเพาะผู้ประกอบการ และอุทยานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม
9. มาตรวิทยา
10. การจัดการโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทาน
11. การแปรรูปอาหารและบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม
12. สาขาอื่น ๆ ที่ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่าจะดำเนินความร่วมมือ
จับมือลดความเสี่ยงภัยพิบัติ
ส่วน MOU ฉบับที่ 3 ที่ไทยจะลงนามกับกัมพูชา ได้แก่บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติและการตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉิน ระหว่างไทยกับกัมพูชา โดยได้ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. เห็นชอบ (ร่าง) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติและการตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉิน ระหว่างไทยกับกัมพูชา ทั้งนี้ ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องปรับปรุงถ้อยคำที่มิใช่สาระสำคัญและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหรือให้ความเห็นชอบไว้ให้กระทรวงมหาดไทยโดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยดำเนินการได้
โดยให้เสนอ ครม.ทราบภายหลัง พร้อมทั้งชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ไทยได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าว โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับดังกล่าว
สาระสำคัญ ของ MOU คือเป็นร่างบันทึกความเข้าใจฯ มีสาระสำคัญของความร่วมมือทางวิชาการ ได้แก่ การแลกเปลี่ยนข้อมูลการแจ้งเตือนภัยพิบัติ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและอุปกรณ์ที่ทันสมัย
การปรับปรุงกลไกในการแบ่งปันข้อมูล การจัดตั้งกลไกการสื่อสารและประสานงาน การจัดตั้งระบบสนับสนุนเครื่องมือและอุปกรณ์ในการจัดการเหตุฉุกเฉินแห่งชาติ ระบบพิเศษที่ตั้งขึ้นล่วงหน้าและแผนฉุกเฉิน การฝึกซ้อมแผนรับมือเหตุฉุกเฉินจากภัยพิบัติ และการเยือนระหว่างทั้งสองประเทศ
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567