เอกชนหวั่นเศรษฐกิจไทยโตช้า คงดอกเบี้ย สวนทาง ความต้องการนักลงทุน
เอกชนเคารพมติ กนง.คงดอกเบี้ย 2.5% แต่ยังหวั่นใจเศรษฐกิจไทยโตช้า สวนทางกับความต้องการของนักลงทุน วอนรัฐกระตุ้นด่วน
วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวภายหลังงานสัมมนา “Cambodia-Thailand Business Forum 2024” วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 ถึงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่มีมติ 5:2 ให้คงอัตราดอกเบี้ยว่า
ผู้ประกอบการต้องการให้ กนง. รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลดดอกเบี้ย เพื่อลดภาระต้นทุน ขณะเดียวกัน ก็เข้าใจว่าทาง ธปท.เองก็คอยเฝ้าระวังและติดตามมติของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
ซึ่งล่าสุดก็ยังไม่มีมติลดดอกเบี้ย ซึ่งคงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การลงคะแนนเสียงของคณะกรรมการ กนง.ไม่ได้เป็นเอกฉันท์
แต่ก็เห็นสัญญาณว่ามีคณะกรรมการบางคนเลือกให้ลดดอกเบี้ย ดังนั้น เชื่อว่าพอถึงเวลา กนง.ก็คงมีการปรับลดดอกเบี้ยแน่นอน
“จากสถานการณ์ในตอนนี้ก็เข้าใจและเคารพมติของ กนง.ที่ออกมา ขณะเดียวกัน ถ้ามีโอกาสที่ทำได้ ก็อยาก กนง.ช่วยลดต้นทุน หรือทำมาตรการที่เป็นประโยชน์ เนื่องจากว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยตอนนี้กำลังฟื้นตัว แต่เป็นการฟื้นตัวมาเชื่องช้ามาก ยังต้องการแรงกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐเป็นอย่างมากและโดยเร็วด้วย” นายสนั่นกล่าว
ด้านนายทวี ปิยะพัฒนา รองประธานอาวุโส สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้พิจารณาอัตราดอกเบี้ยของไทย โดยคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ต่อปี มองว่าอาจสวนทางกับความต้องการของนักลงทุนและภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัว เนื่องจากขาดแรงการหนุน การลงทุน ซึ่งท่าทีของเอกชนส่วนใหญ่เห็นว่ารัฐบาลควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง
ซึ่งในที่ประชุม กกร.มีความเห็นที่หลากหลาย การกำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่นั้น ส่งผลทั้งแง่บวกและแง่ลบ คิดว่าทาง ธปท.เองน่าจะมีข้อมูลเชิงลึก และมีข้อเสนอแนะที่ดีต่อภาพรวมการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ต้องอาศัยและมองเรื่องของอัตราเงินเฟ้อ ค่าเงินในทุก ๆ ด้าน ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่สามารถเลี่ยงได้ โดยฝั่งเอกชนจะพยายามรวบรวมข้อมูลและหาแนวทางออกเพื่อลดความเสี่ยงให้ได้มากที่สุด
“แม้จะเป็นคำตอบที่เอกชนไม่เห็นด้วย เพราะแท้จริงคือต้องการให้ลดดอกเบี้ย ให้ช่องความต่างระหว่างดอกเบี้ยเงินกู้กับเงินฝากมันแคบลง เพื่อให้พวกเราไม่เหนื่อยกันมาก จากนี้ก็ต้องดูผลกันต่อไปจะลบหรือจะบวกมากกว่ากัน”
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567